การทำเด็กหลอดแก้ว ทางเลือกการรักษาภาวะมีลูกยาก

ศูนย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้

บทความโดย : นพ. องอาจ บวรสกุลวงศ์

การทำเด็กหลอดแก้ว ทางเลือกการรักษาภาวะมีลูกยาก

การทำเด็กหลอดแก้วนับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ที่กำลังประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากในการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ บางคู่รักอาจจะยังลังเลว่าเทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้วที่ว่านี้มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และควรเตรียมตัวอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางสำหรับครอบครัวที่กำลังแพลนอยากมีเจ้าตัวน้อย ลองไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกันได้เลย


ทำความรู้จักการทำเด็กหลอดแก้ว

เด็กหลอดแก้ว ถือกำเนิดครั้งแรกของเด็กหลอดแก้วในปี 1978 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการรักษาภาวะมีบุตรยากสมัยใหม่และอัตราการตั้งครรภ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยวิธีการปฏิสนธิของเซลล์ไข่ภายนอกร่างกาย เพื่อช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ทั้งนี้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์อาจทำได้หลายวิธี เช่น การปฏิสนธินอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว (IVF) และ การช่วยปฏิสนธิโดยวิธีฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่ (ICSI) ที่เป็นการรักษาอย่างแพร่หลายทั่วไปในปัจจุบัน และได้มีการปรับปรุงพัฒนาให้ได้ผลสำเร็จที่สูงขึ้นและมีค่าใช้จ่ายคุ้มค่ามากกว่า

> กลับสารบัญ


การเตรียมตัวก่อนทำเด็กหลอดแก้ว

  • ก่อนทำเด็กหลอดแก้ว จะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพดูความสมบูรณ์ของร่างกายทั้งฝ่ายชายและหญิง เช่น การตรวจเลือดหาความเสี่ยงต่างๆ เกี่ยวกับพันธุกรรม การตรวจคุณภาพน้ำเชื้อในผู้ชาย เป็นต้น
  • บำรุงร่างกาย ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
  • ออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมทั้งได้รับควันบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • พักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน และไม่ควรเครียดจนเกินไป
  • ฝ่ายชาย หลีกเลี่ยงการปั่นจักรยาน แช่น้ำอุ่นหรือการทำซาวน่า และหลีกเลี่ยงการใส่กางเกงในที่รัดแน่นเกินไป
  • ฝ่ายหญิง รับประทานโปรตีนอย่างน้อยวันละประมาณ 60 มิลลิกรัม เพื่อให้ไข่มีคุณภาพดีและสมบูรณ์
  • ฝ่ายหญิง เตรียมผนังมดลูกให้พร้อมในการฝังไข่ โดยการรักษาสมดุลฮอร์โมน

> กลับสารบัญ


ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว มีดังนี้

  1. กระตุ้นรังไข่ให้ฟองไข่โตพร้อมกันหลายๆ ใบ โดยปกติจะเริ่มกระตุ้นรังไข่ในวันที่ 2-3 ของรอบเดือน ด้วยการฉีดยาติดต่อกันเฉลี่ยแล้วจะฉีดประมาณ 8-12 วัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยเอง โดยปกติจะต้องการไข่จำนวน 8-15 ใบ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้หญิงแต่ละคน) ซึ่งยาที่ใช้กระตุ้นไข่ในปัจจุบันเป็นยาชนิดที่มีความบริสุทธิ์ของยามากขึ้น ทำให้ฉีดได้ทางหน้าท้อง (จากเดิมฉีดเข้าสะโพก) เป็นการลดความเจ็บปวดจากการฉีดยาได้
  2. ตรวจติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่ เมื่อกระตุ้นไข่ด้วยยาแล้ว แพทย์จะทำการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่ โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ ร่วมกับการประเมินระดับฮอร์โมน โดยการตรวจเลือดเป็นระยะ เมื่อพบว่าขนาดของถุงไข่โตเต็มที่แล้ว แพทย์จะให้ฉีดยาฮอร์โมน ซึ่งจะไปเหนี่ยวนำให้เกิดการสมบูรณ์ของฟองไข่ หลังจากนั้นจะทำการเจาะเก็บไข่ภายใน 34-36 ชั่วโมง เพื่อดูดเอาเซลล์ไข่ออกมาเตรียมปฏิสนธิภายนอกร่างกาย
  3. เจาะเก็บไข่ การเจาะเก็บไข่ผ่านทางช่องคลอด (ไม่มีแผลหน้าท้อง) ทำโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์บอกตำแหน่ง แล้วใช้เข็มเล็กๆ เจาะไข่ออกมาจากรังไข่ ซึ่งการเจาะใช้เวลาไม่นาน และแพทย์จะให้ยานอนหลับขณะเก็บไข่ เพื่อลดความเจ็บปวดขณะเจาะเก็บไข่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหารก่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยตื่นก็สามารถกลับบ้านได้ ส่วนเซลล์ไข่จะถูกนำออกมาทำความสะอาดในน้ำยาสำหรับเพาะเลี้ยง และเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำไปปฏิสนธิกับอสุจิ
  4. เก็บน้ำเชื้อของฝ่ายชาย ในวันที่ฝ่ายหญิงเจาะเก็บฟองไข่ ฝ่ายชายต้องมาเพื่อเก็บเชื้ออสุจิสำหรับปฏิสนธิ โดยหลั่งอสุจิภายในภาชนะที่จัดไว้ ซึ่งเป็นภาชนะปราศจากเชื้อ จากนั้นมาทำความสะอาดและคัดเลือกตัวที่แข็งแรง ก่อนจะนำมาปฏิสนธิกับไข่ในห้องปฏิบัติการที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความดัน ความชื้น และแสง โดยใช้เวลาเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกร่างกายทั้งหมด 3-5 วัน กรณีที่สามีไม่สามารถมาเก็บอสุจิในวันเจาะไข่ได้ อาจนัดมาเก็บล่วงหน้าแล้วทำการเก็บแช่แข็งไว้ เพื่อเตรียมละลายเชื้อแช่แข็งมาทำปฏิสนธิในวันเจาะเก็บไข่ต่อไป
  5. เลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ เมื่อได้ตัวอ่อนแล้ว โดยทั่วไปจะทำการเพาะเลี้ยงเป็นระยะเวลา 3-5 วัน ในห้องปฏิบัติการที่ควบคุมปัจจัยที่เหมาะสมกับตัวอ่อนในบางรายที่มีข้อบ่งชี้อาจมีการตรวจโครโมโซมเพื่อหาความผิดปกติของตัวอ่อน และแพทย์จะเลือกตัวอ่อนที่มีความสมบูรณ์ในการนำย้ายกลับสู่โพรงมดลูกต่อไป
  6. ย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูก การใส่ตัวอ่อนกลับคืนสู่โพรงมดลูก จะทำโดยการใช้หลอดพลาสติกเล็กๆ สอดผ่านทางช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูก แล้ววางตัวอ่อนลงไปภายใต้การอัลตราซาวด์ดูตำแหน่งที่เหมาะสม ทั้งนี้ขณะใส่ตัวอ่อน คนไข้จะรู้สึกตัวตลอดเวลา และไม่มีความเจ็บปวดใดๆ เมื่อใส่ตัวอ่อนเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะให้นอนพักอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนกลับบ้าน และเมื่อถึงบ้านให้นอนพัก ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการออกกำลังกายช่วงท้องน้อยหรือหน้าขา และงดการมีเพศสัมพันธ์ ที่สำคัญคือ การใช้ยาสำหรับสอดช่องคลอดและยาฮอร์โมนรับประทานตามคำสั่งของแพทย์ทุกวันจนถึงวันนัด และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
  7. ตรวจการตั้งครรภ์ หลังจากใส่ตัวอ่อนไปแล้ว 9-11 วัน แพทย์จะนัดเจาะเลือดตรวจหาระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยตรวจการตั้งครรภ์เอง เนื่องจากอาจมีความผิดพลาดได้

> กลับสารบัญ


อย่างไรก็ตาม อัตราที่จะเกิดความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้วของแต่ละคู่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งสภาวะร่างกายและความพร้อมของแต่ละบุคคลด้วย ทั้งนี้สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้เลย




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย