เด็กพัฒนาการทางภาษาล่าช้า ปัญหาที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก
ในปัจจุบัน พบปัญหาเด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า (เด็กพูดช้า) เป็นจำนวนมากกล่าวคือ 10-15% ในเด็กอายุ 2 ปี 5% ในเด็กวัยเริ่มเข้าเรียนและ 6-8% ในเด็กวัยเรียนซึ่งหากมีภาวะพัฒนาการทางภาษาล่าช้าต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาการเรียน (โดยเฉพาะการอ่าน) ปัญหาอารมณ์ และพฤติกรรมที่ตามมาในอนาคตได้ ดังนั้นเด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าจึงควรได้รับการตรวจวินิจฉัย และให้การดูแลรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อช่วยแก้ไข และพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็กอย่างเต็มศักยภาพ
สารบัญ
พฤติกรรมที่บ่งชี้ว่าเด็กอาจมีปัญหาพัฒนาการทางภาษาล่าช้า
ควรได้รับการตรวจ ประเมินหาสาเหตุโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
อายุ | พฤติกรรมพัฒนาการทางภาษา |
---|---|
แรกเกิด-4 เดือน | ไม่ตอบสนองต่อเสียงในช่วงที่เด็กกำลังตื่นดี |
5-7 เดือน | ส่งเสียงน้อย หรือไม่ส่งเสียงอ้อแอ้โต้ตอบกับผู้เลี้ยงดู |
9-12 เดือน | ไม่นั้นหาเสียงไม่ทำเสียงเลียนเสียงพยัญชนะอื่นนอกจาก “อ” |
15 เดือน | ไม่พูดคำที่มีความหมายอย่างน้อย 1 คำ |
18 เดือน | ไม่เข้าใจหรือทำตามคำสั่งอย่างง่าย ไม่พูดคำที่มีความหมาย 3 คำ |
2 ปี | ไม่พูดคำที่มีความหมายต่างกัน 2 คำต่อเนื่องกัน พูดคำศัพท์น้อยกว่า 50 คำ |
2 ปีครึ่ง | ไม่พูดเป็นวลียาว 3-4 คำ ยังทำเสียงไม่เป็นภาษา |
3 ปี | ไม่พูดเป็นประโยคที่สมบูรณ์ ผู้อื่นฟังภาษาที่เด็กพูดส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ |
4 ปี | เล่าเรื่องสั้น ๆ ไม่ได้ผู้อื่นยังฟังภาษาที่เด็กพูดไม่เข้าใจเกินร้อยละ 25 |
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดพัฒนาการทางภาษาล่าช้า
ปัจจัยด้านชีวภาพ ได้แก่
- ประวัติมารดาช่วงตั้งครรภ์มีอาการเจ็บป่วย หรือใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อเด็ก เช่น ดื่มสุรา ใช้สารเสพติดเป็นต้น
- ปัญหาขณะเกิด ได้แก่ การขาดออกซิเจน การเกิดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าปกติ การเจ็บป่วยรุนแรงอื่น
- ประวัติครอบครัว ที่มีสมาชิกพัฒนาการผิดปกติ เช่น พูดช้า ปัญญาอ่อน เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อม ได้แก่
- การเจ็บป่วยที่มีผลต่อสมอง เช่น อาการชัก หมดสติ เป็นต้น
- ปัญหาการขาดสารอาหารที่สำคัญ เช่น ไอโอดีน เหล็ก เป็นต้น
- สารปนเปื้อนต่างๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาสมอง เช่น สารเสพติด ตะกั่ว สารหนู เป็นต้น
- การเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ให้ดูทีวี เล่นแท็บเล็ตก่อนวัย 3 ขวบ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กเป็นต้น
แนวทางดูแลเด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า
- ออกเสียงพูดให้ชัดเจนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก
- ผู้เลี้ยงดูควรเริ่มพูดในสิ่งที่เด็กกำลังให้ความสนใจ ร่วมกันฝึกให้เด็กทำตามคำสั่ง หากเด็กยังฟังไม่เข้าใจ ให้จับมือเด็กทำพร้อมกับพูดคำสั่งไปด้วย
- ส่งเสริมให้เด็กได้พูดในสถานการณ์ต่างๆ
- หากเด็กยังพูดไม่เป็นคำ เน้นพูดเป็นคำเดี่ยวๆ เช่น นม แมว ถ้าเด็กพูดตาม แต่ไม่ชัดเจน ให้ผู้เลี้ยงดูพูดคำนั้นซ้ำโดยพยายามพูดให้ชัดเจนเป็นตัวอย่าง
- หากเด็กใช้ท่าทางบอกความต้องการ ผู้เลี้ยงดูต้องกระตุ้นให้เด็กออกเสียงเป็นคำพูดก่อนค่อยตอบสนองเด็ก
- หากเด็กพูดเป็นคำเดี่ยวๆ ได้หลายคำ ให้ฝึกเด็กพูดต่อคำเป็นวลีหรือประโยคสั้นๆ เช่น กินน้ำ หรือ หนูขอกินน้ำ
- เทคนิค
- ใช้คำถามปลายเปิด เช่น เรียกว่าอะไร ทำอะไรอยู่ อยู่ที่ไหน เอาไว้ทำอะไร แล้วจะเกิดอะไรต่อ เป็นต้น
- เป็นผู้ฟังที่ดี มองหน้า ใช้ท่าทางอ่อนโยน ใช้คำถามที่เจาะจง ถ้าเด็กยังตอบคำถามไม่ได้
- ขยายความในคำตอบของเด็ก รวบรวมคำตอบของเด็กให้เป็นประโยคที่สมบูรณ์ ให้แรงเสริมเมื่อเด็กทำได้ดี
- สร้างโอกาสเรียนรู้ทางภาษาผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การอ่านหนังสือนิทาน ดูรูปภาพ เป็นต้น
- ลดระยะเวลาที่เด็กจะได้รับการสื่อสารทางเดียว เช่น การดูโทรทัศน์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน เป็นต้น
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก