โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ภัยร้ายใกล้ตัว ที่คุณไม่ควรมองข้าม

ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความโดย : นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ภัยร้ายใกล้ตัว ที่คุณไม่ควรมองข้าม

มะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือว่าเป็นโรคที่อยู่ในอันดับต้นๆ ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด แต่หลายคนกลับมองว่าเป็นโรคที่ไกลตัว แต่แท้จริงแล้วโรคนี้ใกล้ตัวเรามาก แม้จะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ด้วยไลฟสไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป บวกกับกรรมพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งแล้ว อีกทั้งพฤติกรรมการทานอาหารในยุคปัจจุบัน ที่จะทำให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ได้ เพื่อที่จะได้ตระหนักถึงอันตรายและหันกลับมาดูแลรักษาสุขภาพของเราให้ดีมากยิ่งขึ้น ไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันดีกว่า



รู้จัก...โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ โรคที่เซลล์ปกติในลำไส้ใหญ่เกิดการกลายพันธุ์ มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเยื่อบุอย่างมากจนไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อเซลล์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็จะเกิดติ่งเนื้อหรือเนื้องอกขึ้นในลำไส้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ในระยะแรกๆ เซลล์อาจเป็นเพียงแค่เนื้องอกธรรมดา ที่อาจจะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่ก็ได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาหรือไม่ตัดทิ้ง เนื้องอกอาจเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็งได้ และหากกลายเป็นมะเร็ง เซลล์มะเร็งจะลุกลามไปยังชั้นกล้ามเนื้อและส่วนต่างๆ ของลำไส้ผ่านท่อน้ำเหลืองและหลอดเลือด และไปปรากฏยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

> กลับสารบัญ



ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

เนื่องจากสาเหตุของการเกิดมะเร็งยังไม่ทราบชัดเจน แต่สำหรับบางคนบางกลุ่ม อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าคนอื่น ได้แก่

  • ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารเนื้อแดง และเป็นเนื้อที่ผ่านการทอด ปิ้ง หรือย่างไหม้เกรียม
  • ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีไขมันและแคลอรี่สูง หรือรับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย
  • ผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะญาติสายตรง
  • ผู้ที่มีประวัติการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้
  • ผู้ที่มีปัญหาระบบขับถ่าย เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรัง
  • ผู้ที่สูบบุรี่ และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นประจำ
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน

> กลับสารบัญ


อาการที่บ่งชี้ว่าคุณกำลังเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • ปวดท้องเรื้อรัง ท้องอืด ท้องเฟ้อ บ่อยผิดปกติ และมักมีอาการปวดบริเวณท้องช่วงล่าง
  • มีอาการท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องผูกสลับท้องเสีย
  • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือถ่ายดำ ซีด โลหิตจาง
  • น้ำหนักลดผิดปกติ อ่อนเพลียอ่อนแรงแบบไม่มีสาเหตุ
  • คลำพบก้อนในท้องที่บริเวณท้องตอนล่าง
  • คลื่นไส้ เบื่ออาหาร

> กลับสารบัญ


การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ในการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้หลายวิธี โดยแพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติครอบครัว ประวัติส่วนตัว ตรวจร่างกายโดยทั่วไปแล้วจึงจะเข้าสู่การตรวจเฉพาะทางเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น

  1. ตรวจหาเลือดในอุจจาระ เป็นการตรวจจากตัวอย่างอุจจาระที่ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งถ้าหากมีเลือดปนอยู่ในอุจจาระก็แปลว่าภายในระบบทางเดินอาหารอาจมีเลือดออก แพทย์ก็จะส่งตัวให้ไปทำการตรวจอย่างละเอียดในขั้นต่อไป แต่ผู้รับการตรวจต้องงดเนื้อสัตว์และเลือด รวมทั้งวิตามินบำรุงเลือดอย่างน้อย 3 วัน
  2. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) โดยใช้กล้องพิเศษที่มีลักษณะเป็นท่อยาวเล็กๆ สอดผ่านทวารหนักเพื่อผ่านเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ทำให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดต่างๆ ตลอดทั้งลำไส้ใหญ่ส่วนต้นและส่วนปลายได้ อีกทั้งแพทย์สามารถตัดชิ้นเนื้อนั้นออกมาตรวจได้โดยตรง
  3. การตรวจทางรังสีวิทยา เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อประเมินระยะของโรคและเลือกระยะการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

> กลับสารบัญ



โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รักษาได้อย่างไรบ้าง

การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็ง ระยะของโรค รวมถึงสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยในขณะนั้นว่ามีความพร้อมและเหมาะสมกับวิธีใดมากที่สุด โดยทั่วไปแล้วการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ มีดังนี้

  1. รักษาด้วยการผ่าตัด การผ่าตัดถือเป็นวิธีการรักษาได้ในทุกระยะของโรคมะเร็ง แต่หากเป็นระยะแรกแพทย์จะทำการแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้อมะเร็งออกโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย
  2. รักษาด้วยการใช้รังสี จะใช้รักษาก่อนที่จะมีการผ่าตัด เพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็ง หรือให้หลังการผ่าตัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่
  3. รักษาด้วยการใช้เคมีบำบัด วิธีนี้จะใช้ร่วมกับการผ่าตัด โดยผู้ป่วยหลังจากได้รับการผ่าตัดแล้วก็จะต้องได้รับยาเคมีบำบัดเพิ่มเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่

> กลับสารบัญ


ทำอย่างไรเมื่อไม่อยากเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

แม้ว่าเราไม่สามารถทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรคนี้ได้ แต่เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ ดัง

  1. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันสูง เน้นรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ อาทิ ผัก และผลไม้
  2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  3. รับประทานเนื้อแดงให้น้อยลง
  4. งดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
  5. ดูแลระบบขับถ่ายให้เป็นปกติอยู่เสมอ
  6. เมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองโดยการส่องกล้องทุกๆ 5-10 ปี

> กลับสารบัญ


อาการเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นกับระบบขับถ่าย ก็อาจนำมาสู่การเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ดังนั้นหากคุณมีความผิดปกติ บวกกับมีปัจจัยเสี่ยงในข้างต้น ควรมาพบแพทย์ เพราะรู้ก่อน สามารถรักษาหายได้




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย