การตรวจการนอนหลับที่บ้าน สะดวก ไม่ต้องเดินทาง
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพนครธน
บทความโดย : พญ. ณัฐกา กาญจนพนัง
สารบัญ
การตรวจการนอนหลับที่บ้านเป็นอย่างไร
การตรวจการนอนหลับที่บ้าน (Home sleep test) เป็นการตรวจการนอนหลับนอกสถานที่ระดับ 3 หรือการตรวจการนอนหลับแบบคัดกรอง (Sleep Screening) โดยเป็นการตรวจวัดข้อมูลการนอนหลับ 4-7 สัญญาณ ใช้เพื่อการวินิจฉัยในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นระดับความรุนแรงตั้งแต่ปานกลางขึ้นไป โดยเน้นพิเศษเฉพาะระบบหัวใจ การหายใจ อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) เป็นหลัก นอกจากนี้ยังอาจใช้ในการตรวจติดตามผลการรักษาหลังการผ่าตัด การลดน้ำหนัก หรือเครื่องมือในช่องปากได้
ตรวจสัญญาณอะไรบ้าง
การตรวจการนอนหลับที่บ้านจะมีการตรวจวัดสัญญาณต่างๆ คล้ายกับการตรวจการนอนหลับในโรงพยาบาล แต่จะไม่มีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลูกตา (EOG) กล้ามเนื้อคาง (Chin EMG) และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) โดยใช้เครื่องตรวจแบบพกพา มีขนาดเล็กกะทัดรัด สามารถลุกเดินได้ตามอิสระ โดยที่ไม่ต้องถอดอุปกรณ์ออก
จะใช้เวลาในการตรวจวัดช่วงกลางคืน อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการหลับ ของคนทั่วไป จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้ ส่งให้ แพทย์ หรือ sleep lab เพื่อ ทำการวิเคราะห์และ นำไปสู่การรักษาต่อไป ซึ่งข้อมูลที่บันทึกมีดังต่อไปนี้
- ลักษณะลมหายใจที่ผ่านเข้าออก (Airflow) โดยตรวจวัดร่วมกับการเคลื่อนไหวของทรวงอก เพื่อหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- เสียงกรน (Snore) เป็นการตรวจว่ามีการกรนเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด
- การเคลื่อนไหวของทรวงอก (Chest Respiratory effort)
- การเคลื่อนไหวของช่องท้อง (Abdominal Respiratory effort)
- ระดับออกซิเจนในเลือด (Oxygen saturation) เพื่อดูว่าขณะนอนหลับ สมองและหัวใจมีการขาดออกซิเจนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
- ชีพจร (Pulse) หรือ อัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate)
- ท่าทางการนอน (Body position) เข่น นอนหงาย ตะแคงซ้าย ขวา
ผู้ที่เหมาะกับการตรวจการนอนหลับที่บ้าน
- ผู้ที่มีปัญหา นอนกรน หรือ โรคหยุดหายใจขณะหลับเป็นหลัก
- ผู้มีอาการง่วงนอนกลางวันมากผิดปกติ ทั้งๆ ที่ได้นอนอย่างเพียงพอแล้ว
- ผู้มีอาการหายใจลำบาก
- ผู้ที่เคลื่อนไหว หรือมาโรงพยาบาลไม่สะดวก
- ผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย
ข้อจำกัดในการตรวจการนอนหลับที่บ้าน
การตรวจการนอนหลับที่บ้าน จะไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือกสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต จิตเวช รวมไปถึง
- ผู้ที่มีอายุมากเกิน 70 ปี
- ผู้ที่มี BMI เกิน 30 ขึ้นไป
- ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ข้อดีของการตรวจการนอนหลับที่บ้าน
- สะดวกสบาย ประหยัดเวลาและการเดินทาง
- การตรวจที่บ้านจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและหลับได้ดีกว่าการตรวจในโรงพยาบาล ทำให้ได้ข้อมูลการนอนที่เชื่อถือได้ เนื่องจากผู้ตรวจได้ตรวจในสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย
- ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับการนอนตามปกติของคุณ
- ไม่ต้องรอนาน ไม่ต้องรอคิว
- อุปกรณ์เป็นเครื่องวัดแบบพกพา (Portable) ไม่จำเป็นต้องมีคนเฝ้า ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรต่างๆ ได้ตามปกติ สามารถเข้าห้องน้ำได้
การตรวจการนอนหลับที่บ้าน เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการตรวจสุขภาพการนอนหลับ เพื่อหาภาวะการหยุดหายใจขณะหลับที่มาร่วมกับอาการนอนกรน ที่สามารถนอนหลับได้สนิทมากกว่า เพราะได้นอนในสถานที่ที่คุ้นเคย ทำให้ผลการตรวจใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่า อย่างไรก็ตามทุกวิธีการตรวจย่อมมีข้อดีและข้อจำกัด ดังนั้นเพื่อให้เกิดผลที่ดีที่สุด ผู้รับการตรวจควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านก่อนเพื่อตรวจประเมินและพิจารณาว่า ผู้ป่วยแต่ละรายจะเหมาะสมกับการตรวจการนอนหลับแบบใดต่อไป สามารถปรึกาแพทย์ออนไลน์ได้เลย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพนครธน