เวียนศีรษะ บ้านหมุน จากน้ำในหูไม่เท่ากัน โรคฮิตวัยทำงาน
ศูนย์ : ศูนย์โสต ศอ นาสิก
บทความโดย : พญ. จุฑามาส สุวัฒนภักดี

อยู่ดีๆ ก็เกิดเวียนศีรษะ บ้านหมุน พอจะยืนก็ทรงตัวไม่อยู่จะล้มเสียให้ได้ หูอื้อ ได้ยินไม่ชัด อาการเหล่านี้เป็นความผิดปกติของหูชั้นใน หรือที่รู้จักกันในโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นในนั่นก็คือ มีแรงดันของน้ำในหูมากเกินปกติ พบบ่อยในวัยทำงานที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ถ้าทิ้งไว้ระดับการได้ยินอาจแย่ลงเรื่อยๆ ได้
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นอย่างไร?
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคมีเนีย (Meniere’s disease) เป็นสาเหตุของโรคที่พบอันดับสองของสาเหตุอาการเวียนศีรษะ ส่วนใหญ่มักเป็นกับหูเพียงข้างเดียว มีเพียง 15-20% ที่เป็นหูทั้งสองข้าง เกิดจากความผิดปกติของน้ำในหูชั้นใน ซึ่งปกติหูชั้นในจะมีน้ำในปริมาณที่พอดีกับการทำงานของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน และมีการไหลเวียนถ่ายเทเป็นปกติ แต่เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น เช่น การดูดซึมของน้ำในหูไม่ดี ทำให้น้ำในหูชั้นในมีปริมาณมากกว่าปกติ ก็จะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หูอื้อ สูญเสียการได้ยิน รู้สึกถึงแรงดันภายในหู เป็นต้น
สาเหตุโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
โรคนี้มีโอกาสเป็นได้ทุกเพศ และทุกวัย เพราะเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พบมากในวัยทำงานที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่มีปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการดำเนินโรคได้ เช่น กรรมพันธุ์โดยมีโครงสร้างหูชั้นในผิดปกติแต่กำเนิด โรคภูมิแพ้ การติดเชื้อไวรัส หูชั้นกลางอักเสบ หูน้ำหนวก ซิฟิลิส มีประวัติเคยประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ และโรคเบาหวาน ไทรอยด์ ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

อาการแบบไหนบ่งบอกน้ำในหูไม่เท่ากัน
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน จะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัว และการได้ยิน ทำให้เซลล์ดังกล่าวทำงานผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการ ดังนี้
- อาการหลัก ได้แก่ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง บ้านหมุน ซึ่งมักจะเป็นอาการเวียนศีรษะรุนแรงและมีความรู้สึกหมุนร่วมด้วย บางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมกับการสูญเสียสมดุลของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ล้มได้ง่าย
- อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วย ได้แก่ ความผิดปกติทางหู จะสูญเสียการได้ยิน ชนิดประสาทการได้ยินเสียเฉียบพลัน ทำให้หูอื้อ ได้ยินไม่ชัด รู้สึกแน่นในหูเป็นๆ หายๆ บางครั้งการได้ยินดีขึ้น บางครั้งแย่ลง มีเสียงดังในหู อาจเป็นเสียงหึ่ง วี้ เสียงลม เสียงจักจั่น อาการหนักๆ หน่วงๆ ในหู คล้ายมีแรงดันในหู
การตรวจและวินิจฉัยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
โดยปกติทั่วไป แพทย์จะทำการซักประวัติอาการ เช่น ลักษณะอาการเวียนศีรษะ ความรุนแรงของอาการ ระยะเวลาและความถี่ของอาการ อาการทางหูที่เกิดร่วมด้วย ในกรณีที่อาการไม่ชัดเจนก็จำเป็นต้องอาศัยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัย ดังนี้
- การตรวจทางร่างกาย ได้แก่ การตรวจหู คอ จมูก และระบบประสาท การตรวจระบบสมดุลของร่างกาย การตรวจการทำงานของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน และ การตรวจดูการเคลื่อนไหวของลูกตาในท่าทางต่างๆ
- การตรวจอื่นๆ ได้แก่ การตรวจการได้ยิน การตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน การตรวจการทำงานของเส้นประสาทการได้ยิน
- การตรวจพิเศษทางรังสี เช่น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือ ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) ในรายที่สงสัยว่าอาจมีเนื้องอกของเส้นประสาทการทรงตัวหรือความผิดปกติสมอง
โรคน้ำในหูไม่เท่ากันรักษาอย่างไร?
การรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการที่ตรวจพบ โดยมีทั้งการให้ยาบรรเทาอาการ และการผ่าตัดโดย
- การให้ยาบรรเทาอาการ เช่น การรับประทานยาขับปัสสาวะ เพื่อลดสภาวะอาการบวม และคั่งของน้ำในหูชั้นใน รวมทั้งยาขยายหลอดเลือดจะช่วยให้การไหลเวียนของน้ำในหูดีขึ้น ยาลดอาการเวียนศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียน ตลอดจนยากล่อมประสาท และยานอนหลับ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย และนอนหลับได้เป็นปกติ
- • การผ่าตัดเพื่อระบายน้ำที่คั่งอยู่ในหูชั้นใน ใช้ในกรณีผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้จากการใช้ยา เช่น การตัดเส้นประสาท ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวในหูชั้นใน ในผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะไม่หาย เป็นต้น
แม้ว่าโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยยา และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง รวมทั้งสามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต รวมไปถึงการดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อน ลดความเครียด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ชากาแฟ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์โสต ศอ นาสิก