เอ็นเข่าฉีก ปล่อยไว้นานเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันสมควร
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ
บทความโดย : นพ. นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์
หนึ่งในอาการบาดเจ็บที่พบบ่อยรองจากการบาดเจ็บจากข้อเท้า ก็คือ เอ็นเข่าฉีก โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพเป็นนักกีฬา เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล และแบดมินตัน เป็นต้น และไม่เพียงแต่นักกีฬาเท่านั้น ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปเช่นกัน หากออกกำลังหรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวแบบบิดหมุนตัว แล้วเกิดการเสียหลักล้ม รวมทั้งมีการกระแทกของเข่าอย่างรุนแรง
ความสำคัญของเส้นเอ็น
เส้นเอ็นเข่าจะเป็นเนื้อเยื่อที่มีความแข็งแรงและเชื่อมต่อกระดูกเข้าด้วยกัน เส้นเอ็นจะพยุงและยึดกระดูกให้เชื่อมต่อกันขณะเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะยืน เดิน หรือนั่ง เส้นเอ็นในเข่าจะประกอบด้วย เอ็นไขว้หน้าและเอ็นไขว้หลัง ซึ่งอยู่ในตำแหน่งไขว้ประสานระหว่างกัน ทำหน้าที่สัมพันธ์กัน โดยเอ็นไขว้หน้าจะทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของข้อเข่า คอยควบคุมการทรงตัวของข้อเข่าในขณะที่เราวิ่ง กระโดด หรือเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวกะทันหัน หากเคลื่อนไหวผิดท่า หรือได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง โอกาสที่เอ็นไขว้หน้าจะได้รับบาดเจ็บก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
อาการเอ็นเข่าฉีก
เมื่อเอ็นเข่าเกิดความผิดปกติ หรือได้รับบาดเจ็บ จะมีอาการปวดบวมอย่างรุนแรงบริเวณข้อเข่า เดินลงน้ำหนักไม่ได้หรือปวดเสียวมาก ไม่สามารถงอเข่าได้เนื่องจากมีเลือดออกในข้อเข่า เมื่อปล่อยทิ้งไว้อาการอาจค่อยๆ ดีขึ้น แต่มักมีอาการเวลาที่ทำกิจกรรมที่หัวเข่าต้องบิดหมุน เช่น เดินเร็ว วิ่ง หรือเล่นกีฬา เป็นต้น ความรุนแรงของเอ็นเข่าฉีกขาด สามารถแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
- ระดับที่ 1 เป็นการบาดเจ็บมีการฉีกขาดบางเส้นใยของเนื้อเอ็น จะมีเลือดออกเล็กน้อย การรักษาแพทย์จะให้ยาบรรเทาปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ใส่ผ้าพยุงเข่า หรือทำกายภาพบำบัด และงดการใช้เข่าชั่วคราว
- ระดับที่ 2 เป็นลักษณะการบาดเจ็บหัวเข่าจะมีการฉีกขาดของเอ็นบางส่วน ทำให้เดินไม่ไหว เดินลำบาก ปวด บวม เจ็บ มีรอยเขียวช้ำ การรักษาแพทย์จะพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยว่าจะผ่าหรือไม่ ถ้าไม่ผ่าตัดอาจให้พักหรือใส่เฝือกไว้
- ระดับ 3 เป็นการบาดเจ็บหัวเข่าคือมีการฉีกขาดของเอ็น ต้องทำการรักษาโดยด่วน โดยแพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีผ่าตัด เย็บซ่อมเอ็น หรือสร้างเอ็นใหม่
เอ็นเข่าฉีกต้องผ่าตัดทุกรายหรือไม่
หากมีภาวะเส้นเอ็นเข่าฉีกขาด สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ แต่อาจจะเกิดภาวะข้อเข่าเคลื่อน ในกิจกรรมที่ต้องมีการบิดหมุนของหัวเข่า สำหรับผู้ที่มีภาวะเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการบาดเจ็บต่อหมอนรองเข่าและกระดูกอ่อนหัวเข่า ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันสมควร การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด จะเหมาะกับผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการทำกิจกรรมที่ใช้หัวเข่ามากนัก และสามารถปรับพฤติกรรมตนเองให้เหมาะกับเข่าที่ไม่สามารถบิดหมุนรุนแรงได้
รักษาเอ็นเข่าฉีกขาดด้วยการผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า
การผ่าตัดส่องกล้องรักษาเอ็นเข่าฉีกขาด เทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทันสมัย จะทำให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ทำการดูแลรักษาได้ง่าย ด้วยวิธีผ่าตัดเย็บซ่อมเอ็น หรือสร้างเอ็นใหม่ โดยนำเส้นเอ็นจากบริเวณอื่นมาทดแทน ศัลยแพทย์จะเปิดแผลขนาดเล็กแล้วใช้กล้องขนาด 4 มิลลิเมตรส่องเข้าไปดูภายในข้อเข่าตรงที่เส้นเอ็นฉีก ภาพที่ได้จะถูกส่งขึ้นจอภาพที่อยู่ในห้องผ่าตัด ทำให้แพทย์สามารถเห็นส่วนต่างๆ ในข้อไหล่ได้อย่างชัดเจน ก่อนที่จะใช้เครื่องมืออีกตัวหนึ่งมาช่วยเสริมในการจับและเย็บเส้นเอ็นที่ฉีกขาด โดยแผลที่เกิดจากการผ่าตัดส่องกล้องจะมีลักษณะเป็นรูเล็กๆ ขนาด 0.5 -1 เซนติเมตร จำนวน 2-4 รู ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีรอยโรคมากน้อยเพียงใด
หลังจากการผ่าตัดเอ็นเข่าฉีก
หลังจากทำการผ่าตัด และหลังจากแผลหายแล้ว ให้เริ่มบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า โดยเลือกการบริหารกล้ามเนื้อ โดยที่เข่าไม่ต้องเพิ่มการรับน้ำหนัก เช่น การว่ายน้ำ รวมทั้งการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้เข่ากลับมาเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ภาวะเอ็นเข่าฉีกขาดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากเมื่อได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อการรักษาและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกและข้อ