เรื่องสำคัญที่ควรรู้ของคนข้ามเพศ ก่อนเริ่มเปลี่ยนตัวเองด้วยการเทคฮอร์โมน
ศูนย์ : บริการทางการแพทย์ด้านกลุ่มหลากหลายทางเพศ Rainbow Services (LGBTQ+), ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้
บทความโดย : นพ. นิทัศน์ จตุปาริสุทธิ์
การเทคฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ LGBTQ+ เป็นสิ่งจำเป็นต่อกลุ่มคนข้ามเพศ หรือ ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) ที่ตัดสินใจแล้วว่าต้องการเปลี่ยนตนเอง ซึ่งจะช่วยกดฮอร์โมนเพศเดิมให้ลดลง และเสริมฮอร์โมนเพศใหม่ที่ต้องการ คือ จากชายกลายเป็นหญิง หรือจากหญิงกลายเป็นชายอย่างสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การเทคฮอร์โมนจะต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน การใช้ยาที่เหมาะสมกับแต่ละคนจึงต่างกัน แต่มีคนจำนวนไม่น้อยใช้โดยไม่ปรึกษาแพทย์จึงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เพื่อสร้างความเข้าใจการเทคฮอร์โมน และให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการรวมทั้งปลอดภัยต่อสุขภาพ มาทำความเข้าใจในเรื่องนี้กัน
สารบัญ
การเทคฮอร์โมนคืออะไร
การเทคฮอร์โมน คือ การรับฮอร์โมนเพศที่ต้องการเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้สรีระร่างกายเกิดความเปลี่ยนแปลงไปยังเพศที่ตนเองต้องการ หรือที่ได้รับมา โดยการเทคฮอร์โมนสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ หรือ ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- การเทคฮอร์โมนสำหรับชายเป็นหญิง (Feminizing hormone therapy) หรือที่เรียกว่า หญิงข้ามเพศ (Transwomen) ด้วยการให้ยายับยั้งฮอร์โมนเพศชายเพื่อลด หรือกดฮอร์โมนเพศชายให้น้อยลง และเสริมฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เพื่อให้ฮอร์โมนความเป็นชายไม่เหลือ เพื่อเปลี่ยนสรีระร่างกายให้คล้ายเพศหญิงมากขึ้น เช่น ลดการมีหนวด เครา เปลี่ยนเสียงให้แหลมขึ้น เค้าโครงหน้าตาหวานขึ้น เป็นต้น
- การเทคฮอร์โมนสำหรับหญิงเป็นชาย (Masculinizing hormone therapy) หรือที่เรียกว่า ชายข้ามเพศ (Transman) เป็นการเสริมฮอร์โมนเพศชาย ได้แก่ ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) หรือเทสโทสเทอโรน (Testosterone) โดยจะเข้าไปลดทอน หรือกำจัดฮอร์โมนเพศหญิงที่มีอยู่เดิมให้ค่อยๆ หายไป แล้วเสริมและกระตุ้นฮอร์โมนเพศชายขึ้นมาแทน เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระคล้ายเพศชายมากขึ้น เช่น มีขน หนวด เครา มีเสียงใหญ่ขึ้น มีกล้ามเนื้อเติบโตและแข็งแรงมากขึ้น และประจำเดือนลดลงปราศจากเลือด เป็นต้น
การเทคฮอร์โมนมีแบบใดบ้าง
การเทคฮอร์โมนสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสุขภาพร่างกายแต่ละบุคคล รวมทั้งตามคำแนะนำของแพทย์ ได้แก่
- รูปแบบยาเม็ดรับประทาน
- รูปแบบยาฉีด จะออกฤทธิ์เร็วกว่าแบบรับประทานและออกฤทธิ์ได้นาน โดยผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและออกฤทธิ์ได้โดยตรง ทำให้ระดับยาในเลือดค่อนข้างสม่ำเสมอ
- รูปแบบการให้ยาฮอร์โมนทาทางผิวหนัง เพื่อให้ยาซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดและออกฤทธิ์ได้โดยตรง
ก่อนเทคฮอร์โมนต้องตรวจสุขภาพและผ่านเกณฑ์อะไรบ้าง
การเทคฮอร์โมนจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น และก่อนการเทคฮอร์โมนจำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมและผ่านเกณฑ์ดังนี้
- ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป มีความสามารถในการตัดสินใจและให้ความยินยอมในการรักษาได้
- ผู้ที่มีอายุ 18 - 20 ปี ต้องมีผู้ปกครองเซ็นยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร
- จะต้องผ่านการพบจิตแพทย์ 2 ท่าน เพื่อประเมินสภาพจิตใจว่าผู้รับบริการต้องการจะเป็นคนข้ามเพศแน่ ๆ หรือ ได้รับการยืนยันว่ามีภาวะ Gender dysphoria (GD) คือ เป็นผู้ที่ไม่มีความสุขกับสรีระทางเพศแต่กำเนิดอย่างรุนแรงจริง และไม่มีภาวะทางจิตเวช
- ก่อนเทคฮอร์โมนเพศต้องผ่านการตรวจสุขภาพ ตรวจวัดระดับฮอร์โมน และความพร้อมของร่างกายก่อน เช่น การตรวจตรวจเลือด ดูระดับไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจดูการทำงานของตับ ไต ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ พร้อมซักประวัติภาวะเสี่ยงการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน ประวัติการเป็นมะเร็งในครอบครัวสายตรง การรับประทานยาตัวใดเป็นประจำ หรือโรคประจำตัวต่างๆ เป็นต้น
- มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
- ไม่มีประวัติแพ้ยา
- ในเพศหญิงที่ต้องการเป็นชายต้องไม่มีภาวะการตั้งครรภ์
คนข้ามเพศมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อเทคฮอร์โมนแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงจะเริ่มเห็นได้เมื่อผ่านการเทคฮอร์โมนอย่างสม่ำเสมอ หลัง 3-6 เดือนขึ้นไป ดังนี้
- สำหรับหญิงข้ามเพศ หรือ ทรานส์วูแมน (Transwomen) ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ได้แก่ การมีสรีระเล็กลง ขนบริเวณร่างกายและใบหน้าจะลดลง เต้านมขยายใหญ่ขึ้น ขนาดของกล้ามเนื้อเล็กลง เสียงเล็กแหลมขึ้น มีไขมันสะสมเพิ่มขึ้นบริเวณสะโพก ผิวเนียนขึ้น เป็นต้น
- สำหรับชายข้ามเพศ หรือ ทรานส์แมน (Transman) ซึ่งการรับฮอร์โมนเพศชาย ได้แก่ ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) หรือเทสโทสเทอโรน (Testosterone) จะทำให้ร่างกายปรับตามไปด้วย เช่น ทำให้ประจำเดือนลดน้อยลง มีขนขึ้นตามใบหน้าและร่างกายมากขึ้น เสียงทุ้มขึ้น กล้ามเนื้อขยายและแข็งแรงมากขึ้น โครงหน้าเปลี่ยน ผิวมันและหยาบขึ้น เป็นต้น
หลังเทคฮอร์โมนต้องตรวจติดตามหรือไม่
แพทย์จะตรวจติดตามสุขภาพเพื่อให้แน่ใจว่ายาฮอร์โมนได้เข้าสู่ร่างกายของคุณจริง โดยแพทย์อาจจะนัดประเมินทุก 3-6 เดือน ในปีแรก และ 1-2 ครั้งในปีต่อไป เพื่อดูอาการแสดงของเพศหญิงและเพศชาย รวมไปถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ และตรวจวัดระดับฮอร์โมน testosterone และ estradiol ทุก 3-6 เดือน ซึ่งแพทย์อาจมีการปรับยา และ/หรือ สั่งยาเพิ่ม ตามความเหมาะสมของแต่ละคน
อย่างไรก็ตามควรเข้ารับฮอร์โมนตามที่แพทย์นัดหมายอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่ควรเทคฮอร์โมนด้วยตัวเองเนื่องจากจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย สำหรับผู้ที่ต้องการเทคฮอร์โมนแนะนำให้ศึกษาหาข้อมูล เพื่อเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนแปลง และเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์บริการทางการแพทย์ด้านกลุ่มหลากหลายทางเพศ Rainbow Services (LGBTQ+), ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้