คำถามส่วนใหญ่ที่ได้ยินบ่อยๆ เมื่อคุณพ่อคุณแม่พาลูกน้อยมาพบแพทย์ด้วยอาการทางเดินหายใจผิดปกติ ก็คือลูกน้อยจำเป็นต้องได้รับการพ่นยาหรือไม่? แล้วทางเลือกการรักษาระหว่างกินยากับพ่นยา มีความแตกต่างกันอย่างไร? นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ก็มาพร้อมกับข้อกังวลว่าใช้ยาพ่นบ่อยๆ จะปลอดภัยจริงหรือ วันนี้เรามาไขข้อสงสัยเหล่านี้กัน
ยาพ่น กับ ยากิน แตกต่างกันอย่างไร?
ยาพ่น เป็นรูปแบบยาชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับสูดพ่นผ่านทางปากและจมูกเข้าสู่ทางเดินหายใจโดยตรง โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมหรือบรรเทาอาการผิดปกติต่างๆ เกี่ยวกับทางเดินหายใจโดยตรง แบ่งเป็น
- ยาพ่นในระยะเฉียบพลัน เป็นยาที่ช่วยขยายหลอดลมเพื่อรักษาอาการหอบ หืด หลอดลมอักเสบ หรืออาจเป็นยาลดการอักเสบ เพื่อลดการบวมอักเสบของเส้นเสียง และหลอดลม
- ยาพ่นในระยะควบคุม ช่วยลดการอักเสบของหลอดลม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหอบหืดกำเริบในระยะยาว โดยมากจะใช้วิธีการยาพ่นผ่านเครื่องพ่นยา (nebulizer) วิธีนี้จะเหมาะกับเด็กทุกวัย ใช้ง่าย ไม่เจ็บตัว โดยเครื่องจะเปลี่ยนยาน้ำให้กลายเป็นละอองน้ำโดยใช้ออกซิเจนทำให้แตกตัวเป็นละอองน้ำละเอียดเล็กๆ เหมือนควันเพื่อให้สามารถสูดดมเข้าไปในทางเดินหายใจได้ง่าย
ยากิน มีทั้งเม็ดและน้ำ ซึ่งดีในแง่สะดวก ไม่ต้องสอนวิธีใช้ ทุกคนทำได้ไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น กระบอกพ่นยา เครื่องพ่น แต่ด้วยรูปแบบของยาจะออกฤทธิ์ได้ช้า เมื่อต้องการรักษาโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน หรือหากมีอาการหอบที่ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน การกินยาจึงไม่ใช้วิธีการรักษาที่ตอบโจทย์ทั้งหมด ข้อจำกัดของยากินอีกอย่าง คือ ยาเข้าไปในร่างกายจะมีผลต่อระบบอื่นๆ ของร่างกายด้วย เช่น ยาขยายหลอดลม นอกจากไปที่หลอดลม ยังมีฤทธิ์ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น มือสั่นได้
เมื่อไหร่ที่ลูกต้องใช้ยาพ่น
เมื่อลูกน้อยมีอาการหอบ หายใจเร็ว มีเสียงวี๊ดในทรวงอก การรักษาคือ การใช้ยาพ่นขยายหลอดลมทันที ร่วมกับให้ดม Oxygen หรือหากมีการไอมาก เสมหะเหนียวข้น เด็กไม่สามารถไอเอาเสมหะออกมาได้เอง แพทย์จะให้ทำการกายภาพ เคาะปอด ระบายเสมหะ รวมไปถึงอาจจะมีการใช้สายดูดเสมหะ (Suction) ในบางราย เด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหลอดลมตีบ จากหลอดลมอักเสบ หรือ ปอดบวม แพทย์อาจใช้ยาพ่น รักษาบรรเทาอาการให้ทุเลาลง
ส่วนในกรณีที่ต้องใช้ยาพ่นในระยะควบคุม (Controller) แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจ และวางแผนการรักษาให้ เช่น กรณีที่ไอเรื้อรังต้องใช้ยาขยายหลอดลมบ่อยๆ มีอาการเหนื่อยหอบ (Recurrent wheezing) ชอบไอตอนกลางคืน ไอหลังออกกำลังกาย หรือได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคหอบหืด หลอดลมไว
การออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันของยาพ่นและยากิน
ยาพ่น ออกฤทธิ์ได้ค่อนข้างรวดเร็ว สามารถขยายหลอดลมได้ภายในเวลา 5 - 15 นาที เนื่องจากยาเข้าสู่ทางเดินหายใจโดยตรงไม่ได้ผ่านอวัยวะอื่นใด และมีฤทธิ์อยู่นานประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้น ทำให้อาการไอ หรือแน่นหน้าอกของเด็กดีขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังมีผลช่วยให้เสมหะหรือน้ำมูกอ่อนตัวลงง่ายต่อการขับออกมาโดยการ ไอ จาม หรือสั่งออกมาการพ่นยา ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที
ส่วนยากินที่มีฤทธิ์ขยายหลอดลมจะอยู่นาน 4 -6 ชั่วโมง แต่ข้อเสียคือยาจะออกฤทธิ์ช้ากว่า เนื่องจากต้องไปผ่านการย่อย การดูดซึม เข้ากระแสเลือดกระจายไปทั่วร่างกาย เหลือไปถึงหลอดลมจริงๆ เพียงนิดเดียว
ใช้ยาพ่นบ่อยๆ ปลอดภัยไหม
การใช้ยาพ่นจะมีความปลอดภัย เนื่องจากปริมาณของการใช้ยาพ่นในแต่ละครั้งต่ำกว่ายากิน เพราะยาออกฤทธิ์โดยตรงที่หลอดลม ในขณะที่ยากิน 1 ช้อนชา หรือ 1 เม็ด จะมีปริมาณยามากกว่า เพราะยาใช้ เวลาเดินทางนานกว่าและดูดซึมช้ากว่า ยาพ่นจึงปลอดภัยแม้จะต้องสูดหรือพ่นติดต่อกันหลายเดือนก็ตาม โดยตัวยาออกฤทธิ์เร็ว และ หมดฤทธิ์เร็ว ไม่มีผลทำให้ติด หรือดื้อยา หากพ่นในขนาดยาที่ถูกต้อง ปลอดภัยสูง ทั้งในระยะสั้นและไม่มีผลข้างเคียงในระยะยาว
ยาทั้งสองแบบแม้ว่าจะมีวิธีการใช้ที่ต่างกัน รูปแบบต่างกัน แต่หัวใจสำคัญที่เหมือนกัน คือ การบรรเทารักษาอาการหรือโรคที่เป็นอยู่ให้หาย สำหรับเด็กเล็กที่มีอาการเกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ การใช้ยาพ่นขยายหลอดลม เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ดีและปลอดภัย ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูก หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นควรรีบมาพบแพทย์ อย่างไรก็ตามการพ่นยาในแต่ละครั้ง แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจ และวางแผนการรักษาให้ ในรายที่ต้องพ่นยาบ่อยๆ ไอเรื้อรัง แนะนำให้มาพบกุมารแพทย์เฉพาะทางโรคปอด หรือ ภูมิแพ้ เพราะลูกอาจเป็นภูมิแพ้ โรคหอบหืด โดยไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือการรักษาที่เหมาะสม เพื่อควบคุมอาการในระยะสั้น และเพื่อควบคุมสมรรถภาพของปอดให้ดีในระยะยาวอีกด้วย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก