โรคกระดูกสันหลังคด ความผิดปกติที่พบบ่อย แต่ไม่รู้ตัว

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. บดินทร์ วโรดมวนิชกุล

กระดูกสันหลังคด, โรคกระดูกสันหลังคด

โรคกระดูกสันหลังคด สามารถพบได้ตั้งแต่วัยเด็กถึงผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มีภาวะกระดูกสันหลังคดตั้งแต่วัยเด็ก และเห็นได้ชัดขึ้นหรือคดมากขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงเด็กกำลังเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น โดยภาวะโรคกระดูกสันหลังคดมักเกิดขึ้นโดยไม่แสดงอาการ จึงถูกเพิกเฉย มิได้ป้องกัน กว่าจะมาพบแพทย์ ก็มีอาการคดมากจนเดินตัวเอียง หรือบางรายมีอาการปวดหลังแล้ว ดังนั้นผู้ปกครองควรสังเกตโครงสร้างร่างกายลูกตั้งแต่วัยเด็ก หรือเมื่อพบว่ามีอาการเดินตัวเอียง สะโพกและหัวไหล่ทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือแนวกระดูกสันหลังไม่เป็นเส้นตรงหรือเอียงอย่างเห็นได้ชัด ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาเพื่อไม่ให้แนวกระดูกคดเพิ่มจนเกิดภาวะแทรกซ้อนกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้


กระดูกสันหลังคดเป็นอย่างไร

โรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) เป็นภาวะการผิดรูปของแนวกระดูกสันหลังจากปกติที่โค้งงอไปด้านหน้าและหลังเล็กน้อย กลายเป็นโค้งงอ คดงอ บิดเบี้ยวไปทางด้านข้าง โดยจะคดไปทางด้านซ้ายหรือด้านขวาก็ได้ ส่งผลให้ไหล่ เอว สะโพกไม่เท่ากัน โดยแนวกระดูกจะโค้งเป็นรูปตัว “C” ซึ่งการคดแบบนี้เป็นการคดหนึ่งตำแหน่ง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเรื้อรังและอาจทำให้ไหล่กับสะโพกไม่เท่ากัน หากปล่อยไว้นานๆ หรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนกระดูกคดเป็นลักษณะตัว “S” ซึ่งเป็นการคด 2 ตำแหน่ง เนื่องจากความคดของกระดูกสันหลังหนึ่งจุดมีมากจนร่างกายไม่สามารถมีสมดุลที่ดีได้ ร่างกายจึงพยายามปรับสมดุลให้เกิดขึ้นใหม่โดยการงอกระดูกสันหลังส่วนที่เหลือไปอีกด้าน จึงทำให้กระดูกสันหลังคดเป็นลักษณะคล้ายตัว S ซึ่งอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย และทำให้ร่างกายเสียสมดุลการทรงตัวส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต

> กลับสารบัญ


อาการกระดูกสันหลังคด

ผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดจะมีอาการ ได้แก่

  • มีแนวกระดูกสันหลังไม่ตรง
  • ระดับหัวไหล่ 2 ข้างไม่เท่ากัน
  • ระดับเอวไม่เท่ากัน
  • ด้านหลังนูนทำให้คิดว่าหลังโก่ง
  • สะโพกสองข้างสูงต่ำไม่เท่ากัน
  • หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้น กระดูกสันหลังนอกจากจะโค้งไปทางด้านใดด้านหนึ่งแล้ว ยังอาจหมุนหรือบิดตัว ทำให้ซี่โครงด้านหนึ่งยื่นออกมามากกว่าอีกด้านหนึ่ง เห็นเป็นก้อนนูนทางด้านหลังได้

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

สาเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด

กระดูกสันหลังคดสามารถเกิดขึ้นได้โดยมีหลายสาเหตุ โดยหลักๆ จะแบ่งได้ 2 แบบ ดังนี้

  1. กระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis) ผู้ป่วยบางคนอาจมีพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามช่วงอายุที่มีอาการเกิดขึ้น ได้แก่
    • โรคกระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุในวัยทารก จะเกิดอาการก่อนอายุ 3 ขวบ
    • โรคกระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุในวัยเด็ก เด็กพัฒนาอาการของโรคเมื่อมีอายุระหว่าง 4-10 ปี
    • โรคกระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุในวัยรุ่น โดยช่วงเด็กกำลังเติบโตเป็นวัยรุ่นหรือมีอายุระหว่าง 10-18 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบโรคกระดูกสันหลังคดได้มากที่สุด
    • กระดูกสันหลังคดจากท่าทางที่ผิด อาจเกิดจากความผิดปกติตรงส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน กล้ามเนื้อหดเกร็ง การบาดเจ็บ
  2. กระดูกสันหลังคดแบบมีสาเหตุ ได้แก่
    • การสร้างและการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากขณะแม่ตั้งครรภ์ตัวอ่อนในครรภ์มีกระดูกสันหลังที่ผิดปกติ
    • กระดูกสันหลังคดจากท่าทางที่ผิด อาจเกิดจากความผิดปกติตรงส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน กล้ามเนื้อหดเกร็ง การบาดเจ็บ
    • กระดูกสันหลังคดจากกระดูกสันหลังเสื่อม เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ จากการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลังที่ใช้งานเป็นเวลานาน
    • กระดูกสันหลังคดจากระบบประสาทกล้ามเนื้อผิดปกติ เช่น โรคกล้ามเนื้อโตมากกว่าปกติ กล้ามเนื้อกระดูกสันหลังฝ่อลีบ เป็นต้น
    • เนื้องอกบริเวณกระดูกสันหลัง หรือโพรงประสานไขสันหลัง

> กลับสารบัญ


กระดูกสันหลังคดสังเกตได้อย่างไร

ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยแสดงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและกระดูกสันหลัง แต่ความผิดปกติมักจะพบได้เมื่อเวลาก้มตัวหยิบของ เนื่องจากกระดูกสันหลังคดจะเห็นได้ชัดเจนเวลาก้ม โดยความผิดปกติได้แก่ ระดับหัวไหล่ไม่เท่ากัน กระดูกไหปลาร้าต่างระดับกัน กระดูกสะบักนูนไม่เท่ากัน ร่องเอวทั้งสองข้างไม่เท่ากัน กระดูกเชิงกรานทั้งสองข้างสูงต่ำไม่เท่ากัน ขายาวไม่เท่ากัน เป็นต้น หากพบว่ามีความผิดปกติดังกล่าวให้รีบมาพบแพทย์

> กลับสารบัญ



การตรวจวินิจฉัยกระดูกสันหลังคด

เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติผู้ป่วยและตรวจดูความคดของกระดูกสันหลังทั้งด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้าง โดยจะให้ผู้ป่วยโน้มตัวไปข้างหน้า พยายามใช้นิ้วมือแตะที่ปลายเท้าเพื่อดูว่าหลังสองข้างของผู้ป่วยสูงต่ำเท่ากันหรือไม่ รวมถึงดูระดับความเสมอกันของไหล่และสะโพก และลักษณะความคดของกระดูกสันหลัง

นอกจากนี้แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเอกซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของกระดูกสันหลัง เพื่อดูว่าอาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลางหรือไม่ และอาจพิจารณาให้ตรวจ MRI หากสงสัยว่ามีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย

> กลับสารบัญ


แนวทางรักษาโรคกระดูกสันหลังคด

สำหรับแนวทางรักษาในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้ 2 แบบหลักๆ ดังนี้คือ

  1. การรักษาโรคกระดูกสันหลังคดโดยไม่ต้องผ่าตัด แบ่งออกได้เป็น
    • ผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังคดอยู่ระหว่าง 20–25 องศา แพทย์จะแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสม และทำกายภาพบำบัด พร้อมนัดติดตามเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของแนวกระดูกทุก 6 เดือน ถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย
    • ผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดอยู่ระหว่าง 20-45 องศา แพทย์จะแนะนำการใส่เสื้อเกราะดัดหลัง (Brace) อย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อวัน ไปจนกว่าร่างกายจะหยุดการเจริญเติบโต เพื่อชะลอหรือป้องกันไม่ให้แนวกระดูกคดมากกว่าเดิม
  2. การรักษาโรคกระดูกสันหลังคดโดยการผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัด หากการรักษาด้วยวิธีการอื่นไม่ได้ช่วยชะลอความรุนแรงของโรค หรือผู้ป่วยมาพบแพทย์เมื่อมีกระดูกสันหลังคดอย่างรุนแรงตั้งแต่แรก และผู้ป่วยมีอาการปวดอย่างรุนแรงหรือโรคกระดูกสันหลังคดมีผลกระทบต่อระบบประสาท รวมทั้งผู้ป่วยที่มีมุมของกระดูกสันหลังคดมากกว่า 40 - 45 องศา เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการปวดทรมาน หายใจลำบาก โครงสร้างร่างกายเปลี่ยนแปลงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และมีแนวโน้มกระดูกคดเพิ่มขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในไม่ว่าจะเป็นปอดหรือหัวใจได้

ในการผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังคด แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดโดยใช้สกรูและแท่งโลหะเชื่อมข้อกระดูกสันหลังเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขให้แนวกระดูกสันหลังเป็นเส้นตรง พร้อมทั้งใช้ใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นำวิถี (O-arm Navigation) มาเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด ตั้งแต่ความแม่นยำในการวางตำแหน่งสกรู การแสดงตำแหน่งต่างๆ บริเวณที่ผ่าตัด โดยที่ศัลยแพทย์จะเห็นภาพ 3 มิติตลอดเวลาที่ทำการผ่าตัด ซึ่งทำให้ความแม่นยำในการใส่เครื่องมือเพิ่มมากถึง 99% ช่วยให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยและได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม

> กลับสารบัญ


ภาวะโรคกระดูกสันหลังคด ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นแบบไม่ทราบสาเหตุ ต้องอาศัยการสังเกต ตรวจคัดกรอง และหากตรวจยืนยันแล้วว่า มีกระดูกสันหลังคดควรรับการรักษาและติดตามอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากกระดูกสันหลังอาจคดมากขึ้น และเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีและในเวลาที่เหมาะสม ก็สามารถกลับมาใกล้เคียงภาวะปกติได้



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย