การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล
ภาวะความผิดปกติของลิ้นหัวใจแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ลิ้นหัวใจตีบ และลิ้นหัวใจรั่ว โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับลิ้นหัวใจทั้ง 4 ลิ้น ซึ่งภาวะนี้ไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก แต่จะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นแต่ก็ไม่รุนแรง และจะแสดงอาการรุนแรงเมื่ออายุประมาณ 40 - 50 ปี จนทำให้ผู้ป่วยเจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลียมากขึ้น เกือบๆ จะทุกการเคลื่อนไหว จำเป็นต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา หากอาการยังไม่รุนแรงแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาและนัดติดตามอาการเป็นระยะ แต่ถ้าอาการรุนแรงและเข้ารับการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจแล้วก็ยังไม่เป็นผล หรือผู้ป่วยมีภาวะลิ้นหัวใจเสื่อมหรือเสียมาก จนไม่สามารถกลับมาทำงานตามเดิมได้อีก ก็จำเป็นต้องได้รับ “การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ” (Valve Replacement) เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม
ลิ้นหัวใจเป็นอย่างไร
ลิ้นหัวใจมีทั้งหมด 4 ลิ้น ประกอบด้วย ลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (Tricuspid valve), ลิ้นหัวใจพัลโมนิค (Pulmonic valve), ลิ้นหัวใจไมตรัล (Mitral valve) และ ลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic valve) ทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนเลือดใน 4 ห้องหัวใจ ให้เป็นไปตามทิศทางที่ถูกต้องและไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ หากลิ้นหัวใจชำรุด เสื่อมสภาพ หรือมีโรคที่รบกวนการทำงานของลิ้นหัวใจจนเกิดความผิดปกติ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนักจนเกิดภาวะต่างๆ ทั้ง หัวใจโต เลือดคั่งในหัวใจ เลือดคั่งในปอด ตามมาได้ บางรายก็อาจเสียชีวิตได้เนื่องจากการทำงานของหัวใจล้มเหลว
โรคลิ้นหัวใจ ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจมาแต่กำเนิด ส่งผลให้ลิ้นหัวใจเสื่อมไวกว่าคนทั่วไป โดยอาจไม่มีอาการใดๆ ในวัยเด็ก หรือตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ แต่จะเริ่มเหนื่อยง่าย ใจสั่น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น รวมไปถึงสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ มักพบในวัยผู้สูงอายุ โรคหัวใจรูมาติก มักพบในเด็กอายุ 5 ขวบขึ้นไป โรคลิ้นหัวใจรั่วจากการติดเชื้อ และภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายและเกิดลิ้นหัวใจรั่วตามมา
การรักษาโรคลิ้นหัวใจ
ผู้ป่วยที่มีอาการลิ้นหัวใจไม่รุนแรง ชำรุดเพียงเล็กน้อย หรือปานกลาง แพทย์จะแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวและเฝ้าระวังติดตามอาการ และจะรักษาด้วยการให้ยาขับปัสสาวะเพื่อช่วยเสริมการทำงานของหัวใจให้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก มีลิ้นหัวใจรั่วมาก จนกระทั่งกล้ามเนื้อที่พยุงการปิด-เปิด ลิ้นหัวใจเกิดการหย่อนยาน ปูด หรือหนา แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ (Valve Repair) แก้ไขส่วนที่เสียหายของลิ้นหัวใจ แต่ถ้าอาการรุนแรง และเข้ารับการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจแล้วก็ยังไม่เป็นผล หรือผู้ป่วยมีภาวะลิ้นหัวใจเสื่อมหรือเสียมาก จนไม่สามารถกลับมาทำงานตามเดิมได้อีก ก็จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valve Replacement) ใหม่ ด้วยการเอาลิ้นหัวใจที่เสียหายออก และนำลิ้นหัวใจเทียมใส่เข้าไปแทน
การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม
การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valve Replacement) เป็นการผ่าตัดแบบวิธีมาตรฐาน คือ การเปิดแผลผ่าตัดกึ่งกลางหน้าอก เป็นการรักษาโรคลิ้นหัวใจผิดปกติ ในกรณีพยาธิสภาพของลิ้นหัวใจสูญเสีย หรือเสื่อมสภาพไปมากแล้ว เช่น ฉีกขาดมาก หรือมีหินปูนเกาะ ทำให้ศัลยแพทย์ไม่สามารถผ่าตัดโดยการซ่อมแซมลิ้นหัวใจเดิมของผู้ป่วยได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจใหม่ ด้วยการเอาลิ้นหัวใจที่เสียหายออก และนำลิ้นหัวใจเทียมใส่เข้าไปแทน ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบธรรมชาติที่ได้จากเนื้อเยื่อของหัวใจวัว หรือเนื้อเยื่อหัวใจหมู และลิ้นหัวใจเทียมจากสารสังเคราะห์ โลหะ โดยอายุของลิ้นหัวใจใหม่นี้จะอยู่ที่ประมาณ 10 ถึง 15 ปี ควบคู่กับการรับประทานยาเพื่อป้องกันเลือดแข็งตัว
เตรียมตัวอย่างไรก่อนการผ่าตัด
- ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายและซักประวัติโดยละเอียด เช่น การตรวจเลือด เอกซเรย์
- แพทย์จะสอบถามถึงยา อาหารเสริม วิตามิน หรือสมุนไพรที่กำลังใช้อยู่ ผู้ป่วยจึงควรเตรียมยาดังกล่าวติดตัวไปด้วย
- ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ล่วงหน้า หากมีประวัติการแพ้ หรือผลข้างเคียงจากการได้รับยาระงับประสาท
- หากใส่ฟันปลอม หรือเหล็กดัดฟัน ควรแจ้งแพทย์ก่อน
- ผู้ป่วยจะได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ สวนอุจจาระ และต้องงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนวันก่อนผ่าตัด
- เช้าวันผ่าตัด ผู้ป่วยควรทำความสะอาดร่างกายและเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ ไม่ควรทาลิปสติกทาสีเล็บและทาแป้งบริเวณลำตัว
- ถอดเครื่องประดับต่างๆ ฟันปลอม รวมทั้งฝากทรัพย์สินมีค่าไว้ที่ญาติ
- เพื่อความปลอดภัยในระยะการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการวัดความดันโลหิต วัดออกซิเจนในเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น
ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
ผู้ป่วยจะได้รับยาสลบ เพื่อทำให้หลับไปตลอดการผ่าตัดโดยไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดใดๆ ระหว่างการผ่าตัด แพทย์จะทำให้หัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ มีการใช้เครื่องบายพาสหัวใจและปอดทำงานแทนหัวใจจริง จากนั้นศัลยแพทย์ทางด้านหัวใจจะทำการผ่าตัดเปิดหน้าอก และนำลิ้นหัวใจที่เสียหายออก แล้วนำลิ้นหัวใจใหม่ใส่เข้าไปแทน เมื่อผ่าเปลี่ยนลิ้นหัวใจเสร็จ แพทย์จะทำให้หัวใจของผู้ป่วยกลับมาเต้นอีกครั้ง หลังจากนั้นจะซ่อมแซมกระดูกสันอก ก่อนทำการปิดปากแผลที่หน้าอก โดยเวลาในการทำการผ่าตัดเฉลี่ยประมาณ 4 ชม.
เมื่อทำหัตถการเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้ว แพทย์อาจใช้การใช้เครื่องอัลตราซาวด์ ตรวจดูการทำงานของลิ้นหัวใจใหม่ว่าทำงานได้อย่างเหมาะสมแล้วหรือไม่
การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยเปิดแผลผ่าตัดกึ่งกลางหน้าอก สามารถทำหัตถการอื่นร่วมด้วย เช่น การผ่าตัดลิ้นหัวใจร่วมกับการทำบายพาสหัวใจ หรือการผ่าตัดลิ้นหัวใจร่วมกับการเปลี่ยนเส้นเลือดแดงใหญ่ เป็นต้น
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด
- หลังการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ จะส่งตัวผู้ป่วยจะเข้าห้อง ICU เพื่อใช้งานระบบสอดส่องกิจกรรมของหัวใจ ปอด และระบบอื่นๆ ของร่างกายเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง นอกจากนี้ผู้ป่วยยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดการพักฟื้นที่โรงพยาบาล
- หลังผ่าตัด 7–14 วัน ถ้าแผลแห้งดี ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ ในระยะที่มีอาการเหนื่อยง่ายควรนั่งเก้าอี้ และไม่อาบน้ำที่ร้อนมากเพราะอาจทำให้รู้สึกใจหวิวและเป็นลมได้
- ในกรณีที่แผลยังไม่แห้งสนิทดี ควรทำแผลทุกวัน และระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ หากพบว่ามีอาการเจ็บตึง บวม แดง ร้อน มีน้ำเหลืองหรือหนองบริเวณขอบแผลควรเข้ามาพบแพทย์ทันที
- ในระยะ 2 สัปดาห์แรก ผู้ป่วยสามารถทำงานเบาๆ ได้ เช่น เก็บกวาดบ้าน แต่ไม่ควรทำงานที่ต้องออกแรงมาก เช่น ยกของหนักหรือขับรถ จนกว่าจะครบ 6 สัปดาห์ หรือเมื่อแพทย์อนุญาต จึงเริ่มทำงานปกติได้
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควรเป็นอาหารที่มีรสเค็มน้อย รสไม่จัด งดอาหารหมักดอง ชา กาแฟ รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- ควรนอนหลับพักผ่อนในเพียงพอ โดยวันละ 8–10 ชั่วโมง
- เมื่อทำกิจกรรมแล้วรู้สึกเหนื่อยควรพัก ครั้งละ 20-30 นาที
- แนะนำให้วางแผนการออกกำลังกาย โดยเพิ่มเวลาขึ้นวันละนิด ไม่หักโหม เช่น การเดิน หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หน้ามืด จะเป็นลม ใจสั่น หอบเหนื่อย ต้องหยุดพัก และควรแจ้งให้แพทย์ทราบในการนัดครั้งต่อไป
- ผู้ป่วยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ เมื่อทดสอบสุขภาพ โดยการขึ้นลงบันไดได้มากกว่า 3 รอบแล้วไม่รู้สึกเหนื่อย ถ้ารู้สึกเหนื่อยหรือเครียด ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์
- เลิกการสูบบุหรี่อย่างถาวร
- ควรมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลนครธน พร้อมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีความพร้อม และความชำนาญในการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้หากไม่มีผลแทรกซ้อน รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถปรึกษาและสอบถามได้ที่ศูนย์หัวใจ ชั้น 1 โทร 024509999 ต่อ 1074-1075
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ