แยกให้ชัด ไข้เลือดออก VS COVID-19 ต่างกันอย่างไร
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก
บทความโดย : พญ. ธิดารัตน์ แก้วเงิน
แยกให้ชัด ไข้เลือดออก VS COVID-19 ต่างกันอย่างไร
ใกล้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ช่วงนี้สภาพอากาศแปรปรวน ทั้งอากาศร้อนและมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำขัง เกิดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำให้หลายจังหวัดพบผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์โรค COVID-19 ที่ยังคงมีการระบาดอยู่เรื่อย ๆ แม้อาการของทั้งสองโรคนี้มีความคล้ายกันอย่างมาก จึงทำให้ยากในการวินิจฉัยโรคในเบื้องต้น แต่สามารถจะแยกแยะได้เมื่อมีการดำเนินโรค เพื่อไม่ให้เป็นที่สับสน เรามาทำความรู้จักกับสองโรคนี้กัน
สารบัญ
สาเหตุของโรคไข้เลือดออกและCOVID-19 เกิดจากอะไร?
ไข้เลือดออก : เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค
COVID-19 : เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่2019 (SARS-CoV-2) สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ทางละอองฝอย เสมหะน้ำลาย ผ่านการสัมผัสเยื่อบุตา จมูก ปาก
อาการและการดำเนินโรคทั้งสองโรคนี้แตกต่างกันอย่างไร?
ไข้เลือดออก : ไข้มักสูงลอยนานประมาณ 2-7วัน (อุณหภูมิมากกว่า38.5 oc) หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา บางรายอาจมีถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือดถ้ารุนแรง อาจเห็นจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง มักไม่พบอาการไอน้ำมูก หายใจลำบากหรือปอดอักเสบ
COVID-19 : ไข้ต่ำถึงสูง (มากกว่า 37.5 oc) ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ไอแห้งหรือมีเสมหะ มีน้ำมูก หอบเหนื่อยหายใจลำบาก ปอดอักเสบในรายที่รุนแรง ท้องเสียมีในบางราย ไม่พบจุดเลือดออกตามผิวหนัง
สามารถวินิจฉัยได้อย่างไร?
นอกจากซักประวัติอาการ และอาการแสดงแล้ว จะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาช่วยในการวินิจฉัยโรคด้วย ดังนี้
ไข้เลือดออก : จะมีการตรวจเพิ่ม เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติเม็ดเลือดขาว ความเข้มข้นเลือดและจำนวนเกล็ดเลือด นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาไวรัสเดงกี่ด้วยวิธี PCR, การตรวจหา NS1 แอนติเจนของไวรัสซึ่งควรตรวจ ในช่วงวันแรกๆของไข้ การตรวจดูภูมิคุ้มกัน(แอนตีบอดีย์)ต่อเชื้อไวรัสเดงกี่ มักจะขึ้นหลังมีไข้ 4-5 วัน ปัจจุบันมีRapid test ซึ่ง อ่านผลเร็วใน 10-15 นาที
COVID-19 : วิธีมาตรฐานจะใช้วิธีการป้ายจมูกและคอ ส่งตรวจ RT-PCR เพื่อหาสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 อย่างไรก็ตามมีรายงานการเกิดผลบวกลวงในการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกี่ ในผู้ป่วย COVID 19 จึงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความสับสนและล่าช้าในการวินิจฉัยโรค COVID-19
ในด้านการรักษาทำอย่างไร?
ไข้เลือดออก : ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นไปตามอาการ มีไข้ให้เช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้เท่านั้น ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม นํ้าผลไม้ หรือนํ้าเกลือแร่ร่วมด้วย
COVID-19 : หากอาการไม่รุนแรง จะรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ถ้าเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการปอดอักเสบจะพิจารณาให้ยาหลายตัวร่วมกัน ซึ่งยาที่ใช้ในตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่2019ได้โดยตรง ยังอยู่ในช่วงวิจัยและทดลองยา ยาที่ถูกนำมาใช้รักษาจึงเป็นยาที่รักษาไวรัสอื่น ๆ เช่น HIV ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย เป็นต้น
ข้อแนะนำในการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออกและCOVID-19
โรคไข้เลือดออก : สามารถป้องกันได้ ด้วยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย(ภาชนะที่อาจมีน้ำขัง)และป้องกันไม่ให้ยุงลายมากัดเราได้ เช่น นอนในมุ้ง หรือทาโลชั่นกันยุง
COVID-19 : เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกัน วิธีการป้องกันโรค COVID-19 ที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือการป้องกันการสัมผัสกับเชื้อไวรัสโดย หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ขยี้ตา แคะจมูก และสัมผัสปาก พร้อมทั้ง
- หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์นานอย่างน้อย 20 วินาที
- ไอจามใส่แขนพับหลีกเลี่ยงการใช้มือป้องปากและจมูก หากใช้ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
- รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร (social distancing) และไม่ใกล้ชิดกับผู้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจเช่นไอจาม
- เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสบ่อยเช่น ราวบันได ลูกบิด ของเล่น ด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงไปในสถานที่คนหนาแน่น เช่นตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง รถไฟฟ้า
- ถ้าป่วยให้หยุดอยู่บ้าน และสวมหน้ากากอนามัย
จะเห็นว่าอาการป่วยเบื้องต้นของทั้งสองโรคมีส่วนคล้ายกันอยู่บ้าง แต่หากเป็นโรค COVID-19 นอกจากจะมีไข้ ไอ แล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเมื่อยตามตัว ร่วมกับเหนื่อยหอบ หายใจลำบากร่วมด้วย หากมีอาการเหล่านี้แล้วไม่มั่นใจควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคจะดีที่สุด
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก