เทคโนโลยีการตรวจ ABI หาภาวะโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล
ภาวะโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ เป็นอาการแสดงที่สำคัญของภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว หรือมีไขมันเกาะแทรกในหลอดเลือดซึ่งมีผลต่อระบบการไหลเวียนโลหิตของร่างกาย การตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย หรือ การตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือด (Ankle Brachial Index : ABI) ที่เรียกว่าสั้นๆ ว่า การตรวจ ABI นั้น จะเป็นการตรวจหาการตีบตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ขา เพื่อประเมินว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายหรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหลอดเลือดหัวใจได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป การตรวจไม่ทำให้เจ็บปวด ทราบผลได้เลย และไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนการตรวจ
รู้จักการตรวจ ABI
การตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย หรือ การตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือด (Ankle Brachial Index : ABI) ที่เรียกว่าสั้นๆ ว่า การตรวจ ABI เป็นการตรวจคัดกรองความเสี่ยงทางหลอดเลือดทั่วร่างกาย ตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นสำหรับโรค โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดที่ขา ทำได้โดยการวัดดัชนีความดันที่ข้อเท้า เปรียบเทียบกับค่าความดันของแขนในแต่ละข้าง เพื่อตรวจดูว่ามีการตีบตันของหลอดเลือดข้างนั้นๆ หรือไม่
โดยการตรวจมีลักษณะเหมือนการตรวจวัดความดันโลหิตทั่วไป ทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ให้ความแม่นยำสูง และไม่มีความเสี่ยงหรือได้รับความเจ็บปวดในขณะตรวจ
การตรวจ ABI มีประโยชน์อย่างไร
ประโยชน์หลักๆ คือ เพื่อตรวจดูการอุดตันของหลอดเลือดแดงและความยืดหยุ่นของหลอดเลือด รวมทั้งยังสามารถตรวจหาและประเมินภาวะความเสี่ยงต่างๆ ได้ ดังนี้
- วินิจฉัยหรือค้นหาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตันที่ขาในระยะแรกๆ ที่มักพบบ่อยร่วมกับการอุดตันในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมอง โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่มีอาการปวดขา ปวดน่อง และเป็นตะคริว
- การตรวจเบื้องต้นที่สามารถนำไปสู่การค้นหาโรคสำคัญอื่นๆ ได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ เป็นต้น
- ช่วยประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจในอนาคต
- ใช้ประเมินระดับความรุนแรงของการตีบของหลอดเลือด
- ใช้ตรวจเพื่อประเมินผลภายหลังการรักษา
ผู้ที่ควรรับการตรวจ
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือประวัติสูบบุหรี่มานาน
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ เช่น ภาวะอ้วน ความดันโลหิตสูง ภาวะคอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน
- ประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง
- ผู้ที่มีระดับของสารบางอย่างในเลือดสูง เช่น โฮโมซีสทีน (Homocysteine) และ ไลโพโปรตีน (Lipoprotein)
- ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือสูบบุหรี่มากกว่า 10 ปี
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
วิธีการตรวจ ABI
การตรวจนี้ทำได้โดยจะวัดความดันหลอดเลือดที่ข้อเท้าและแขน แล้วจะนำไปสู่การประมวลผลเป็นค่าดัชนีหรือโดยนำความดันในหลอดเลือดแดงของแขนและขามาหาอัตราส่วนซึ่งดัชนีนี้เรียกว่า Ankle Brachial Index (ABI)
ในระหว่างที่ตรวจ ABI ผู้เข้ารับการตรวจจะได้นอนลงบนเตียงที่จัดเตรียมไว้ให้ และเริ่มต้นวัดความดันที่แขนทั้ง 2 ข้างและเหนือข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง โดยเครื่องมือที่ใช้ตรวจจะประกอบไปด้วยเครื่องวัดความดันโลหิต และอุปกรณ์คลื่นเสียงความถี่สูง โดยเครื่องจะวัดความดันโลหิตที่หลอดเลือดแขนทั้งสองข้างก่อน จากนั้นจะวัดความดันโลหิตของข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง หลังจากนั้นเครื่องตรวจจะนำค่าความดันที่วัดได้มาคำนวณ ABI ให้โดยอัตโนมัติ โดยค่าดังกล่าวสามารถวัดว่าหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงแขนหรือขามีการอุดตันหรือไม่มากน้อยเพียงใด
การแปลผลตรวจ ABI ทำได้อย่างไร
ค่าการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง หรือ ค่า ABI โดยค่าปกติของ ABI ควรมากกว่าหรือเท่ากับ 1.0-1.1 หากค่า ABI ที่ได้มาน้อยกว่า 0.9 ถือว่าเป็นค่าผิดปกติ บ่งชี้ว่ามีการอุดตันในหลอดเลือดแดงที่ขา ณ. ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งค่ายิ่งน้อยก็ยิ่งบ่งบอกว่ามีการอุดตันในหลอดเลือดสูงมากขึ้นเท่านั้น
โดยผู้ที่มีค่า ABI น้อยกว่า 0.9 จะได้รับคำแนะนำให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางโรคหลอดเลือดเพื่อทำการรักษา ในกรณีที่มีค่า ABI น้อยกว่า 0.5 แสดงว่ามีการตีบของหลอดเลือดที่ขาในหลายระดับ ต้องได้รับการตรวจหลอดเลือดที่ขาเพิ่มเติมด้วยการฉีดสีเพื่อดูว่าหลอดเลือดมีการอุดตัน ณ ตำแหน่งใดเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป และหากค่า ABI ต่ำกว่า 0.3 แสดงว่ามีการตีบของหลอดเลือดที่ขาขั้นรุนแรง ซึ่งกรณีนี้จะถือว่าเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบทำการรักษาทันที
การตรวจหาภาวะโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ด้วยการตรวจ ABI นำไปสู่การค้นหาโรคสำคัญอื่นๆ ได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งสามามารถทำให้เกิดอัมพาตและเสียชีวิตได้ หากพบว่ามีอาการปวดขา ปวดน่อง เป็นตะคริว ขณะเดินหรือทำกิจกรรมต่างๆ ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อนำไปสู่การรักษาอย่างตรงจุดและทันท่วงที
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ