โรคหลอดเลือดในสมองตีบ ตัน รักษาไม่ทันอาจเป็นอัมพาต | รพ.นครธน
ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท
บทความโดย : นพ. ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา
อันตรายจากภาวะหลอดเลือดในสมองตีบ ตัน ผู้ที่เป็นมักมีอาการอย่างฉับพลัน บางรายถึงมือแพทย์ทันเวลาก็อาจรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่บางรายรักษาไม่ทันต้องกลายเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิต
หลอดเลือดในสมองตีบ ตัน เป็นอย่างไร?
เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดสมองอย่างหนึ่ง เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือตีบ มักเกิดขึ้นในคนสูงอายุ หรือมีไขมันสะสมในเลือดสูง โดยมักเป็นที่ละน้อยจนในที่สุด เมื่อหลอดเลือดตีบมาก หรือมีลิ่มเลือดไปอุดตัน จนไม่สามารถลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองได้ จึงทำให้เซลล์สมองตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยงเป็นสาเหตุของการเกิดอัมพาตครึ่งซีกที่พบได้บ่อย
ปัจจัยที่ทำให้เกิดหลอดเลือดในสมองตีบ ตัน
- กลุ่มที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจรูมาติก โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะไขมันในเลือดสูง
- กลุ่มที่เกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ขาดการออกกำลังกาย มีความเครียด
- ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ไม่สามารถป้องกันได้ ได้แก่ ผู้สูงอายุ เพศ มีประวัติโรคหลอดเลือดสมอง หรือประวัติการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตของคนในครอบครัว มีประวัติเคยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน เป็นต้น
อาการหลอดเลือดในสมองตีบ ตัน
อาการเบื้องต้นที่พบบ่อย ของผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ที่อาจทำให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ – อัมพาต ซึ่งอาจจะแสดงอาการออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการหลายอย่างพร้อมกัน ได้แก่
- มีอาการชาครึ่งซีก
- อ่อนแรงและหน้าเบี้ยว หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย พูดลำบาก หรือฟังไม่เข้าใจ
- ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน หรือตาข้างใดข้างหนึ่งมัว มองไม่เห็น หรือมีอาการคล้ายม่านบังตาที่เป็นฉับพลัน
- พูดไม่ออก หรือไม่เข้าใจ หรือพูดไม่ชัด ทันทีทันใด
- เวียนศีรษะ การทรงตัวไม่ดี เดินเซ กลืนลำบาก
- งุนงง เวียนศีรษะ หรือเสียการทรงตัว เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ ข้างต้น
การรักษาโรคหลอดเลือดในสมองตีบ ตัน
การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ โดยเฉพาะกรณีหลอดเลือดตีบ ตันในสมองฉับพลัน หากผู้ป่วยมีอาการไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงและพิจารณาความเหมาะสมของร่างกายผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด ทางหลอดเลือดดำ เพื่อละลายลิ่มเลือด หรือก้อนไขมันที่ปิดกั้นหลอดเลือดอยู่ออก ส่งผลให้หลอดเลือดที่อุดตันนั้นกว้างขึ้น ช่วยให้เลือดกลับไปเลี้ยงสมองอีกครั้ง
หากเส้นเลือดที่ตีบเป็นเส้นเลือดใหญ่สามารถใช้วิธีการใส่สายสวนลากลิ่มเลือด โดยการใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดงใหญ่พร้อมขดลวดที่ขาหนีบไปจนถึงจุดที่เกิดการอุดตัน แล้วดึงเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมองเพื่อเปิดรูของหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่
การป้องโรคหลอดเลือดในสมองตีบ ตัน กลับมาเป็นซ้ำ
การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การค้นหาความผิดปกติของร่างกายที่เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบ ตัน ด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีร่วมกับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
- ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนเกินไป
- รับประทานผัก ผลไม้ ป้องกันท้องผูก หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดทั้งหวาน เค็ม มัน
- เลิกสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายเพื่อทำให้หลอดเลือดแข็งแรง วันละ 30 นาทีขึ้นไป อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรรับยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- หากมีอาการผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ในบางรายอาจเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากสมองขาดเลือด แต่อย่างไรหากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ควรรอดูอาการแต่ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลได้เร็วจะสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันการณ์ ลดความเสี่ยงต่อความพิการและเสียชีวิตได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท