ขดลวดถ่างขยาย เสริมความแข็งแรงในการขยายหลอดเลือดหัวใจตีบ
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล
ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บแน่นหน้าอกและเหนื่อยง่าย เมื่อตรวจวินิจฉัยด้วยการฉีดสีหัวใจแล้วพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจขยายหลอดเลือด ซึ่งจะช่วยดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น โดยการทำบอลลูนหัวใจนั้นแพทย์อาจพิจารณาใส่ขดลวดถ่างขยาย (stent) เข้าไปค้ำยันยึดติดกับผนังหลอดเลือดที่ตีบเพื่อเสริมความแข็งแรงในการขยายหลอดเลือดหัวใจในตำแหน่งที่ทำการขยายบอลลูนร่วมด้วย ซึ่งจะให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขดลวดถ่างขยายเป็นอย่างไร
ขดลวดถ่างขยาย (stent) เป็นอุปกรณ์พิเศษลักษณะเป็นโครงตาข่าย ทำจากโลหะชนิดพิเศษ พลาสติก หรือบางครั้งทำจากเส้นใยชนิดพิเศษสำหรับหลอดเลือดแดงที่มีขนาดใหญ่ ที่นำมาใช้ร่วมในการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน ซึ่งจะช่วยดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น ซึ่งการใช้ขดลวดตาข่ายนี้เพื่อให้การขยายหลอดเลือดหัวใจได้ผลดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ชนิดของขดลวดถ่างขยาย
ขดลวดถ่างขยาย (stent) ที่ใช้ค้ำยันยึดติดกับผนังหลอดเลือดที่ตีบในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่/p>
- ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดไม่เคลือบยา (Bare metal stent) เป็นขดลวดทำจากโลหะพิเศษแบบเปลือย ซึ่งพบว่าหลังจากรักษาไป ผู้ป่วยส่วนหนึ่งเกิดการตีบซ้ำขึ้นมาใหม่ได้แต่ก็ยังน้อยกว่าการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ส่วนใหญ่ในการรักษาแพทย์จะใช้ขดลวดชนิดนี้ ในกรณีผู้ป่วยต้องได้รับการขยายหลอดเลือดอย่างเร่งด่วน เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย เป็นต้น
- ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดเคลือบยา (Drug Eluting Stent) ซึ่งในปัจจุบันแพทย์จะใช้ขดลวดชนิดนี้ในการรักษาเป็นหลัก โดยเป็นขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจที่เคลือบยา และสารโพลีเมอร์ไว้ โดยตัวยาจะค่อยๆ ปล่อยไปยังบริเวณที่ต้องการรักษาในจุดที่ตีบ ทำให้ช่วยลดการเติบโตของเนื้อเยื่อบริเวณที่ใส่ขดลวด ช่วยลดความจำเป็นในการที่ต้องทำการรักษาซ้ำจากการที่หลอดเลือดหัวใจที่ได้รับการฝังขดลวดเกิดการตีบซ้ำเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาจะเลือกใส่ในผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดการตีบซ้ำในขดลวด สูงกว่าบุคคลทั่วไป เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น
ข้อดีของการใส่ขดลวดถ่างขยาย
ผู้ป่วยที่มีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ จะได้รับการรักษาด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดตรงบริเวณที่มีการตีบ แต่อย่างไรก็ตามหลังจากการขยายหลอดเลือดโดยบอลลูนเพียงอย่างเดียวนั้น หลอดเลือดสามารถกลับมาตีบซ้ำขึ้นใหม่โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการหดกลับของหลอดเลือด ดังนั้นการใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดเข้าไปค้ำยันยึดติดกับผนังหลอดเลือดที่ตีบ จะช่วยเสริมความแข็งแรงในการขยายหลอดเลือดหัวใจในตำแหน่งที่ทำการขยายบอลลูนไม่ให้เกิดการตีบซ้ำ ซึ่งจะให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การเตรียมตัวก่อนการใส่ขดลวดถ่างขยาย
- ผู้ป่วยต้องงดอาหารและน้ำดื่ม 6-8 ชั่วโมง
- แพทย์จะสอบถามอาการแพ้ยาและแพ้อาหารทะเล โรคประจำตัว และตรวจร่างกายผู้ป่วย
- หากผู้ป่วยมียาที่รับประทานเป็นประจำ ได้แก่ ยาเบาหวาน โดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และนำมาให้แพทย์ดู
ขั้นตอนการใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ
ขั้นตอนการใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ สามารถทำได้ดังนี้
- เมื่อพบจุดที่หลอดเลือดตีบ แพทย์ใส่สายสวนชนิดขดลวดสอดแทรกเข้าไปยังหลอดเลือดที่ตีบและขยายบอลลูนให้พองตัวขึ้น
- ใส่ขดลวดถ่างขยายกดทับผนังหลอดเลือดในขณะที่บอลลูนพองตัวขึ้น
- จากนั้นบอลลูนถูกทำให้แฟบลง และนำออกจากหลอดเลือด โดยขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจจะยังคงอยู่ในหลอดเลือดบริเวณที่ทำการถ่างขยายเป็นการถาวร เพื่อให้หลอดเลือดยังคงเปิดกว้างและทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
ทั้งนี้ การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวดถ่างขยาย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้ โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่าการผ่าตัดบายพาส เพราะไม่ต้องทำการผ่าตัดและดมยาสลบ นอกจากนี้ใช้เวลาเฉลี่ย 1-2 วัน ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ โดยไม่ต้องกังวลกับอาการภาวะหัวใจขาดเลือด สามารถทำซ้ำได้หลายครั้ง ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบแคบลงอีกในอนาคต
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ