โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ปล่อยไว้นาน อันตรายถึงชีวิต
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล
หลายคนอาจเข้าใจว่าอาการปวดขา ปวดน่อง เป็นตะคริวบ่อยๆ ขณะเดินหรือออกกำลังกายเป็นเรื่องปกติที่อาจมาจากสาเหตุของกล้ามเนื้ออักเสบ หรือโรคกระดูกและข้อ แต่จริงๆ แล้วอาการเหล่านี้สัมพันธ์กับการอุดตันหรือมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดงส่วนปลายกีดขวางการไหลเวียนของเลือดไปที่ขา ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบเกิดขึ้น หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเสี่ยงโดนตัดขาได้ ทั้งนี้ในผู้ที่มีภาวะโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบนั้น แม้ว่าจะไม่มีประวัติอาการสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือโรคหลอดเลือดสมองตีบมาก่อน แต่ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้อย่างใกล้เคียงกัน
โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
หลอดเลือดแดงส่วนปลาย หมายถึง หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ยกเว้นหัวใจและสมอง เช่น หลอดเลือดแดงที่แขน ขา มือ เท้า ไต ในช่องท้อง ซึ่งหลอดเลือดแดงเหล่านี้มีหน้าที่เลี้ยงทั้งกล้ามเนื้อ กระดูก และระบบประสาท
โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral Arterial Disease) เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และทำให้หลอดเลือดแดงที่ขาตีบหรือตัน มีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอก่อให้เกิดอาการขาดเลือดไปที่ขา โดยสาเหตุสามารถเกิดได้จากผนังหลอดเลือดแดงมีแผนไขมันและ/หรือหินปูนพอกตัวหน้าขึ้น จนทำให้รูตรงกลางตีบแคบลง หรือมีภาวะลิ่มเลือดหลุดจากหัวใจหรือหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอกหรือช่องท้องมาอุดตันที่หลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ขา ซึ่งมักเกิดกับหลอดเลือดแดงของขาทั้ง 2 ข้าง แต่สามารถเกิดกับขาข้างเดียวก็ได้
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ได้แก่
- ผู้ที่มีภาวะ หรือโรคไขมันในเลือดสูง
- การสูบบุหรี่
- ผู้ที่มีความเสี่ยงจากโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน เป็นต้น
- ผู้ที่มีสารโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) ในเลือดสูง
- มีคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
- อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
อาการโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
อาการจากมีการตีบของหลอดเลือดแดงขาหรือขาขาดเลือด ซึ่งอาจไม่รุนแรงหรืออาจไม่สามารถสังเกตเห็นได้เลย สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
- อาการแบบเฉียบพลัน เกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดขาขึ้นมาทันทีทันใด ปวดตลอดเวลาแม้ในขณะพัก อาจมีอาการเหน็บชาและอาจตรวจพบผิวหนังซีด เย็น กล้ามเนื้ออ่อนแรงและคลำชีพจรที่ข้อเท้าไม่ได้
- อาการแบบเรื้อรัง เกิดขึ้นนานกว่า 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดขาเวลาเดิน บางรายมีอาการปวดเท้ามาก ขณะพักโดยเฉพาะเวลากลางคืน อาจตรวจพบเท้ามีสีคล้ำลง ผิวหนังรอบแผลมีสีดำ ตรวจคลำชีพจรที่ข้อเท้าไม่ได้ ผิวหนังเย็น ซีด และนิ้วเท้าเน่าตายแผล เรื้อรังที่ไม่หาย
การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบได้จาก ประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ พร้อมทั้งการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และอาจมีการตรวจพิเศษเพื่อเติม ได้แก่ การตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย หรือการตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือดแดงที่แขนเปรียบเทียบกับที่ข้อเท้า โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ABI (Ankle Brachial Index : ABI) เป็นการตรวจหาการตีบตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ขา เพื่อประเมินว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายหรือไม่ การตรวจไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด และทราบผลได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการตรวจ
การรักษาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
วิธีการรักษาโรคขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรงของการตีบตันของหลอดเลือด การรักษาทำได้ตั้งแต่การรับประทานยา เช่น ยาลดคอเลสเตอรอล ยาความดันโลหิตสูง ยาควบคุมน้ำตาลในเลือด ยาควบคุมการอุดตันของเลือด ยาบรรเทาอาการ พร้อมกับการออกกำลังกาย เพื่อช่วยกระตุ้นให้หลอดเลือดแดงขาเกิดหลอดเลือดแดงใหม่ชดเชยหลอดเลือดแดงที่ตีบไป
กรณีที่เป็นมากขึ้น จะทำหัตถการทางการแพทย์เพื่อขยายหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดแดงที่ตีบ ด้วยบอลลูนหรือใส่อุปกรณ์ถ่างขยายที่ทำจากขดลวด (Stent) เพื่อเปิดหลอดเลือดและเพิ่มการไหลเวียนของเลือด กรณีที่มีความจำเป็นหรือโรครุนแรงมาก อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดบายพาสเพื่อเชื่อมต่อหลอดเลือด โดยใช้หลอดเลือดจากส่วนอื่นๆ ของร่างกายเพื่อส่งเสริมการไหลเวียนของเลือดที่ดีขึ้น
โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ และการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หากมีอาการปวดเท้า ปวดน่อง โดยเฉพาะเวลาเดินหรือออกกำลังกายให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ