แนะเทคนิคการดูแลตัวเองง่ายๆ ในแบบเวชศาสตร์ชะลอวัย

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพนครธน

บทความโดย :

แนะเทคนิคการดูแลตัวเองง่ายๆ ในแบบเวชศาสตร์ชะลอวัย

ในเวชศาสตร์ชะลอวัยเชื่อว่า ความชราไม่ได้เกิดจากอายุหรือเวลาที่เพิ่มชึ้นเพียงอย่างเดียว แต่มีต้นเหตุและปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้คนเราก้าวสู่ความชราไม่เท่ากัน หากเรารู้ถึงสาเหตุและวิธีป้องกันหรือปรับสมดุลก็จะสามารถชะลอความชราหรือป้องกันสภาวะความเสื่อม ความเจ็บป่วยบางอย่างไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคตได้ ดังนั้นมาดูเทคนิคการดูแลตัวเองง่ายๆ ในแบบเวชศาสตร์ชะลอวัยกันเลยค่ะ

ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนว่า การดูแลตัวเองในแบบเวชศาสตร์ชะลอวัย คือ การดูแลร่างกายของเราจนถึงในระดับเซลล์ให้มีสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด (Optimal Health) ทั้งในด้านสารอาหาร กรดอะมิโน วิตามิน เกลือแร่ ฮอร์โมน สารสื่อประสาท สารแอนตี้ออกซิเดนท์ เมื่อเซลล์หรืออวัยวะในร่างกายของเรามีระดับสารเหล่านี้อยู่ในระดับที่สมบูรณ์สูงสุด ร่างกายก็จะทำงานได้อย่างเต็มที่และการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ การป้องกันตัวเองจากความเสื่อม การถูกทำลายจากมลภาวะต่างๆ ก็จะทำได้อย่างเต็มที่ โอกาสที่เซลล์จะเสื่อมสภาพบาดเจ็บหรือสึกหรอก็จะลดน้อยลง

ทั้งนี้ คำว่า “เวชศาสตร์ชะลอวัย” หมายถึง ศาสตร์ทางการแพทย์แขนงหนึ่งที่เน้นในการป้องกันก่อนการเกิดโรค มุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไข้เป็นหลัก เพื่อปรับเข้าสู่ภาวะสมดุล ในขณะที่ “เวชศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพ” จะเน้นในการซ่อมแซม ฟื้นฟูสุขภาพที่เสื่อมไปแล้วหรือว่ามีโรคที่เกิดขึ้นแล้ว โดยเป้าหมายสูงสุดของเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพก็คือ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดอายุขัยนั่นเอง

ส่วนเทคนิคการดูแลสุขภาพแบบเวชศาสตร์ชะลอวัย ง่ายๆ ได้แก่หลัก 3 อ. คือ อาหาร อากาศ อารมณ์ นั่นเอง ทั้ง 3 อ. นี้จะต้องดูแลให้ดี นอกจากนี้ยังเพิ่มเรื่องการออกกำลังกาย การเอนนอน ฮอร์โมนและการดื่มน้ำ เข้าไปให้มีสัดส่วนสมดุลกันด้วย ไม่อย่างนั้น ความชรา (Aging หรือ Ageing ) อาจจะถามหาได้ ซึ่งความชราที่ว่านี้เป็นผลสะสมของความเสื่อมสภาพที่มีต่อเซลล์ในร่างกาย ซึ่งนำไปสู่ความเจ็บป่วยและความตาย


สาเหตุหลักๆ ของความชราตามหลักวิทยาศาสตร์ มี 7 ประการ

  1. อนุมูลอิสระ ปกติแล้วมนุษย์เราหายใจเข้าไปเพื่อเอาออกซิเจนไปเผาผลาญอาหารที่เรารับประทานเข้าไปให้เป็นพลังงาน นอกจากพลังงานแล้ว ออกซิเจนที่เหลือจะเป็นอิเล็กตรอนอิสระทำปฏิกิริยากับเซลล์อื่นๆ ทำให้เกิดความเสื่อมสภาพหยุดทำงานตายหรือเป็นมะเร็งได้
  2. ภาวะพร่องฮอร์โมน เมื่อคนเราอายุมากขึ้นฮอร์โมนต่างๆ ที่ร่างกายเคยสร้างก็จะสร้างน้อยลงเรื่อยๆ เช่น ผู้หญิงพอเข้าวัยทอง ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ผู้หญิงก็จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจและกระดูกพรุนมากขึ้น
  3. การอักเสบเรื้อรัง ก็ทำให้ร่างกายเสื่อมได้ คือ ในคนที่อ้วนมีไขมันสะสมเยอะ เซลล์ไขมันจะปล่อยสารอักเสบออกมาทำให้หลอดเลือดอักเสบ พอหลอดเลือดอักเสบก็จะมีไขมันไปเกาะที่หลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและก็เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจหลอดเลือดและสมองตีบได้
  4. ภาวะน้ำตาลสะสม คือ เกิดจากการที่เรารับประทานน้ำตาล หรืออาหารจำพวกแป้งมากๆ พอถูกย่อยกลายเป็นน้ำตาลไปแล้ว น้ำตาลจะไปทำปฏิกิริยากับโปรตีนในร่างกาย ทำให้โปรตีนหรือเซลล์ในร่างกายเสื่อมสภาพ เหมือนเอาเนื้อไปแช่ในน้ำหวานนานๆ เนื้อก็แปรสภาพก็ทำให้เซลล์เสื่อม
  5. การสะสมของสารพิษ จากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เราต้องสัมผัส เช่น ควันบุหรี่ รังสี สารเคมี โลหะหนัก ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป พวกสารพิษต่างๆ จะไปสะสมที่เซลล์ ทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติ
  6. ภาวะเป็นกรด ในทุกๆ วันร่างกายจะมีการสร้างกรด ส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่เรารับประทาน (โปรตีนสูง) และอีกส่วนหนึ่งมาจากการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน ร่างกายจะปรับสมดุลของกรดเหล่านี้ให้กลับสู่ปกติโดย ตับจะทำหน้าที่เปลี่ยนกรดบางชนิดให้เป็นด่าง ปอดจะช่วยขับกรดออกจากร่างกายในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์และไตจะขับกรดออกทางปัสสาวะในรูปของแอมโมเนีย ดังนั้นภาวะเป็นกรดจะส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ทำงานหนักขึ้นและเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ
  7. ภาวะเสื่อมสภาพของเซลล์ต้นกำเนิด หรือที่เรียกว่า สเต็มเซลล์ จะสังเกตได้ว่าเมื่ออายุมากขึ้นเวลาที่ไม่สบายจะหายช้า ไม่เหมือนตอนที่เป็นเด็ก เพราะเซลล์ต้นกำเนิดของเราหรือสเต็มเซลล์มีการเสื่อมสภาพลง การซ่อมแซมก็น้อยลงกว่าปกติ

ดังนั้นเมื่อรู้สาเหตุของความชราแล้ว ก็ควรหาวิธีหลีกเลี่ยง และนำเทคนิคการดูแลสุขภาพแบบเวชศาสตร์ชะลอวัยไปปฏิบัติกัน เพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดอายุขัย


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย