ICSI (อิ๊กซี่) เพิ่มความสําเร็จในการตั้งครรภ์รักษาภาวะมีบุตรยาก
ศูนย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้
บทความโดย : นพ. องอาจ บวรสกุลวงศ์

"ทำไมถึงยังไม่มีลูก?" อาจเป็นคำถามที่สร้างแรงกดดันให้กับคู่รักที่เผชิญกับภาวะผู้มีบุตรยาก โดยคู่รักหลายคู่ต้องเผชิญกับภาวะมีลูกยาก ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางสุขภาพ ฮอร์โมน หรืออายุที่เพิ่มขึ้น ที่เกิดขึ้นทั้งฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง แต่ด้วยเทคโนโลยี ICSI (อิ๊กซี่) โอกาสในการมีบุตรสามารถเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งหลายคู่ที่ใช้วิธีนี้แล้วประสบผลสำเร็จสามารถมีลูกได้สมความตั้งใจ หากใครกำลังวางแผนมีเจ้าตัวน้อย กำลังมองหาการรักษาโดยการทำ ICSI สามารถปรึกษาแพทย์ได้ โดยศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้ โรงพยาบาลนครธน พร้อมบริการดูแลรักษาปัญหาภาวะผู้มีบุตรยากแบบครบวงจร ที่พร้อมนำพาความสุขมาสู่ครอบครัวของคุณ
สารบัญ
- ICSI คืออะไร ?
- ICSI (อิ๊กซี่) เหมาะกับใคร ?
- ICSI มีความแตกต่างจาก IVF อย่างไร?
- ขั้นตอนการทำอิ๊กซี่ (ICSI)
- ICSI มีข้อดีอย่างไร?
- การทำ ICSI เจ็บหรือไม่?
- การทำ ICSI ต้องใช้เวลานานแค่ไหน
- การปฏิบัติตัวหลังทำ ICSI
- ICSI มีโอกาสประสบความสำเร็จมากแค่ไหน
- ICSI ทางเลือกที่สำคัญสำหรับคู่รักที่มีบุตรยาก
- ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ICSI คืออะไร ?


ICSI คืออะไร? โดย ICSI (Intracytoplasmic sperm injection) หรือ อิ๊กซี่ คือ หนึ่งในวิธีทำเด็กหลอดแก้ว โดยการคัดเอาตัวอสุจิที่มีความแข็งแรงที่สุด ผสมกับไข่แบบเจาะจงด้วยเข็มขนาดเล็ก ซึ่งเป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย โดยมีเทคนิคการใช้อสุจิตัวที่แข็งแรงและเคลื่อนที่ดี 1 ตัวดูดเข้าไปในเข็มแก้วเล็ก ๆ แล้วใช้เข็มนั้นเจาะเข้าไปในไข่ฟองเดียวและฉีดอสุจิที่อยู่ในเข็มเข้าไปในไข่ เป็นการช่วยปฏิสนธิ ในรายที่มีจำนวนอสุจิน้อยมาก หรืออสุจิไม่สามารถเจาะเข้าไปในไข่เองได้ หรืออาจมีความหมายว่า เป็นวิธีการฉีดอสุจิเข้าไปในไข่โดยตรงเพื่อเพิ่มโอกาสการปฏิสนธิ การทำอิ๊กซี่ (ICSI) นั้นเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยคู่รักที่มีภาวะมีบุตรยากให้สามารถมีบุตรได้
ICSI (อิ๊กซี่) เหมาะกับใคร ?
- ฝ่ายชายมีปัญหาปริมาณอสุจิค่อนข้างน้อย อสุจิไม่สมบูรณ์ และการเคลื่อนที่ผิดปกติรุนแรง
- ฝ่ายชายเป็นหมัน หรือทำหมันแล้วแต่อยากมีลูกอีก แต่ยังคงสามารถนำอสุจิออกมาได้โดยการผ่าตัด
- ฝ่ายหญิงที่มีเปลือกไข่หนา อสุจิไม่สามารถเจาะผ่านเปลือกไข่เพื่อเข้าไปปฏิสนธิได้ ซึ่งจะใช้ในกรณีที่การทำเด็กหลอดแก้วธรรมดาแล้วไม่ได้ผล
- คู่สมรสที่มีปัญหาโรคทางพันธุกรรมที่ต้องได้รับการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน
- ผู้ที่มีปัญหามีบุตรยาก
- คู่สมรสที่ฝ่ายหญิงอายุมากกว่า 35 ปี
ICSI มีความแตกต่างจาก IVF อย่างไร?
การทํา ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) และ IVF (In Vitro Fertilization) เป็นเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ใช้ในการรักษาภาวะมีบุตรยาก ทั้งสองวิธีมีขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน แต่มีความแตกต่างกันในขั้นตอนการปฏิสนธิ โดย IVF มีวิธีการทำ คือ การนำไข่และเชื้ออสุจิไปไว้ในจานหลอดทดลอง เพื่อให้เกิดการผสมกันเอง ซึ่งวิธีนี้อาจเกิดปัญหาไข่กับเชื้ออสุจิไม่สามารถปฏิสนธิกันเองได้ ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ไข่หนาในสตรีที่มีอายุมาก อสุจิจึงไม่อาจเจาะไข่เพื่อทำการปฏิสนธิได้ แต่ในขณะที่การทําอิ๊กซี่ คือ จะเป็นการฉีดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงเข้าไปในไข่โดยตรง ทำให้สามารถเพิ่มโอกาสปฏิสนธิได้มากกว่า
ขั้นตอนการทำอิ๊กซี่ (ICSI)


การทำ ICSI เป็นกระบวนการปฏิสนธินอกร่างกายที่ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะสำหรับคู่รักที่มีภาวะมีบุตรยาก ไม่ว่าเกิดจากปัญหาสุขภาพ ทั้งสเปิร์มหรือไข่ ของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายโดยกระบวนการนี้มีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้
การกระตุ้นไข่
เข้าสู่กระบวนการกระตุ้นรังไข่ให้ฟองไข่โตพร้อมกันหลาย ๆ ใบ จะเริ่มกระตุ้นรังไข่ในวันที่ 2-3 ของรอบเดือน ด้วยการฉีดยาติดต่อประมาณ 8-10 วัน เพื่อกระตุ้นให้ไข่โตหลาย ๆ ใบ โดยปกติจะต้องการไข่จำนวน 8-15 ใบ
ตรวจติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่
แพทย์จะทำการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่ โดยใช้เครื่อง อัลตราซาวด์ ร่วมกับการประเมินระดับฮอร์โมน โดยการตรวจเลือดทุก 4-5 วัน เมื่อพบว่าขนาดของถุงไข่โตเต็มที่แล้ว แพทย์จะให้ฉีดยาฮอร์โมนให้ฟองไข่สมบูรณ์
กระบวนการเก็บไข่
หลังจากฟองไข่โตสมบูรณ์แล้ว โดยงดน้ำ งดอาหารก่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง จากนั้นทำการเจาะเก็บไข่ ภายใน 34-36 ชั่วโมง ผ่านทางช่องคลอด เมื่อได้เซลล์ไข่จะถูกนำออกมาทำความสะอาดในน้ำยาสำหรับเพาะเลี้ยง และเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำไปปฏิสนธิกับอสุจิ
เก็บอสุจิของฝ่ายชาย
โดยหลั่งอสุจิภายในภาชนะที่จัดไว้ จากนั้นน้ำเชื้อไปคัดกรองเพื่อเลือกตัวที่สมบูรณ์และแข็งแรงที่สุด แล้วนำมาปฏิสนธิกับไข่ในห้องปฏิบัติการ โดยนำเอาเชื้ออสุจิ 1 ตัว ฉีดเข้าไปในไข่ที่สมบูรณ์ โดยใช้เครื่องมือและกล้องที่มีความละเอียดมากภายในห้องปฏิบัติการ หากฝ่ายชายเคยทำหมัน หรือตรวจไม่พบตัวอสุจิ จำเป็นต้องเจาะดูดจากอัณฑะโดยตรง
เลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ
เลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ (Blastocyst Culture) โดยนำตัวอ่อนมาเลี้ยงภายในตู้เลี้ยงตัวอ่อน EmbryoScope Plus เป็นเครื่องเลี้ยงและติดตามการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ เพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการเลี้ยงตัวอ่อนให้มีความแข็งแรงปลอดภัยยิ่งขึ้น จนถึงระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) คือ ระยะเวลา 5 วัน ซึ่งเป็นระยะที่ตัวอ่อนมีความสมบูรณ์และแข็งแรง แล้วจึงค่อยใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวและเกิดการตั้งครรภ์ ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้มากขึ้น
ทั้งนี้ก่อนการย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูก จะมีตรวจพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนย้ายกลับ จะช่วยให้คู่สมรสมีโอกาสเลือกตัวอ่อนที่ปลอดภัย หรือโครโมโซมปกติย้ายกลับสู่โพรงมดลูก และยังช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ ต่อรอบการใส่ตัวอ่อนอีกด้วย
ทั้งนี้ก่อนการย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูก จะมีตรวจพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนย้ายกลับ จะช่วยให้คู่สมรสมีโอกาสเลือกตัวอ่อนที่ปลอดภัย หรือโครโมโซมปกติย้ายกลับสู่โพรงมดลูก และยังช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ ต่อรอบการใส่ตัวอ่อนอีกด้วย
ย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูก
การใส่ตัวอ่อนกลับคืนสู่โพรงมดลูก จะทำโดยการใช้หลอดพลาสติกเล็ก ๆ สอดผ่านทางช่องคลอดปากมดลูกและเข้าไปในโพรงมดลูก แล้ววางตัวอ่อนลงไปภายใต้การอัลตราซาวด์ดูตำแหน่งที่เหมาะสม วิธีการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่
- รอบสด คือ เมื่อนำไปเลี้ยงตัวอ่อนครบ 3-5 วัน แพทย์จะย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูกรอบเดียวกับการกระตุ้นไข่
- รอบแช่แข็ง คือ เป็นการย้ายตัวอ่อนในรอบถัดไป ซึ่งตัวอ่อนจะสามารถเก็บแช่แข็งไว้ได้นานถึง 5-10 ปี
ตรวจการตั้งครรภ์
หลังจากใส่ตัวอ่อนไปแล้ว 9-11 วัน แพทย์จะนัดเจาะเลือดตรวจหาระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยตรวจปัสสาวะเพื่อการตั้งครรภ์เอง เนื่องจากอาจมีความผิดพลาดได้

ICSI มีข้อดีอย่างไร?


การทำอิ๊กซี่ ถือเป็นวิธีการทำลูก และแนวทางที่จะช่วยรักษาผู้มีบุตรยากที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหากลงลึกในรายละเอียดจะพบว่ามีข้อดี ดังนี้
- ลดความเสี่ยงทารกมีความผิดปกติ โดยสามารถตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนฝังเข้าสู่มดลูก ลดโอกาสเกิดโรคทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม ธาลัสซีเมีย เป็นต้น
- ICSI โอกาสสําเร็จในการเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ ด้วยเทคนิค ICSI เป็นการฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในไข่โดยตรง ทำให้สามารถเพิ่มโอกาสปฏิสนธิได้มากกว่า การทำ IVF
- สามารถเก็บไข่ ICSI และน้ำเชื้อก่อนทำได้นานถึง 10 ปี โดยฝากไข่เก็บแช่แข็งเอาไว้ สามารถนำมาใช้ในอนาคตได้โดยไม่ต้องกระตุ้นไข่ใหม่ เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตรในอนาคต หรือผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาที่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ เช่น รักษาด้วยเคมีบำบัด การฉายแสง เป็นต้น
- สามารถเก็บตัวอ่อนได้เป็นเวลานาน ตัวอ่อนที่ได้รับการปฏิสนธิสามารถแช่แข็งไว้ได้เป็นเวลานานและนำมาใช้ในภายหลัง หากการตั้งครรภ์ครั้งแรกไม่สำเร็จ สามารถนำตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้มาทดลองย้ายตัวอ่อนใหม่ได้โดยไม่ต้องกระตุ้นไข่อีก
การทำ ICSI เจ็บหรือไม่?
การทำ ICSI โดยทั่วไปกระบวนการส่วนใหญ่ไม่เจ็บมาก หรือเจ็บเล็กน้อย เพราะมีการใช้ยาชาหรือยาระงับความเจ็บปวดในบางขั้นตอน เช่น การฉีดยากระตุ้นไข่ ขั้นตอนการเก็บไข่ เป็นต้น และอาจมีอาการปวดหรือไม่สบายเล็กน้อย คล้ายปวดประจำเดือน หลังเก็บไข่หรือย้ายตัวอ่อน ซึ่งอาการดังกล่าวจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน หากมีความกังวลเรื่องความเจ็บปวด สามารถปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาแก้ปวดเพิ่มเติมได้
การทำ ICSI ต้องใช้เวลานานแค่ไหน
การทำ ICSI จะใช้เวลาทั้งกระบวนการประมาณ 4-6 สัปดาห์ นับตั้งแต่การเริ่มตรวจร่างกาย, ตรวจฮอร์โมนในเลือด, ฉีดยากระตุ้นไข่ประมาณ 8-10 วัน, กระบวนการเก็บไข่, เก็บอสุจิฝ่ายชาย, การผสมตัวอ่อนด้วยวิธีการ ICSI, การเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ 5 วัน โดยมีการตรวจพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนย้ายกลับ และขั้นตอนสุดท้าย คือ ย้ายตัวอ่อนกลับโพรงมดลูก หลังจากใส่ตัวอ่อนไปแล้ว 9-11 วัน แพทย์จะนัดเจาะเลือดตรวจหาระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์
การปฏิบัติตัวหลังทำ ICSI
หลังจากใส่ตัวอ่อนฝ่ายหญิง ควรนอนพักอย่างน้อย 15-20 นาที ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์และไม่ควรสวนล้างช่องคลอด ไม่ออกกำลังกายหักโหมหรือยกของหนัก ๆ เพราะอาจมีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนได้ ควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีอาการผิดปกติ ต้องเข้าพบแพทย์ทันที
ICSI มีโอกาสประสบความสำเร็จมากแค่ไหน
อัตราที่จะเกิดความสำเร็จของแต่ละคู่นั้นอาจแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งสภาวะร่างกายและความพร้อมของแต่ละบุคคล โดยเฉลี่ยทุกช่วงอายุก็มีโอกาสตั้งครรภ์ถึง 40-50% หากอายุไม่เกิน 35 ปี ก็มีโอกาสสูงขึ้น สำหรับอายุเกิน 35 ปี ทำ ICSI พร้อมกับการตรวจคัดกรองโรคพันธุกรรมของตัวอ่อนด้วยวิธี NGS มีโอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จสูงมากถึง 73%
ICSI ทางเลือกที่สำคัญสำหรับคู่รักที่มีบุตรยาก
การทำเด็กหลอดแก้ว ICSI ถือเป็นเทคโนโลยีเพื่อการมีบุตรยากที่ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์มากที่สุดในปัจจุบัน สำหรับคู่รักที่สนใจหรือมีข้อมูลที่อยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้วอิ๊กซี่ (ICSI) ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้ โรงพยาบาลนครธนมีความพร้อม และมีบุคลากรทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และการรักษามีบุตรยากไว้รองรับและคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษา สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมก่อนได้ เรายินดีให้บริการ
ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:
- - Website : https://www.nakornthon.com
- - Facebook : Nakornthon Hospital
- - Line : @nakornthon
- - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


นพ.องอาจ บวรสกุลวงศ์
สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้