การผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ แผลเล็ก เจ็บน้อย
ศูนย์ : ศูนย์จักษุ
บทความโดย : พญ. วิภาวี วงษ์ไชยคณากร
พออายุมากขึ้นความเสื่อมสภาพของร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะ “ดวงตา” ที่จะลดประสิทธิภาพการมองเห็นลง ซึ่งสังเกตได้ชัดเมื่ออายุเข้าสู่ช่วงวัย 40 ปี ปัญหาการมองไม่ชัด มัวเหมือนมีฝ้า หรือมองเห็นสีต่างๆ ผิดเพี้ยนไป ภาวะต้อกระจกเป็นอีกหนึ่งโรคทางตาซึ่งเกิดในผู้สูงอายุ หากพบว่าเป็นต้อกระจก การรักษาโดยเร็วและเหมาะสมจะช่วยให้สามารถกลับมามองเห็นได้ชัดอีกครั้ง
ต้อกระจก
เป็นภาวะที่เลนส์ตาขุ่น ทำให้แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปในตาได้ตามปกติ โดยระดับความมัวอาจกระทบต่อการมองเห็นภาพต่างๆ จนบางครั้งอาจเห็นเป็นภาพซ้อนได้ การมองเห็นภาพมีลักษณะคล้ายเป็นหมอกหรือควันขาวๆ และโดยส่วนใหญ่ 95% ขึ้นไป มักมาจากความเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามอายุที่มากขึ้น บางรายเริ่มเป็นเมื่ออายุเข้า 50 ปี บางรายเริ่มที่อายุ 60-70 ปี และในบางรายโรคต้อกระจกสามารถเกิดได้เร็วกว่าอายุปกติ เช่น ในกรณีที่เป็นโรคเบาหวาน หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
โรคต้อกระจกไม่มียารักษาให้เลนส์ตากลับมาใสเหมือนเดิมได้ แต่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ด้วยการผ่าตัดนำเลนส์แก้วตาที่ขุ่นมัวออกแล้วใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปทดแทน โดยวิธีสลายต้อด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์ (Phacoemulsification)
การตรวจประเมินก่อนผ่าตัดต้อกระจก
ก่อนเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก ผู้ป่วยจะต้องรับการตรวจสุขภาพร่างกาย และสุขภาพตาทั้งหมดอย่างละเอียด ดังนี้
- จักษุแพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับโรคทางร่างกาย และการใช้ยารักษาโรคประจำตัวอื่นๆ หรือยาที่ใช้ประจำ เนื่องจากยาบางประเภทควรหยุดก่อนการผ่าตัด เช่น ยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด ยาอื่นๆ ส่วนใหญ่ควรรับประทานตามปกติ
- ตรวจตาอย่างละเอียด เพื่อดูว่ามีโรคตาอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจมีผลต่อการรักษาหรือไม่ ดูว่าจอประสาทตาเสื่อมหรือไม่ ไม่มีภาวะจอประสาทตาลอก วัดความโค้งและความหนากระจกตา เพื่อตรวจว่ามีโรค หรือความผิดปกติของกระจกตา ที่จะเป็นข้อห้ามในการรักษาหรือไม่ เป็นต้น
- วัดขนาดเลนส์ตาเทียมที่จะใส่ เพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้องที่สุดไปคำนวณ และเลือกเลนส์ที่เหมาะสมกับดวงตาของผู้ป่วยมากที่สุด และให้ข้อมูลเรื่องเลนส์ตาเทียมที่เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยเลนส์ตาเทียมนี้ นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยกลับมามองได้จัดเจนแล้ว ยังสามารถเลือกเลนส์แก้ไขค่าสายตาได้อีกด้วย
วิธีการรักษาต้อกระจก
การรักษาต้อกระจกจะมีอยู่ 2 วิธีหลัก ดังนี้
1. การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์
เป็นวิธีการรักษาต้อกระจกโดยการนำคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์ (Phacoemulsification) ไปสลายต้อกระจกให้มีขนาดเล็กลงเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วดูดออก ไม่ต้องดมยาสลบ ใช้เฉพาะการหยอดยาชาที่ตาหรือฉีดยาชาเฉพาะที่เท่านั้น และเป็นการทำหัตถการด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยจึงมีความปลอดภัยสูง ซึ่งวิธีนี้จะไม่ต้องรอจนต้อสุกแบบวิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบเดิม โดยมีขั้นตอนดังนี้
1.1 จักษุแพทย์จะเปิดช่องเล็กๆ ที่ขอบตาดำประมาณ 2.4 - 3 มิลลิเมตร แล้วสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไปที่ตัวต้อกระจก โดยเปิดถุงหุ้มเลนส์เป็นวงกลม และปล่อยพลังงานคลื่นเสียงความถี่สูงเท่าหรืออัลตราซาวด์ เข้าสลายต้อกระจกจนหมด
1.2 จากนั้นจักษุแพทย์จะใส่เลนส์ตาเทียมที่ทำการเลือกให้เหมาะสมกับดวงตาของผู้ป่วยไว้แล้ว เข้าไปแทนในถุงหุ้มเลนส์เดิม
1.3 แผลก็มีขนาดเล็กมาก จึงไม่ต้องเย็บแผล เจ็บน้อย ใช้เวลาในการทำหัตถการน้อยเพียง 1 ชั่วโมง สายตาจะใช้งานได้เร็วในวันรุ่งขึ้น โอกาสติดเชื้อมีน้อยมากและไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล
2. วิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง เป็นการผ่าตัดแบบวิธีดั้งเดิมที่ใช้ในกรณีที่ต้อกระจกสุก และแข็งตัวมาก จนไม่เหมาะ หรือไม่สามารถใช้การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์ได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้
2.1 จักษุแพทย์จะเปิดแผลตามแนวรอยต่อระหว่างกระจกตาดำ และผนังตาขาวบริเวณครึ่งบนของลูกตายาวประมาณ 10 มม.เพื่อเอาตัวเลนส์ตาที่เป็นต้อกระจกออก เหลือเพียงเปลือกหุ้มเลนส์ด้านหลังไว้เป็นถุง
2.2 ทำการใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ในถุงหุ้มเลนส์นี้ หลังจากนั้นจึงเย็บปิดแผล ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้เลนส์ตาเทียมที่ใช้จะเป็นแบบชัดระยะเดียว เพื่อการมองไกล และมีอายุการใช้งานได้นานตลอดชีวิต
เลนส์ตาเทียมมีกี่ชนิด
เลนส์ตาเทียม คือ วัสดุที่ฝังเข้าไปในลูกตา แทนที่เลนส์ธรรมชาติที่ขุ่นเพื่อให้การมองเห็นเป็นปกติ มีลักษณะใส เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 มิลลิเมตร ซึ่งจะถูกนำไปใส่ไว้ในดวงตาหลังการผ่าตัดต้อกระจก และจะคงอยู่ในดวงตาอย่างถาวร โดยปัจจุบันเลนส์สำหรับใส่ในการผ่าตัดด้วยการสลายต้อจะเป็นเลนส์ตาเทียมชนิดที่พับได้ โดยใส่ผ่านแผลเล็กๆ ที่กระจกตาหลังสลายต้อกระจกแล้ว
1. เลนส์ตาเทียมชนิดชัดระยะเดียว (Monofocal lens) เป็นเลนส์ตาเทียมชนิดมาตรฐานที่นิยมใช้กันทั่วไป เป็นเลนส์ที่มีจุดโฟกัสเพียงจุดเดียว มักเลือกให้มองชัดในระยะไกลด้วยตาเปล่า เช่น การมองป้ายข้อความ การขับรถ การเล่นกีฬา เป็นต้น หากทำกิจกรรมประจำวันที่อยู่ใกล้ เช่น อ่านหนังสือ การใช้โทรศัพท์มือถือ ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ต้องใส่แว่นช่วยหลังผ่าตัด
2. เลนส์ตาเทียมแบบชัดหลายระยะ (Multifocal lens) เป็นเลนส์ตาเทียมชนิดที่มีหลายโฟกัส ทำให้สามารถใช้งานได้หลายๆ ระยะ ด้วยตาเปล่า ไม่ว่าจะเป็นในระยะไกล ระยะกลาง (1 เมตร ถึง 1 เมตรครึ่ง) และระยะใกล้ ( 30-40 ซม.) ลดการพึ่งพาแว่นในการมองระยะต่างๆ ได้ แบ่งได้ 3 แบบดังนี้
- แบบ 2 โฟกัส คือ ดูระยะไกล และดูระยะใกล้ (Bifocal) ระยะกลางก็จะไม่ค่อยชัด
- แบบ 2 โฟกัส คือ ดูระยะไกล และดูระยะกลาง (Bifocal) ระยะใกล้ก็จะไม่ค่อยชัด
- แบบ 3 โฟกัส คือ ดูระยะไกล ระยะกลาง และระยะใกล้ (Trifocal) สามารถใช้งานได้ทั้งระยะไกล ระยะกลาง และระยะใกล้
3. เลนส์ตาเทียมชนิดแก้ไขสายตาเอียง (Toric Lens) เป็นเลนส์ตาเทียมที่สามารถแก้ค่าสายตาเอียงในตัว ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้แว่นตาแก้สายตาเอียงหลังผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีสายตาเอียงอยู่เดิม โดยสามารถแก้ไขค่าสายตาเอียงได้ประมาณ 100-200
การเตรียมตัวก่อนรักษาต้อกระจก
การรักษาต้อกระจกจะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง และไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล โดยการเตรียมตัวก่อนทำหัตถการ ได้แก่
- ควรสระผมและล้างหน้าก่อนมาถึงโรงพยาบาล ไม่ใส่น้ำมันใส่ผม
- สุภาพสตรีงดแต่งหน้า ถ้าทาเล็บให้ล้างเล็บออก ไม่ควรนำเครื่องประดับและทรัพย์สินมีค่าใดๆ มาด้วย และสวมเสื้อแบบสบายถอดใส่ง่าย เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนเสื้อภายหลังการผ่าตัด ซึ่งจะต้องปิดฝาครอบตา
- ต้องงดยาก่อนผ่าตัด 1 สัปดาห์ ได้แก่ ยาละลายเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน หรือ ยาหดม่านตาพิโลคาร์ฟีน เป็นต้น
- วันผ่าตัด หากมีความผิดปกติกับดวงตา เช่น อาการตาแดง ตากุ้งยิง ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อน
- มื้ออาหารก่อนผ่าตัด ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม นม เป็นต้น เพราะถ้าทานอาหารที่ย่อยยาก หรือทานอิ่มเกินไปจะทำให้รู้สึกอึดอัดขณะทำผ่าตัด
- ในวันผ่าตัดห้ามผู้ป่วยขับรถเอง เพราะหลังการผ่าตัดจะต้องปิดตา และปิดฝาครอบตา
หลังรักษาต้อกระจก
หลังรักษาต้อกระจกเสร็จเรียบร้อย ผู้ป่วยจะพักในห้องพักฟื้นประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วจึงกลับบ้านได้ โดยต้องดูแลตัวเอง ดังนี้
- ต้องระมัดระวังเรื่องของการติดเชื้อ โดยผู้ป่วยควรปิดตาไว้ก่อน 1 วัน
- หลีกเลี่ยงการล้างหน้า ไม่ให้น้ำเข้าตาเป็นเวลา 1 เดือน
- ระมัดระวังไม่ให้ไอ จาม หรือเบ่งแรงๆ เพราะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนกับแผลผ่าตัด รวมถึงหมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสโดนตา
- การป้องกันเชื้อโรคเข้าดวงตา อาจใช้น้ำเกลือและสำลีเช็ดตาแทนการล้างหน้า
- ควรสวมแว่นตากันแดดทุกครั้งเมื่อออกไปในที่แสงจ้า
- ที่สำคัญตรวจตาตามนัดของจักษุแพทย์ทุกครั้ง จนกว่าแผลจะหายดีและปลอดภัยแล้ว
ผลข้างเคียงที่อาจพบหลังรักษาต้อกระจก
การรักษาต้อกระจก เป็นการทำหัตถการที่มีความปลอดภัยสูง และมีผลข้างเคียงน้อย โดยผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การมีเลือดออกในลูกตา และหรือเบ้าตาจากการฉีดยาชา กระจกตาขุ่นมัวจากเซลล์กระจกตาไม่แข็งแรง การติดเชื้อซึ่งพบได้น้อยแต่อันตราย หากทำการหยอดยาและดูแลความสะอาดตาอย่างเคร่งครัดจะช่วยลดความเสี่ยงนี้ลงได้มาก เกิดจอประสาทตาหลุดลอก ปวดตา การเลื่อนหลุดของเลนส์แก้วตาเทียม รวมทั้งมีภาวะจุดรับภาพบวมหลังผ่าตัด โดยเกิดได้บ้างหลังผ่าตัดในระยะเกิน 1 - 2 สัปดาห์ไปแล้ว โดยจะมีอาการตามัวลงหรือเห็นภาพเบี้ยว สามารถรักษาและกลับมาเป็นปกติได้
เมื่อได้รับการรักษาต้อกระจกด้วยการเปลี่ยนเลนส์ตาเทียมแล้ว ผู้ป่วยจะไม่กลับมาเป็นต้อกระจกซ้ำได้อีก แต่อาจเกิดภาวะถุงหุ้มเลนส์มีการขุ่นหลังจากใส่เลนส์เมื่อระยะเวลาผ่านไป แต่ไม่ต้องกังวลใจไปเพราะสามารถรักษาได้ด้วยการยิงเลเซอร์ (Yag Laser) เพื่อขจัดความขุ่นได้ทันที ทำให้กลับมาเห็นชัดเหมือนหลังทำหัตถการใหม่ๆ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์จักษุ