เมื่อดวงตาเกิดอาการผิดปกติเกิดขึ้นและไม่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ จักษุแพทย์จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุภายในตาแทน โดยการตรวจอวัยวะภายในตา เช่น จอตา น้ำวุ้นตา ขั้วประสาทตา ทั้งหมดนี้ต้องใช้กล้องที่มีแสงไฟส่องสว่างผ่านรูม่านตา โดยการหยอดยาขยายม่านตา ซึ่งจะทำให้จักษุแพทย์สามารถมองเห็นอวัยวะที่อยู่หลังม่านตาเหล่านี้ได้ เพื่อวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้ละเอียดมากขึ้น
สารบัญ
รูม่านตา คืออะไร
รูม่านตา คือ รูกลมที่อยู่ตรงกลางของม่านตามีหน้าที่ควบคุมปริมาณแสงเข้าสู่ดวงตาของเราเปรียบเทียบเสมือนรูรับแสงของกล้องถ่ายรูป เมื่อรูรับแสงกว้างก็รับแสงเข้ากล้องได้ดีขึ้น ขนาดรูม่านตาอยู่ที่ 3-5 มม. สองข้างมักมีขนาดเท่ากันหรือต่างกันไม่เกิน 1 มม. หากลองส่องไฟฉายไปที่ดวงตามองผ่านกระจกตาเข้าไป จะพบรูกลม ๆ ตรงกลางของม่านตาสีน้ำตาลนั่นเอง
ทำไมต้องขยายม่านตา
โดยปกติ รูม่านตาของคนเราจะปรับแสงที่ผ่านเข้าตา ตามความเหมาะสมโดยอัตโนมัติ เช่น เข้าที่มืดรูม่านตาจะปรับขยายโตขึ้นให้แสงเข้ามากขึ้น แต่เวลาอยู่ในที่สว่างก็จะปรับรูม่านตาเล็กลง ให้แสงเข้าน้อยลงเมื่อพบแพทย์ต้องใช้เครื่องมือที่มี ส่องแสงผ่านรูม่านตา เพื่อตรวจสภาพภายในลูกตา ซึ่งการตรวจสภาพภายในลูกตานั่นย่อมทำได้ลำบาก เนื่องจากรูมานตาที่หดเล็กลง จึงต้องมีการขยายรูม่านตาให้ค้างไว้เพื่อความสะดวกในการตรวจ การทำให้ม่านตาขยาย อีกวิธีคือ ใช้ยาหยอดขยายม่านตาจะขยายได้มากกว่า
การขยายม่านตามีประโยชน์อย่างไร แพทย์ตรวจดูอะไรหลังม่านตา
เมื่อแพทย์ใช้เครื่องมือส่องผ่านรูม่านตาที่ขยายแล้ว แพทย์จะตรวจ
- ตรวจเรื่องของสภาพจอประสาทตา ได้แก่ มีจอประสาทตาบวม เบาหวานที่จอประสาทตา เลือดออกที่จอประสาทตา ก้อนเนื้องอกภายในลูกตาหรือไม่ เป็นต้น
- ตรวจสภาพของน้ำวุ้นลูกตาว่ายังใส หรือมีการอักเสบ หรือมีเลือดออกหรือไม่
- ตรวจสภาพของเลนส์ตาทั้งชิ้นว่ามีความขุ่นขนาดใด (ต้อกระจก)
- ช่วยในการผ่าตัดภายในดวงตา เช่น ผ่าตัดต้อกระจก ยิงเลเซอร์รักษาโรคจอตา เป็นต้น
ขั้นตอนการตรวจ
แพทย์ใช้ยา 1-2 ชนิดแล้วแต่กรณี หยอดตาเป็นระยะๆ ทุก 5-10 นาที ซึ่งระหว่างนั้นผู้ป่วย ควรนั่งหลับตา เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาหยอดยาประมาณ 45 นาที ม่านตาจะขยายได้เต็มที่ หลังจากแพทย์ทำการตรวจเสร็จแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ แต่ฤทธิ์ของยาขยายม่านตาจะอยู่นานประมาณ 4-6 ชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยมองไม่ชัด ตาพร่า แสบตาจากแสงจ้า เมื่อยาหมดฤทธิ์ ม่านตาจะกลับเข้าสู่สภาพเดิม การมองเห็นก็จะกลับสภาพปกติก่อนตรวจ
คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการขยายม่านตา
- ในวันที่มาตรวจขยายม่านตา ควรมีญาติมาเป็นเพื่อน
- ไม่ควรขับรถ หากมีแว่นสีชาหรือสีดำกันแดด ควรติดมาด้วย
- หลังจากการขยายม่านตาแล้ว หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดตา ตาแดง คลื่นไส้ ให้รีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเกิดภาวะความดันลูกตาขึ้นสูงเฉียบพลัน ในรายที่มีภาวะต้อหินมุมปิดอยู่แล้ว
การขยายม่านตา มีความจำเป็นในตรวจตาเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคของจักษุแพทย์ และจำเป็นในการผ่าตัดโรคทางตาบางโรคเช่นกัน สามารถสอบถามโดยปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้เลย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์จักษุ