ไข้สมองอักเสบเจอี ภัยร้ายที่มาพร้อมยุง ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : พญ. ธิดารัตน์ แก้วเงิน

ไข้สมองอักเสบเจอี ภัยร้ายที่มาพร้อมยุง ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

เชื้อโรคที่แฝงตัวมากับยุงที่เป็นตัวพาหะ นอกจากโรคไข้เลือกออกแล้ว ยังมีอีกโรค คือ โรคไข้สมองอักเสบเจอี ถือว่าเป็นภัยเงียบที่อันตราย เพราะในรายที่แสดงอาการ มักเป็นอาการทางสมองในระดับที่รุนแรงแล้ว และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้


โรคไข้สมองอักเสบเจอี…อันตรายถึงชีวิต

โรคนี้ทำให้เกิดการอักเสบของระบบสมองส่วนกลาง ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เป็นผลให้มีอัตราการตายสูง และก่อให้เกิดความพิการทางสมองในผู้ที่รอดชีวิต ส่วนใหญ่มักจะเป็นในเด็ก พบมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งประเทศไทย โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แจแปนีส เอ็นเซฟฟาไลติส หรือเชื้อไวรัสเจอี (Japanese encephalitis: VIRUS JEV) โดยมียุงรําคาญเป็นพาหะนําโรค


อาการและอาการแสดงของโรค

ผู้ติดเชื้อไวรัสเจอีส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ แต่ถ้ามีอาการมักรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต โดยอาการและอาการแสดงของโรคแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก จะมีอาการประมาณ 1-6 วัน เริ่มต้นด้วยไข้สูงร่วมกับอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ระยะสองสมองอักเสบเฉียบพลัน ยังคงมีไข้สูงลอยและเริ่มมีอาการระคายเคืองของเยื่อหุ้มสมอง มีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัว มีอาการชักเกร็ง ซึม หมดสติ หรือบางรายอาจเป็นอัมพาตครึ่งซีกและความผิดปกติของเส้นประสาทสมอง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักเสียชีวิตในระยะนี้ ระยะสามหรือระยะฟื้นโรค ในระยะนี้ไข้จะลดลงสู่ปกติ และอาการทางสมองจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่แม้ว่าผู้ป่วยจะรอดชีวิตก็มักมีความพิการทางสมองหลงเหลืออยู่ เช่น เกร็ง อัมพาตของแขนขา สติปัญญาต่ำลง พูดไม่ชัด มีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ บุคลิกภาพเปลี่ยนไป บางรายเป็นโรคลมชัก เป็นต้น


ไม่มียารักษา…ป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน

ยังไม่มียาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์เฉพาะสำหรับโรคนี้ ทำได้เพียงรักษาตามอาการและประคับประคอง แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีมี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนที่ทำจากเชื้อที่ตายแล้ว และวัคซีนที่ทำจากเชื้อมีชีวิตที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ (Live attenuated vaccine) วัคซีนทั้งสองชนิดมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง

เด็กทุกคนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (JEV) ซึ่งปัจจุบันจะเป็นชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ จำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรก ที่อายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 3-24 เดือน (ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน หากมีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนให้พิจารณาใช้วัคซีนเชื้อตาย) นอกจากนี้แนะนำ สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีอายุเกิน 1 ปี ที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรครวมถึงประเทศไทย และอยู่นานเกิน 1 เดือน ควรไปรับวัคซีนให้ครบตามกำหนดก่อนวันเดินทางอย่างน้อย 10 วัน

ถ้าเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายให้ฉีดรวม 3 เข็ม มีระยะห่างระหว่างเข็มคือ 4 สัปดาห์ และ 1 ปี ตามลำดับ ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนเชื้อตายมาก่อนแต่ยังไม่ครบ สามารถฉีดต่อด้วยวัคซีนชนิดเชื้อเป็นได้


ข้อควรระวังในการวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี

ผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีในครั้งก่อน หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากสาเหตุต่างๆ ผู้ที่รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่อยู่ในภาวะที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ห้ามฉีดวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ในกรณีเจ็บป่วยเรื้อรังเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ หรือมีภาวะชักภายใน 1 ปี ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ สำหรับผู้ที่มีไข้สูงหรือติดเชื้อรุนแรงให้เลื่อนการรับวัคซีน รอจนหายดีก่อนจึงค่อยมารับวัคซีนใหม่อีกครั้ง


อาการข้างเคียงที่พบหลังฉีดวัคซีน

ด้านอาการข้างเคียงที่พบได้บ้างแต่มักไม่รุนแรงและหายได้เองใน 1-2 วัน ได้แก่ ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด อาการอื่นๆ เช่น มีไข้ เกิดผื่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร เป็นต้น หากมีอาการปวด บวม บริเวณที่ฉีดวัคซีนให้ประคบเย็น หากมีไข้ต่ำๆ สามารถรับประทานยาลดไข้ได้ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติอื่นนอกเหนือจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์

ทั้งนี้ไม่มีใครทราบล่วงหน้าถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือการระบาดของโรคในพื้นที่อาศัย แต่ทุกคนป้องกันโรคได้ก่อน ด้วยการไปรับวัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ร่างกาย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ถือเป็นการป้องกันและลดอัตราการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี


Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย