การปฏิบัติตัวก่อนและหลังผ่าตัดต้อกระจก
ศูนย์ : ศูนย์จักษุ
สารบัญ
ต้อกระจก คืออะไร
ต้อกระจก (Cataract) เกิดจากการขุ่นของเลนส์แก้วตา (Lens) ในลูกตา ทำให้แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปในตาได้ตามปกติ การมองเห็นภาพมีลักษณะคล้ายเป็นหมอกหรือควันขาว ๆ และมักจะเป็นจากความเสื่อมสภาพของเลนส์ตาที่อายุมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่กำเนิด หรืออาจจะเกิดจากอุบัติเหตุที่ดวงตา ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ตามัวมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมองไม่เห็นในที่สุด
สาเหตุการเกิดต้อกระจก
- ภาวะเสื่อมตามวัยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
- การได้รับแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลตเข้าตาเป็นเวลานาน ๆ
- การมีโรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ
- โรคประจำตัวที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
- อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาบางชนิด เช่น โดนลูกขนไก่พุ่งเข้าตา
- การเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา เช่น มีเศษเหล็กกระเด็นเข้าตา
- ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น เด็กแรกเกิดที่มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์
- การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์
อาการต้อกระจกเป็นอย่างไร
- ตาจะค่อย ๆ มัวลงเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ เริ่มมองเห็นไม่ชัดเจน
- อาการตาพร่ามัวจะมากขึ้นเมื่ออยู่กลางแดด หรือแสงจ้า
- สู้แสงไม่ได้ หรือเห็นภาพซ้อน
- มีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะ
- มีฝ้าขาวบริเวณกลางรูม่านตา
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต้อกระจก
- เนื่องจากขณะทำผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องนอนราบไม่หนุนหมอนและถูกคลุมผ้าที่ใบหน้า เปิดเฉพาะตาข้างที่ผ่าตัด ดังนั้นผู้ป่วยควรลองฝึกทำที่บ้าน เพื่อให้เกิดความเคยชิน เวลาที่ฝึกนานประมาณ 30 - 45 นาที
- กรณีที่แพทย์สั่งยาหยอดตาฆ่าเชื้อหรือยานอนหลับให้ใช้ตามแพทย์สั่ง
- ยาที่ต้องงดก่อนผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาหยอดตาที่ต้องงด เช่น ปิโลคาร์ปีน
- ในวันที่ผ่าตัด อาบน้ำ สระผม ฟอกหน้าและตา ให้สะอาดระวังไม่ให้สบู่เข้าตา จะทำให้แสบตา ตาแดง ระคายเคืองตา
- ไม่แต่งหน้า ทาปาก ทาเล็บ
- สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ควรเป็นเสื้อผ่าหน้าตลอด (มีกระดุมด้านหน้า ไม่ควรเป็นเสื้อสวมจากทางศีรษะ)
- รับประทานอาหารตามปกติ ยกเว้นผู้ที่เป็นเบาหวานต้องเจาะน้ำตาลในเลือดก่อนไปรับประทานอาหาร (ระดับน้ำตาลไม่ควรเกิน 180 มก% ถ้าเกินแพทย์จะพิจารณาเลื่อนการผ่าตัด )
- ไม่นำของมีค่า เครื่องประดับติดตัวไปโรงพยาบาล ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด
- ถ้ามีอาการไข้หวัด ไอ จาม ไข้สูง หรือเป็นโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง หัวใจ หอบหืด ฯลฯ โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่และนำยาที่ผู้ป่วยใช้ประจำมาด้วย
เตรียมตัวอย่างไรในวันผ่าตัด
ในวันผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมตัว ดังนี้
- วัดความดันโลหิต
- ตัดขนตาหรือไม่ตัด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา
- หยอดยาฆ่าเชื้อ ยาขยายม่านตา และให้รับประทานยา
- ให้ผู้ป่วยฝากของมีค่าไว้กับญาติ รวมทั้งฟันปลอม(ถ้ามี)
- ให้ผู้ป่วยใส่เสื้อผ้าและสวมหมวกของโรงพยาบาล
- ปีสสาวะให้เรียบร้อย ห้ามกลั้นปัสสาวะ
- แพทย์จะหยอดยาชา ฉีดยาชาตาข้างที่ผ่าตัด เมื่อยาชาออกฤทธิ์ จะเริ่มทำการผ่าตัดต้อกระจก
ขณะผ่าตัดต้อกระจก
ขณะผ่าตัด จะมีผ้าคลุมหน้า ผู้ป่วยจะอึดอัด ขอให้อดทนเนื่องจากสำคัญมาก ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือ โดยไม่พูดนอนนิ่งๆ ไม่สะบัดหน้า ไม่เกร็งตัว ปล่อยตัวตามสบาย หายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ ห้ามไอ จาม ถ้าจำเป็นให้บอกแพทย์เพื่อหยุดการผ่าตัดชั่วคราว
การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 25 - 45 นาที ขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัด เมื่อแพทย์ผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วจะปิดก๊อซที่ตา และใช้ฝาครอบตาปิดทับอีกชั้นหนึ่ง และย้ายผู้ป่วยออกจากห้องผ่าตัด เปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วกลับบ้านได้
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดต้อกระจก
หลังผ่าตัดต้อกระจกควรปฏิบัติตัวประมาณ 3-4 สัปดาห์ เพื่อรอให้แผลหาย ดังนี้
- วันแรกหลังผ่าตัด ห้ามเปิดตา จะเริ่มใช้ยาหยอดตาเมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจตาแล้ว พร้อมกับเช็ดตาวันละครั้งตอนเข้าหรือเช็ดตาอีกเมื่อมีอาการคันตา
- ยารับประทาน เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวด ยานอนหลับรับประทานได้เลยหลังผ่าตัดเสร็จ ตามขนาดที่เขียนไว้ที่ซองยา
- รับประทานอาหารได้ตามปกติ ยาที่งดก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัดวันแรกให้รับประทานได้ปกติ
- การนอน ควรนอนหงาย ถ้าเมื่อยนอนตะแคงได้ ถ้าหายควรกลับมานอนหงาย
- การใช้ผ้าปิดตา จะใช้เฉพาะวันแรก หลังผ่าตัด ให้ใส่แว่นตากันลม ฝุ่น ในตอนกลางวัน ส่วนกลางคืน ให้ใส่ฝาครอบตา
- ฝาครอบตาสำคัญมากโดยเฉพาะเวลานอน ป้องกันการเผลอขยี้ตาและการกระเทกที่ตา สำหรับการผ่าตัดต้อกระจกแบบใช้ อัลตราซาวด์ ต้องครอบตานาน 4 สัปดาห์ ส่วนการผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้างต้องครอบตานาน 6 สัปดาห์ หรือขึ้นอยู่กับการหายของแผล
- ตอนกลางวันใส่แว่นตากันแดด แทนฝาครอบตาได้
- ไม่ให้น้ำทุกชนิดเข้าตา ยกเว้นยาหยอดตา
- ห้ามล้างหน้า ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดทำความสะอาดใบหน้า จนกว่าแพทย์จะอนุญาตให้โดนน้ำได้
- ควรนอนหงายให้ผู้อื่นสระผมให้เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าตา ควรปิดผ้าก๊อซและครอบตาขณะสระผม ภายหลังสระผม ควรเปลี่ยนผ้าก๊อซปิดตาใหม่
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การเกร็งหรือเบ่ง
- ห้ามก้มลงเก็บของ หรือก้มต่ำกว่าระดับเอว เพราะอาจกะระยะไม่ถูก ทำให้ตาถูกกระแทกจนเกิดอันตรายหรือเลนส์เคลื่อนได้
- สามารถออกกำลังกายเบาๆ ที่ไม่กระทบกระเทือนตา เช่น การเดิน และควรระวังไม่ให้เหงื่อเข้าตา
- ผู้ที่เคยสวมแว่นสายตาสั้น สายตายาว หลังผ่าตัดต้อกระจกจะใช้แว่นเดิมไม่ได้ ถ้าใช้ต้องปิดผ้าก๊อซตา ข้างที่ผ่าตัด
- เดินทางได้ตามปกติ ระมัดระวังอุบัติเหตุ หรือเวลาเดินขึ้นลงบันได อาจก้าวผิดหรือหกล้ม เนื่องจากการกะระยะผิด
- ห้ามขยี้ตา ไอ จาม แรงๆ เบ่งแรงๆ หรือเคี้ยวอาหารที่แข็งและเหนียวมากๆ ถ้าจำเป็น เมื่อไอ จาม ควรอ้าปากให้ลมออกจากปาก ควรรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันท้องผูก
- หลีกเลี่ยงฝุ่น ควัน และลมแรงๆ ไม่ให้เข้าตา
- อาบน้ำ แปรงฟันได้ตามปกติ
- ใช้สายตาดูหนังสือ ทีวีได้ตามปกติ แต่ควรพักสายตาเป็นระยะ ๆ โดยละสายตาจากการดูใกล้ มองไปไกลๆ หรือพักหลับตาสักครู่ จึงอ่านหนังสือ หรือดูทีวีต่อ
- ในระยะ 1 - 2 เดือน หลังผ่าตัด แพทย์จะนัดตรวจเป็นระยะๆ เมื่อแผลหาย และตาข้างที่ผ่าตัดแข็งแรงดีแล้ว แพทย์อาจไม่นัดอีก แต่ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจสายตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หาศมีโรคตาอื่นๆ เกิดขึ้น จะได้รับการรักษาทันท่วงที
- ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ตามัวลง ปวดตา ตาแดงมากขึ้น น้ำตาไหล มีขี้ตมาก ยาหยอดตาหมดหรือหาย ควรพบแพทย์ก่อนวันนัด
อย่างไรก็ตามโรคต้อกระจก ไม่มียารักษาให้เลนส์ตากลับมาใสเหมือนเดิมได้ แต่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ด้วยการผ่าตัดนำเลนส์แก้วตาที่ขุ่นมัวออกแล้วใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปทดแทน โดยวิธีสลายต้อด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์ (Phacoemulsification)
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์จักษุ