“เด็กเตี้ย” ภาวะซ่อนเร้นที่ต้องเฝ้าระวัง

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : นพ. ศุภวุฒิ สุขสันติเลิศ

“เด็กเตี้ย” ภาวะซ่อนเร้นที่ต้องเฝ้าระวัง

วัยเด็ก เป็นช่วงชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ เด็กที่มีการเจริญเติบโตช้าอาจจะบ่งบอกถึงความผิดปกติของโรคบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ และควรได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่นๆ


ปัจจัยที่มีผลกับการเจริญเติบโตของเด็ก

  1. กรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด
  2. โภชนาการที่เหมาะสมไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป
  3. การนอนหลับที่เพียงพออย่างน้อยวันละ 8-10 ชม.
  4. การออกกำลังกายที่สม่ำเสมอสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
  5. ความเจ็บป่วยโรคเรื้อรังที่ซ่อนเร้นอยู่ที่ทำให้เด็กเติบโตช้าได้
  6. ยาบางกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยาสเตียรอยด์ซึ่งถ้าได้รับปริมาณมากจะมีผลต่อการเจริญเติบโต
  7. ฮอร์โมน มีฮอร์โมนหลายอย่างซึ่งหากมีปริมาณน้อยจะมีผลทำให้เด็กไม่เติบโตได้

> กลับสารบัญ


ทราบได้อย่างไรว่าลูกเติบโตช้า

  1. ตัวเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับพี่น้องท้องเดียวกันเมื่ออายุเท่าๆ กัน
  2. ตัวเล็กกว่าเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน
  3. มีอัตราการเจริญเติบโตลดลงโดยเปรียบเทียบในกราฟการเจริญเติบโตหรือไม่เติบโตเลย
  4. ส่วนสูงอยู่ต่ำกว่าเส้นล่างสุดของกราฟการเจริญเติบโตตามเพศและอายุของเด็ก

> กลับสารบัญ


อาหารอย่างไรที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต

การเลือกกินอาหารที่เหมาะสมได้สัดส่วนจะทำให้ร่างกายเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม มีสุขภาพดีและไม่อ้วน ลักษณะอาหารที่ควรกิน คือ

  1. ควรรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ คือ ข้าวแป้ง เนื้อสัตว์และนม ไขมัน ผักและผลไม้อย่างสมดุล
  2. ดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว เพื่อให้ได้แคลเซียมเพียงพอ
  3. ควรรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้เป็นประจำเพื่อให้ได้ใยอาหาร
  4. รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงเป็นประจำเช่นตับเนื้อสัตว์ไข่แดงผักใบเขียว
  5. ไม่ควรกินอาหารรสหวานจัดและอาหารประเภทน้ำตาลมาก
  6. หลีกเลี่ยงอาหารที่มันมากเกินไป เช่น ทอดน้ำมัน
  7. หลีกเลี่ยงน้ำอัดลมและของขบเคี้ยว เช่น ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ เป็นต้น

> กลับสารบัญ


ฮอร์โมนอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต

ฮอร์โมนถูกหลั่งจากต่อมต่างๆ เข้าสู่กระแสเลือดไปมีผลต่อการทำงานของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายการเจริญเติบโตที่อาศัยฮอร์โมนหลายชนิด ได้แก่

  1. ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone)
  2. ฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid Hormone)
  3. ฮอร์โมนเพศ ซึ่งปกติจะสร้างจากต่อมเพศ ถ้าไม่สามารถสร้างฮอร์โมนได้ เด็กจะเติบโตช้าและไม่มีอาการแสดงของการเข้าสู่วัยหนุ่มสาว
  4. คอร์ติซอล (Cortisol) สร้างจากต่อมหมวกไต เป็นฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อสภาวะเครียด หากมีมากเกินไป จะมีผลรบกวนการเจริญเติบโตได้

> กลับสารบัญ


ภาวะตัวเตี้ยปกติ

ภาวะตัวเตี้ยปกติ (Normat Variant Short Stature) เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ไม่ได้มีโรคอะไรซ่อนเร้นอยู่ และไม่ต้องทำการรักษาใดๆ ได้แก่

  1. เตี้ยตามกรรมพันธุ์ (Familial Short Stature) คือ เด็กที่ตัวเล็กสืบเนื่องจากบิดาและมารดาตัวเล็ก
  2. เตี้ยชนิด “ม้าตีนปลาย” (Constitutional Delayed Growth and Puberty) เด็กกลุ่มนี้จะเตี้ยร่วมกับเข้าสู่วัยหนุ่มวัยสาวช้ากว่าเด็กทั่วไป มักได้ประวัติการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวช้าในบิดาและมารดาร่วมด้วย เช่นมารดามีประจำเดือนครั้งแรกอายุ 15 ปี

> กลับสารบัญ


การประเมินเด็กที่มีรูปร่างเตี้ย

กุมารแพทย์จะประเมินดูอัตราการเจริญเติบโต และเปรียบเทียบกับกราฟการเจริญเติบโต หากสงสัยว่ามีความผิดปกติ แพทย์ผู้ดูแลจะแนะนำให้รับการตรวจเพิ่มเติมจากกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อต่อไป

ข้อมูลที่นำมาใช้ประเมินเด็กที่มีรูปร่างเตี้ย มีดังนี้

  1. ประวัติของเด็กและครอบครัว ได้แก่
    • ประวัติการตั้งครรภ์ของมารดาการคลอดน้ำหนักและความยาวแรกเกิด
    • ประวัติการเจ็บป่วยของเด็กอาหารที่ได้รับ
    • พัฒนาการของเด็ก
    • ความสูงและการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวของบิดามารดาและพี่น้อง
  2. การตรวจร่างกาย
    • ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงหรือความยาวในเด็กเล็ก วัดความยาวของส่วนแขน ขา และเส้นรอบศีรษะ ด้วยวิธีและอุปกรณ์ที่มาตรฐาน และบันทึกในกราฟเพื่อดูรูปแบบการเจริญเติบโตของเด็ก
    • การตรวจร่างกายระบบอื่นๆ เพื่อหาความผิดปกติที่พบร่วมกัน
  3. การตรวจอายุกระดูก เพื่อทราบถึงระดับการเจริญเติบโตของกระดูก เพื่อใช้ในการใช้ประเมินการเจริญเติบโตของเด็ก สามารถตรวจได้จากการเอกซเรย์ฝ่ามือและข้อมือ เพื่อประเมินดูการเจริญเติบโตของกระดูก
  4. การตรวจอื่นๆ ทางห้องปฏิบัติการ - การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำในเด็กที่สงสัยว่าจะมีความผิดปกติของฮอร์โมน ได้แก่ การตรวจเลือดวัดระดับของฮอร์โมน หรือ การทดสอบทางด้านฮอร์โมน เป็นต้น

> กลับสารบัญ


อ้างอิงข้อมูลจาก : สมาคมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นไทย

นพ.ศุภวุฒิ สุขสันติเลิศ นพ.ศุภวุฒิ สุขสันติเลิศ

นพ.ศุภวุฒิ สุขสันติเลิศ
กุมารเวชศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม
ศูนย์สุขภาพเด็ก






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย