เปลี่ยนความเชื่อ เป็นโรคหัวใจ ก็ออกกำลังกายได้
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล
หลายคนมีความคิด ความเชื่อที่ว่า ผู้ที่เป็นโรคหัวใจห้ามออกกำลังกาย เพราะจะทำให้อาการทรุดหนักลงได้ แต่แท้ที่จริงแล้วผู้ป่วยโรคหัวใจออกกำลังกายได้ การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจจะช่วยให้หัวใจมีสมรรถภาพที่ดี กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ดีขึ้น เพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ส่งผลให้ทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีและมีสุขภาพใจที่แข็งแรง แต่ทั้งนี้ การออกกำลังกายควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่จะพิจารณาเป็นรายบุคคล และขึ้นอยู่กับสภาพโรคหัวใจที่แตกต่างกัน
ผู้ป่วยโรคหัวใจกับการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจ มีจุดประสงค์สำคัญ เพื่อลดการดำเนินโรคและยืดอายุผู้ป่วย และเพื่อรักษาให้สุขภาพกลับไปแข็งแรงใกล้เคียงหรือเท่าๆ กับก่อนจะเป็นโรคหัวใจ ทั้งนี้จะช่วยทำให้การทำงานของหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้น ไปช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจล่างซ้าย ช่วยทำให้ไขมัน คอเลสเตอรอลในเลือดลดลง และอัตราการเต้นของหัวใจก็อยู่ในระดับที่ดี เมื่อมีการออกกำลังกายบ่อยๆ หรือสม่ำเสมอ ร่างกายก็จะเริ่มชิน ระบบการไหลเวียนเลือดดีขึ้น
เตรียมพร้อมก่อนออกกำลังกาย
ก่อนออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาใด ๆ ผู้ป่วยทุกคนควรปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินสภาพของร่างกาย โรคแทรกซ้อน การเฝ้าติดตามการเต้นของหัวใจ การให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้อาการ สัญญาณเตือนภัย การกำหนดความแรงของการออกกำลังกาย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรคหัวใจจะทำการทดสอบทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย เพื่อหาความเหมาะสมให้
ออกกำลังกายนานแค่ไหน และบ่อยเท่าไร?
โดยทั่วไปแล้ว การออกกำลังกายที่จะเกิดประโยชน์ต่อหัวใจ ต้องเริ่มจากการเตรียมร่างกายให้พร้อม วอร์มอัพก่อน 10-15 นาที ยืดกล้ามเนื้อทุกส่วน แล้วจึงค่อยเริ่มออกกำลังต่อเนื่องประมาณ 30 นาที และคูลดาวน์อีกประมาณ 10 นาที เพื่อให้ร่างกายและหัวใจได้ปรับสภาวะ การออกกำลังสามารถทำได้ 3-5 วันต่อสัปดาห์ ในขณะออกกำลังกายควรใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม ไม่แน่นหรือหนาเกินไป นอกจากนี้ ควรพยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นเวลา ก่อนออกกำลังกาย ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำให้เพียงพอหลังจากออกกำลังกายเสร็จแล้ว
ออกกำลังกายให้เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจ
ความหนักของการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ แพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคล เพราะสภาพโรคหัวใจที่แตกต่างกันย่อมมีความรุนแรงต่างกัน โดยการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจ ได้แก่
- การเดินเร็ว เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะจะไม่ทำให้รู้สึกเหนื่อยจนเกินไป การเดินเร็วสัปดาห์ละ 1-3 ชั่วโมง หรืออย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจได้ถึง 30%
- การวิ่ง ช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจได้ออกแรงสูบฉีดโลหิตได้แรงขึ้น เคลื่อนไหวตัวได้ดีขึ้น และการวิ่งยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาได้ เมื่อออกบ่อย ๆ ร่างกายก็จะเริ่มชิน ระบบการไหลเวียนเลือด กล้ามเนื้อก็ดึงออกซิเจนไปใช้ได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยลดความเครียดและนอนหลับได้สนิทอีกด้วย
- ว่ายน้ำ เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจทุกช่วงอายุ เป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ เพราะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง กล้ามเนื้อร่างกายมีความยืดหยุ่นดี นอกจากน้ำจะช่วยพยุงตัว ทำให้ไม่เหนื่อยมากแล้ว ยังช่วยลดการบาดเจ็บและอาการเจ็บปวดของข้อต่อต่างๆ ของร่างกายได้อีกด้วย
- กีฬาเทนนิส แบดมินตัน ช่วยให้แขน และขาได้ใช้กล้ามเนื้อได้อย่างเต็มที่ กล้ามเนื้อหัวใจได้ทำงานเพื่อสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และทำให้การเคลื่อนไหวของผู้ป่วยดีขึ้น
- การเต้นแอโรบิก เป็นการเพิ่มความแข็งแรงของหัวใจ กระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นถึงระดับที่มีชีพจร 60-80% อย่างน้อย 20 นาที
เมื่ออาการกำเริบขณะออกกำลังกาย
เมื่อออกกำลังกายอยู่แล้วมีอาการที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มึน วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ให้หยุดออกกำลังกายทันทีและนั่งพักในที่ที่มีอากาศถ่ายเท อาจใช้ยาอมใต้ลิ้นตามที่แพทย์เคยแนะนำไว้ แต่หากนั่งพักแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น กลับเป็นมากขึ้น อมยาใต้ลิ้นแล้วก็ไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
สรุปแล้วผู้ป่วยโรคหัวใจ สามารถออกกำลังกายได้ แต่ควรออกกำลังกายอย่างระมัดระวังแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักโหมจนเกินไป และรู้จักประเมินสมรรถภาพของตัวเอง ไม่ควรออกกำลังกายเพียงลำพัง เนื่องจากมีภาวะเสี่ยงต่อการวูบได้ง่าย จึงควรมีคนใกล้ชิดอยู่ใกล้ๆ พร้อมอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ และยาแก้อาการติดตัวเอาไว้เสมอ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ