เด็กหลอดแก้ว อิ๊กซี่ ICSI เพิ่มความสําเร็จในการตั้งครรภ์กับ โรงพยาบาลนครธน
ศูนย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้
บทความโดย : นพ. องอาจ บวรสกุลวงศ์
การทำเด็กหลอดแก้ว อิ๊กซี่ (ICSI) หลายคู่ที่ใช้วิธีนี้แล้วประสบผลสำเร็จสามารถมีลูกได้สมความตั้งใจ ซึ่งวิธีทำอิ๊กซี่ (ICSI) เป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดการตั้งครรภ์ หากใครกำลังวางแผนมีเจ้าตัวน้อย สามารถปรึกษาแพทย์ได้ โดยศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร ของโรงพยาบาลนครธน ให้บริการดูแลรักษาปัญหาภาวะผู้มีบุตรยากแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจการทำอิ๊กซี่ (ICSI) มากขึ้นว่ามีขั้นตอนอย่างไร ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกันเลย
สารบัญ
เด็กหลอดแก้ว อิ๊กซี่ (ICSI) คืออะไร ?
การทำเด็กหลอดแก้ว อิ๊กซี่ (ICSI, Intracytoplasmic sperm injection) คือ การคัดเอาตัวอสุจิที่มีความแข็งแรงที่สุด ผสมกับไข่แบบเจาะจงด้วยเข็มขนาดเล็ก ซึ่งเป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย โดยมีเทคนิคการใช้อสุจิตัวที่แข็งแรงและเคลื่อนที่ดี 1 ตัวดูดเข้าไปในเข็มแก้วเล็กๆ แล้วใช้เข็มนั้นเจาะเข้าไปในไข่ฟองเดียวและฉีดอสุจิที่อยู่ในเข็มเข้าไปในไข่ เป็นการช่วยปฏิสนธิ ในรายที่มีจำนวนอสุจิน้อยมาก หรืออสุจิไม่สามารถเจาะเข้าไปในไข่เองได้ หรืออาจมีความหมายว่า เป็นวิธีการฉีดอสุจิเข้าไปในไข่โดยตรงเพื่อเพิ่มโอกาสการปฏิสนธิ การทำอิ๊กซี่ (ICSI) นั้นเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยคู่รักที่มีภาวะมีบุตรยากให้สามารถมีบุตรได้
เด็กหลอดแก้ว อิ๊กซี่ (ICSI) เหมาะกับใคร ?
- ฝ่ายชายมีปัญหาปริมาณอสุจิค่อนข้างน้อย อสุจิไม่สมบูรณ์ และการเคลื่อนที่ผิดปกติรุนแรง
- ฝ่ายชายเป็นหมัน หรือทำหมันแล้วแต่อยากมีลูกอีก แต่ยังคงสามารถนำอสุจิออกมาได้โดยการผ่าตัด
- ฝ่ายหญิงที่มีเปลือกไข่หนา อสุจิไม่สามารถเจาะผ่านเปลือกไข่เพื่อเข้าไปปฏิสนธิได้ ซึ่งจะใช้ในกรณีที่การทำเด็กหลอดแก้วธรรมดาแล้วไม่ได้ผล
- คู่สมรสที่มีปัญหาโรคทางพันธุกรรมที่ต้องได้รับการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน
- ผู้ที่มีปัญหามีบุตรยาก
- คู่สมรสที่ฝ่ายหญิงอายุมากกว่า 35 ปี
การทำเด็กหลอดแก้ว อิ๊กซี่ (ICSI) มีขั้นตอนดังนี้
1. การกระตุ้นไข่
หลังจากฝ่ายหญิงมาตรวจเพื่อดูความพร้อมของร่างกายว่าเหมาะสมกับการทำอิ๊กซี่ (ICSI) แล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการกระตุ้นรังไข่ให้ฟองไข่โตพร้อมกันหลายๆ ใบ จะเริ่มกระตุ้นรังไข่ในวันที่ 2-3 ของรอบเดือน ด้วยการฉีดยาติดต่อกันเฉลี่ยแล้วจะฉีดประมาณ 8-10 วัน เพื่อกระตุ้นให้ไข่โตหลายๆ ใบ ซึ่งมากกว่าจำนวนไข่ที่ตกในแต่ละรอบเดือนตามธรรมชาติ โดยปกติจะต้องการไข่จำนวน 8-15 ใบ
2. ตรวจติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่
แพทย์จะทำการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่ โดยใช้เครื่อง อัลตราซาวด์ ร่วมกับการประเมินระดับฮอร์โมน โดยการตรวจเลือดทุก 4-5 วัน เมื่อพบว่าขนาดของถุงไข่โตเต็มที่แล้ว แพทย์จะให้ฉีดยาฮอร์โมน ซึ่งจะไปเหนี่ยวนำให้เกิดการสมบูรณ์ของฟองไข่
3. กระบวนการเก็บไข่
หลังจากฟองไข่โตสมบูรณ์แล้ว จะทำการเจาะเก็บไข่ภายใน 34-36 ชั่วโมง ผ่านทางช่องคลอด โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์บอกตำแหน่ง แล้วใช้เข็มเล็กๆ เจาะไข่ออกมาจากรังไข่ ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหารก่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เมื่อได้เซลล์ไข่จะถูกนำออกมาทำความสะอาดในน้ำยาสำหรับเพาะเลี้ยง และเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำไปปฏิสนธิกับอสุจิ
4. เก็บอสุจิของฝ่ายชาย
เก็บอสุจิของฝ่ายชาย โดยหลั่งอสุจิภายในภาชนะที่จัดไว้ จากนั้นน้ำเชื้อไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรองอสุจิเพื่อเลือกตัวที่สมบูรณ์และแข็งแรงที่สุด แล้วนำมาปฏิสนธิกับไข่ในห้องปฏิบัติการ โดยนำเอาเชื้ออสุจิ 1 ตัว ฉีดเข้าไปในไข่ที่สมบูรณ์ โดยใช้เครื่องมือและกล้องที่มีความละเอียดมากภายในห้องปฏิบัติการ หากฝ่ายชายเคยทำหมัน หรือตรวจไม่พบตัวอสุจิ จำเป็นต้องเจาะดูดจาดอัณฑะโดยตร
5. เลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ
เลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ หรือ การเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกร่างกาย (BLASTOCYST CULTURE) เมื่อได้ตัวอ่อนแล้ว โดยทั่วไปจะทำการเพาะเลี้ยงเป็นระยะเวลา 3-5 วัน ในห้องปฏิบัติการที่ควบคุมปัจจัยที่เหมาะสมกับตัวอ่อน ที่ปลอดเชื้อโดยการควบคุมอุณหภูมิ แสงสว่าง ความชื้นและแรงดัน ตัวอ่อนจะถูกเลี้ยงในน้ำยาพิเศษที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ภายในตู้เลี้ยงตัวอ่อนที่มีอุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรด-ด่าง และก๊าซ ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งกระบวนการเลี้ยงตัวอ่อนนี้จะเป็นกระบวนการเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับสภาวะภายในร่างกายมากที่สุด จนถึงระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) คือ ระยะเวลา 5 วัน ซึ่งเป็นระยะที่ตัวอ่อนมีความแข็งแรง แล้วจึงค่อยใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวและเกิดการตั้งครรภ์ ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้มากขึ้น
ทั้งนี้ก่อนการย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูก นักวิทยาศาสตร์จะเลือกตัวอ่อนโดยการสังเกตพัฒนาการของตัวอ่อน และเลือกตัวอ่อนนั้นจะมาตรวจพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนย้ายกลับ หรือ พีจีที (PGT) ก่อน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ สามารถเลือกตัวอ่อนจากผลการตรวจอย่างละเอียดในระดับโครโมโซมและระดับยีน เพื่อคัดกรองตัวอ่อนที่พันธุกรรมผิดปกติออกไป สำหรับการตรวจ PGT จำเป็นต้องมีการตัดและดึงเซลล์ของตัวอ่อนในระยะวันที่ 5 หรือเรียกว่า ระยะบลาสโตซีสท์ ซึ่งในระยะนี้ตัวอ่อนมีเซลล์เป็นร้อยเซลล์หรือมากกว่า จึงสามารถดึงเซลล์ 5-10 เซลล์จากโทรเฟคโตเดิร์ม (trophectoderm) ของตัวอ่อนซึ่งจะเจริญต่อเป็นรก เพื่อนำไปตรวจ
การใช้วิธีอิ๊กซี่ (ICSI) ร่วมกับการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน จะช่วยให้คู่สมรสมีโอกาสเลือกตัวอ่อนที่ปลอดภัย หรือโครโมโซมปกติ หรือมีเพียงยีนแฝงเท่านั้นในการย้ายกลับสู่โพรงมดลูก และยังช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ ต่อรอบการใส่ตัวอ่อนอีกด้วย
6. ย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูก
การใส่ตัวอ่อนกลับคืนสู่โพรงมดลูก จะทำโดยการใช้หลอดพลาสติกเล็กๆ สอดผ่านทางช่องคลอดปากมดลูกและเข้าไปในโพรงมดลูก แล้ววางตัวอ่อนลงไปภายใต้การอัลตราซาวด์ดูตำแหน่งที่เหมาะสม วิธีการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่
- รอบสด คือ เมื่อนำไปเลี้ยงตัวอ่อนครบ 3-5 วัน แพทย์จะย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูกรอบเดียวกับการกระตุ้นไข่
- รอบแช่แข็ง คือ เป็นการย้ายตัวอ่อนในรอบถัดไป ซึ่งตัวอ่อนจะสามารถเก็บแช่แข็งไว้ได้นานถึง 5-10 ปี
ทั้งนี้การย้ายตัวอ่อนรอบสดหรือรอบแช่แข็ง แพทย์จะดูความเหมาะสมจากสภาวะของฮอร์โมนและโพรงมดลูกในรอบกระตุ้นไข่ ว่าสามารถใส่ตัวอ่อนกลับได้หรือไม่ หรือในกรณีที่ต้องการตรวจโครโมโซมของตัวอ่อน จำเป็นต้องแช่แข็งตัวอ่อนระหว่างรอผลโครโมโซม
7. ตรวจการตั้งครรภ์
หลังจากใส่ตัวอ่อนไปแล้ว 9-11 วัน แพทย์จะนัดเจาะเลือดตรวจหาระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยตรวจปัสสาวะเพื่อการตั้งครรภ์เอง เนื่องจากอาจมีความผิดพลาดได้
การปฏิบัติตัวหลังการใส่ตัวอ่อน
หลังจากใส่ตัวอ่อนฝ่ายหญิง ควรนอนพักอย่างน้อย 15-20 นาที ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์และไม่ควรสวนล้างช่องคลอด ไม่ออกกำลังกายหักโหมหรือยกของหนักๆ เพราะอาจมีผลต่อการฝักตัวของตัวอ่อนได้ ควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีอาการผิดปกติ ต้องเข้าพบแพทย์ทันที
การทำเด็กหลอดแก้ว อิ๊กซี่ (ICSI) ถือเป็นเทคโนโลยีเพื่อการมีบุตรยากที่มีโอกาสท้องมากที่สุดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามอัตราที่จะเกิดความสำเร็จของแต่ละคู่นั้นอาจแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งสภาวะร่างกายและความพร้อมของแต่ละบุคคล หากอายุไม่เกิน 35 ปี ก็มีโอกาสตั้งครรภ์ถึง 40-50% สำหรับอายุเกิน 35 ปี และตรวจโครโมโซม มีโอกาสการตั้งครรภ์สูงขึ้น ประมาณ 50-75%
สำหรับคู่รักที่สนใจหรือมีข้อมูลที่อยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้วอิ๊กซี่ (ICSI) ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร โรงพยาบาลนครธนมีความพร้อม และมีบุคลากรทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไว้รองรับและคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษา สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมก่อนได้ เรายินดีให้บริการค่ะ
ทีมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ
นพ.นภดล ใยบัวเทศ
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้
ความชำนาญพิเศษ : สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
นพ.ภัทรภูมิ โพธิ์พงษ์
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้
ความชำนาญพิเศษ : สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
พญ.วรัญญา สิริธนาสาร
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้
ความชำนาญพิเศษ : สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
นพ.องอาจ บวรสกุลวงศ์
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้
ความชำนาญพิเศษ : สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
นพ.นิทัศน์ จตุปาริสุทธิ์
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้
ความชำนาญพิเศษ : สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
พญ.สิตานัน เลิศศิริพาณิชย์
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้
ความชำนาญพิเศษ : สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
แพ็กเกจ/โปรโมชั่น
บทความทางการแพทย์ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้