การผ่าตัดแก้หมันหญิง
ศูนย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้
การทำหมัน เป็นการคุมกำเนิดถาวรภายหลังการมีบุตรเพียงพอแล้ว ซึ่งวิธีการทำหมันที่นิยมในปัจจุบัน คือ การผูกท่อนำไข่ทั้งสองข้าง แล้วตัดบางส่วนของท่อน้ำไข่ออกไป อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปจะมีหญิงบางส่วนเปลี่ยนใจอยากมีบุตรเพิ่ม จึงมาพบแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดแก้หมัน โดยการแก้หมันก็คือ การผ่าตัดเพื่อนำปลายสองข้างของท่อน้ำไข่ที่ถูกตัดขาดออกจากกัน กลับมาเชื่อมต่อกันนั่นเอง
สารบัญ
ขั้นตอนการผ่าตัดแก้หมันโดยการส่องกล้อง
- ผู้ป่วยจะได้รับการส่องกล้องเข้าในช่องท้อง ภายใต้การดมยาสลบ
- ก่อนทำการแก้หมันแพทย์จะประเมินท่อนำไข่ทั้งสองข้าง ว่าท่อนำไข่ที่เหลือมีความยาวเท่าใดและตันหรือไม่ หากพบว่าท่อนำไข่ที่เหลือยาวเพียงพอและไม่ตัน จึงจะทำการแก้หมันต่อไป หรือหากพบว่าท่อนำไข่ที่เหลือสั้นหรือตัน ไม่สามารถแก้หมันได้ แพทย์อาจจะผ่าตัดแก้ไขท่อนำไข่ด้วยวิธีอื่นแทน ดังนั้นการผ่าตัดแพทย์อาจจะแก้หมันได้ทั้งสองข้างหรือข้างเดียวหรือแก้หมันไม่ได้เลย
- แพทย์แก้หมันโดยการเย็บต่อท่อนำไข่ทั้งสองข้างเข้าหากัน
- แพทย์ฉีดสีเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อดูว่าสีสามารถผ่านไปยังปลายท่อนำไข่ภายหลังการต่อหมันหรือไม่
- ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะพักฟื้นในโรงพยาบาล 1-2 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยแพทย์จะนัดผู้ป่วยเปิดแผล 7 วัน ภายหลังการผ่าตัด และนัดผู้ป่วยมาตรวจเอกซเรย์ฉีดสีดูท่อนำไข่ 1-2 เดือน ภายหลังการผ่าตัด เพื่อดูซ้ำว่าสีสามารถผ่านไปยังปลายท่อนำไข่ได้หรือไม่
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการผ่าตัดแก้หมัน
- อายุของผู้หญิงที่แก้หมัน
- วิธีและตำแหน่งของท่อนำไข่ที่ได้รับการทำหมัน
- ความยาวและคุณภาพของท่อนำไข่ที่เหลือ
- ระยะเวลาหลังจากการทำหมัน
- ความชำนาญของแพทย์
อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์ภายหลังการผ่าตัดแก้หมันสำเร็จ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น ความสมบูรณ์ทั้งโครงสร้างและการทำงานของภาวะเจริญพันธุ์ของสตรี รวมไปถึงคุณภาพน้ำเชื้อของฝ่ายชายร่วมด้วย
การแก้หมันด้วยวิธีอื่นนอกจากผ่าตัด
นอกจากการผ่าตัดแก้หมันยัง มีการรักษาด้วยวิธีอื่นเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ คือ การทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งแนะนำในหญิงอายุมากกว่า 37 ปี ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีพยาธิสภาพอื่นซึ่งอาจส่งผลทำให้มีบุตรยาก หรือมีความผิดปกติของคุณภาพน้ำเชื้อของฝ่ายชาย เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดแก้หมันหญิง
- ความเสี่ยงต่อการล้มเหลว เช่น แก้หมันได้ข้างเดียวหรือแก้หมันไม่ได้เลย
- บาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียงในอุ้งเชิงกราน ในกรณีที่มีพังผืด เช่น ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่
- ความเสี่ยงจากการดมยาสลบ
- โอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก ดังนั้นถ้าตรวจพบว่าตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์ทันที
- ความเสี่ยงของการตั้งครรภ์
ข้อควรรู้ก่อนตั้งครรภ์
- โดยทั่วไปหญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากการคลอดบุตร 15-20 รายต่อหญิงที่คลอดบุตร 100,000 ราย
- ในกรณีหญิงตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงโครโมโซมผิดปกติ เช่น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม สูงกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี แนะนำให้ตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด โดยการเจาะเลือดหรือเจาะน้ำคร่ำ
- ในกรณีที่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อน การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปมีโอกาสเกิดภาวะรกเกาะต่ำ รกเกาะทะลุมดลูก มดลูกแตก ตกเลือด อาจต้องได้รับการตัดมดลูก หรือเสียชีวิตได้
- ในกรณีที่มีประวัติครรภ์ก่อนมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ครรภ์เป็นพิษ เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ คลอดก่อนกำหนด ตกเลือดหลังคลอด เหล่านี้ทำให้การตั้งครรภ์ในครั้งต่อไปจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์
- หากมีโรคประจำตัวต้องปรึกษาแพทย์และควบคุมตัวโรคให้ดีก่อนตั้งครรภ์ เพราะตัวโณคอาจแย่ลงระหว่างตั้งครรภ์และส่งผลต่อทารกในครรภ์ เช่น โรคหัวใจ ไทรอยด์
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้