เริม โรคกวนใจแต่ไม่อันตราย ป้องกันไว้ก่อนเกิดซ้ำ

ศูนย์ : ศูนย์ผิวหนังและความงาม

บทความโดย : นพ. ชาญเกียรติ ส่องสันติภาพ

เริม โรคกวนใจแต่ไม่อันตราย ป้องกันไว้ก่อนเกิดซ้ำ

เริมเป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสเฮอร์ปีซิมเพลกซ์ (Herpes simplex virus) โดยการสัมผัสทางผิวหนัง จะเกิดลักษณะผื่น เป็นตุ่มน้ำใสที่ส่วนใหญ่มักขึ้นบริเวณริมฝีปาก พร้อมมีอาการแสบร้อน ในบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย เมื่อเป็นแล้วรักษาได้แต่ไม่หายขาด เนื่องจากเชื้อจะหลบอยู่ในร่างกาย และจะกำเริบขึ้นเมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันลดลง จึงทำให้เป็น ๆ หาย ๆ อย่างไรก็ตามก็มีวิธีบรรเทาโรคเริมได้ และมีวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้อาการกลับมากำเริบซ้ำ ดังนั้นควรทำความรู้จักกับโรคนี้


รู้ได้ไงว่าเป็นเริม

  1. ส่วนมากผู้ป่วยมักมีอาการแสบร้อน หรือคันบริเวณผิวหนังที่เคยได้รับเชื้อมาก่อน
  2. บางรายมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีต่อมน้ำเหลืองโตที่คอ หรือขาหนีบขึ้นกับเชื้ออยู่บริเวณใดมาก มีส่วนน้อยที่ไม่มีอาการใดนำมาก่อน
  3. ต่อมาเริ่มมีตุ่มน้ำเกิดขึ้น บริเวณที่พบบ่อย เช่น ที่ริมฝีปาก แต่เริมสามารถขึ้นบริเวณอื่นๆ ได้ เช่น นิ้วมือ ใบหน้า เป็นต้นโดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกมักมีอาการอักเสบบวมแดง โดยมีอาการได้นาน ตั้งแต่ 2 - 20 วัน ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการครั้งหลังๆ อาการบวมแดงจะน้อยลง ระยะเวลาในการเป็นสั้นลง ประมาณ 7-10 วัน
  4. บางรายมีปัสสาวะแสบขัด ถ้าตุ่มน้ำอยู่บริเวณอวัยวะเพศ
  5. ในรายที่มีอาการใกล้ดวงตา ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและเคืองตา แสบตาไวแสง น้ำตาไหลและถ้าเป็นมากจนกระจกตาเป็นแผลอาจเกิดตาบอดได้

> กลับสารบัญ


เริมติดต่อได้อย่างไร

ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ได้ ซึ่งเชื้อไวรัสเริมติดต่อทางการสัมผัสผิวหนังโดยตรงกับผู้ได้รับเชื้อที่มีแผลถลอกอยู่ แบ่งเป็น

  1. การติดเชื้อบริเวณปาก และใบหน้า มักเกิดจากการจูบ รับประทานอาหาร การไม่ใช้ช้อนกลาง การใช้ผ้าขนหนู ลิปสติก ที่โกนหนวด หรือเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมกัน
  2. การติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ มักได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งติดเชื้อง่ายขึ้นในหญิง ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน เริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย มีโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นร่วมด้วย เช่น หนองในรวมถึงผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน
  3. การติดเชื้อบริเวณช่องคลอดของมารดาในขณะคลอดบุตร

> กลับสารบัญ


ทำไมเริมถึงเป็นซ้ำหลายครั้ง

หลังจากเคยเป็นเริมครั้งแรก และรักษาจนแผลหายแล้ว เชื้อจะเคลื่อนไปหลบซ่อนตัวที่ปมประสาท เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอ เริมก็จะกลับมาเป็นซ้ำได้ซึ่งจะเป็นๆ หายๆ ส่วนใหญ่จะเกิดซ้ำบ่อยในช่วงปีแรก หลังจากนั้นนานๆ จึงจะเป็นใหม่ เนื่องจากร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานต่อไวรัสได้ดีขึ้น โดยปัจจัยที่กระตุ้นให้เป็นซ้ำ ได้แก่ ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายอ่อนแอจากการไม่สบายหรือเป็นไข้ ตากแดดนาน มีประจำเดือน และการได้รับการผ่าตัด เป็นต้น

> กลับสารบัญ


แพทย์วินิจฉัยโรคเริมได้อย่างไร

ส่วนมากแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังสามารถวินิจฉัยโรคได้ด้วยการประเมินจากลักษณะของรอยโรคและบริเวณของผื่น มีน้อยรายที่ต้องยืนยันการวินิจฉัยโดยทางห้องปฏิบัติการ เช่น tzanck smear เป็นวิธีการตรวจจากรอยผื่นด้วยการเจาะตุ่มน้ำแล้วขูดเซลล์บริเวณฐานของตุ่มน้ำไปตรวจ หรือการตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิ เป็นต้น

> กลับสารบัญ


เริมรักษาได้อย่างไร

ในผู้ป่วยบางราย แผลเริมอาจหายเองได้ แต่ในรายที่มีอาการมาก แพทย์จะให้ยารับประทาน หรือยาทาต้านไวรัสที่จำเพาะกับโรค ร่วมไปกับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามตุ่มน้ำที่แตกออกมา ซึ่งมีข้อดี คือ ลดความรุนแรงของโรค ลดความถี่และลดระยะเวลาที่เป็น ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และลดเวลาในการแพร่กระจายเชื้อ

ผลข้างเคียง มักไม่รุนแรง แต่มักมีผลรุนแรงได้ในเด็กแรกเกิด หรือผู้ป่วยเรื้อรัง หรือผู้ได้รับยาต้านภูมิคุ้มกัน ซึ่งเชื้อสามารถแพร่กระจ่ายไปอวัยวะต่างๆ เช่น สมองและอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานลดลง หรือผู้ได้รับเชื้อ HIV เมื่อมีอาการ ควรแจ้งแพทย์

> กลับสารบัญ


การดูแลตัวเองในระหว่างมีอาการ

  1. ถ้ามีอาการปวดหรือแสบร้อน ให้ประคบน้ำแข็ง
  2. หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด ควรนอนหลับให้เพียงพอ
  3. อย่านำผ้า หรือสิ่งใดๆ มาปิดแผลเริม ซึ่งความแห้งและอากาศที่ถ่ายเทได้ดีจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
  4. ลดการกระจายเชื้อสู่ผู้อื่น เช่น งดจูบ หรือการใช้เครื่องใช้ร่วมกัน รวมถึงการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งป้องกันไม่ได้ถ้ามีตุ่มน้ำนอกบริเวณที่สวมถุงยาง
  5. ใช้ไม้พันสำลีในการทายาและล้างมือทุกครั้งที่มือจับถูกตุ่มน้ำ
  6. อย่าแกะสะเก็ดแผลเริม
  7. ในหญิงตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อวางแผนก่อนการคลอด โดยอาจให้กินยาต้านไวรัสไว้ก่อนหรืออาจใช้การผ่าท้องคลอด

> กลับสารบัญ


เริมติดต่อทางการสัมผัส ฉะนั้นการหมั่นล้างมือทำความสะอาดบ่อยๆ จะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเริมได้ หากพบว่ามีผื่น ตุ่มน้ำใส บริเวณปาก หรือส่วนอื่นๆ ให้เข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังเพื่อตรวจและรักษาอย่างถูกวิธี




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย