คุณผู้ชายน้ำเชื้อไม่มีตัวอสุจิ อสุจิไม่แข็งแรง มีบุตรได้ไหม

ศูนย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้

บทความโดย : พญ. สิตานัน เลิศศิริพาณิชย์

คุณผู้ชายน้ำเชื้อไม่มีตัวอสุจิ อสุจิไม่แข็งแรง มีบุตรได้ไหม

ปัญหาอสุจิไม่แข็งแรง น้ำเชื้อไม่มีตัวอสุจิ ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในคุณผู้ชาย ซึ่งภาวะนี้อาจเกิดจากโรคประจำตัวหรือภาวะเจ็บป่วยในขณะนั้นที่ส่งผลต่อคุณภาพของน้ำเชื้อ จึงไม่สามารถมีลูกได้ กรณีนี้ควรเข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ หากเกิดจากความผิดปกติของลูกอัณฑะ หรือความผิดปกติของโครโมโซม อาจจะแก้ไขไม่ได้ หากเกิดความผิดปกติของฮอร์โมนหรือเกิดจากท่ออสุจิอุดตัน อาจจะยังมีอสุจิตัวอ่อนเหลืออยู่ในท่ออสุจิและลูกอัณฑะ การผ่าตัดเพื่อสกัดตัวอสุจิจากท่อนำอสุจิหรืออัณฑะ แล้วมาผสมกับไข่ซึ่งทำได้ในกระบวนการอิ๊กซี่ (ICSI) สามารถช่วยให้ฝ่ายชายมีลูกได้


รู้ได้อย่างไรว่าผู้ชายไม่มีตัวอสุจิ อสุจิไม่แข็งแรง

ภาวะมีบุตรยากของฝ่ายชาย เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของโครโมโซม ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองหรืออัณฑะผิดปกติทำให้ไม่มีการสร้างอสุจิ อาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิดหรือภาวะเจ็บป่วยในขณะนั้น เกิดจากท่ออสุจิอุดตัน การผ่าตัดบางชนิด เป็นต้น ซึ่งการตรวจหาแต่ละสาเหตุจะต้องมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการตรวจ โดยการตรวจหลักๆ ได้แก่

1. การตรวจวิเคราะห์อสุจิ หรือตรวจสเปิร์ม (Semen Analysis) เป็นการทดสอบสุขภาพและองค์ประกอบของอสุจิที่ต้องประเมินอย่างรอบคอบ เพื่อนำไปวินิจฉัยและวางแผนการตั้งครรภ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งการตรวจวิเคราะห์อสุจิยังเป็นการตรวจยืนยันผลสำเร็จหลังการทำหมันฝ่ายชายด้วย โดยวิธีการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจินั้นแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ การตรวจด้วยตาเปล่า (Macroscopic Examination) พิจารณาจากปริมาตร ความเป็นกรด-ด่าง ความหนืด การละลายตัว และ การตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Examination) พิจารณาจากการทดสอบอสุจิที่ยังมีชีวิต ความเข้มข้น การเคลื่อนที่ของอสุจิ รูปร่างอสุจิ เป็นต้น

สำหรับผลวิเคราะห์หาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย โดยการตรวจอสุจินั้นมีดังนี้

  • ด้านปริมาตร โดยทั่วไปน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาครั้งหนึ่งจะมีปริมาตร 2-6 มิลลิลิตร ถ้าหากมีปริมาตรที่น้อยกว่า 1.5 มิลลิเมตร แสดงว่าการหลั่งจากถุงเก็บน้ำเชื้อบกพร่อง อาจมีสาเหตุเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของอัณฑะ หรือเกิดจากท่อนำอสุจิตีบหรือตันได้
  • ด้านปริมาณ ตรวจความความเข้มข้นของตัวอสุจิ ต้องมากกว่า หรือ เท่ากับ 15 ล้านตัว/มิลลิลิตร พร้อมทั้งดูการเคลื่อนไหวของอสุจิ มีการเคลื่อนที่ที่ดี คล่องแคล่ว ว่ายเก่ง ตรงตามคุณสมบัติที่ดีของอสุจิหรือไม่ โดยอสจิที่เคลื่อไหวได้ต้องมากกว่า หรือ เท่ากับ ร้อยละ 40 หากตัวอสุจิมีการเคลื่อนไหวไม่ดี ส่งผลให้ไม่สามารถว่ายผ่านปากมดลูกของฝ่ายหญิงไปพบกับไข่ในท่อนำไข่ได้
  • ด้านรูปร่าง รูปร่างตัวอสุจิ ปกติจะมีส่วนหัว (Head) เป็นรูปวงรี ส่วนลำตัว (Midpiece) ป้อมและสั้นกว่าส่วนหางเล็กน้อย ส่วนหาง (Tail) จะยาวกว่าส่วนหัว 7-15 เท่า มีลักษณะค่อยๆ เรียวเล็กลง เรื่อยๆ ทำหน้าที่โบกพัดเพื่อเคลื่อนไหวไปข้างหน้า โดยปกติน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาจะมีตัวอสุจิที่รูปร่างผิดปกติปะปนอยู่ด้วย แต่โดยปกติควรมีอสุจิที่รูปร่างปกติสวยงามอย่างน้อยร้อยละ 4 การที่อสุจิรูปร่างผิดปกติอาจส่งผลเสียทั้งต่อการเคลื่อนไหวและทำให้การเจาะผสมไข่เป็นไปได้ยาก

หากพบความผิดปกติของการตรวจเชื้ออสุจิ อาจจะต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม รวมทั้งทำการตรวจวิเคราะห์ทางด้านฮอร์โมน การตรวจลูกอัณฑะ และในบางครั้งอาจมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจโครโมโซมร่วมด้วย

2. การตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของฮอร์โมนและโรคอื่นๆ เป็นการประเมินฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองและอัณฑะที่มีผลต่อการสร้างอสุจิ ในกรณีพบว่าฮอร์โมน FSH (Follicular-stimulating hormone) สูง หมายถึง มีความผิดปกติที่ลูกอัณฑะ ทำให้ลูกอัณฑะไม่สามารถสร้างตัวอสุจิได้ ผู้ป่วยที่พบว่ามีฮอร์โมนต่ำ หมายถึง ต่อมใต้สมองมีความผิดปกติทำให้การสร้างอสุจิน้อยลง ในกลุ่มนี้จำเป็นต้องหาสาเหตุอื่นเพิ่มเติมด้วยการทำ MRI สมอง และในกลุ่มฮอร์โมนปกติ หมายถึง เกิดจากการอุดตันของท่อนำอสุจิ เป็นต้น


มีวิธีใดบ้างที่จะช่วยให้มีตัวอสุจิและนำมาใช้มีบุตรได้

หากตรวจแล้วพบว่าอสุจิไม่แข็งแรง น้ำเชื้อไม่มีตัวอสุจิ น้ำเชื้ออ่อน สามารถช่วยให้ฝ่ายชายที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากเหล่านี้ มีบุตรของตนเองได้ด้วยการเก็บอสุจิจากอัณฑะโดยตรง ดังนี้

  1. การใช้เข็มเจาะไปที่ท่อพักอสุจิ PESA (Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration) คือ การใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังบริเวณอัณฑะเข้าไปในท่อพักน้ำเชื้อ แล้วดูดน้ำอสุจิออกมา
  2. การผ่าตัดเอาอสุจิออกจากเนื้ออัณฑะ TESE (Testicular Sperm Extraction) คือ ด้วยการผ่าตัดที่ใช้ใบมีดขนาดเล็กไม่เกิน 5 ม.ม. ทำการเปิดแผลแล้วนำเอาเนื้ออัณฑะออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อนำไปสกัดเอาเฉพาะตัวอสุจิ โดยวิธีนี้จะในกรณีที่ใช้เข็มขนาดเล็กดูดแล้วปริมาณเนื้อที่ได้มีน้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อการสกัด หรือดูดไม่ได้เลย
  3. อย่างไรก็ตามวิธีนี้จำเป็นต้องทำควบคู่กับการกระตุ้นไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้ว (ICSI) เท่านั้น ไม่สามารถใช้วี IUI ได้ โดยการเก็บอสุจิจากอัณฑะโดยตรงนี้มักทำในวันเดียวกับที่ฝ่ายหญิงทำการเก็บไข่เพื่อนำอสุจิที่ได้ไปปฏิสนธิกับไข่ได้ทันตามเวลาที่ต้องการ และก่อนการเก็บน้ำเชื้อหรือผ่าตัดเก็บอสุจิออกมา ฝ่ายชายควรเตรียมตัวไปให้พร้อม ทั้งเรื่องการรับประทานอาหารที่มีโภชนาการสูง เน้นโปรตีน อาหารที่บำรุงสเปิร์ม เช่น เมล็ดฟักทองที่มี Zinc สูงและมะเขือเทศที่ให้ไลโคปีนสูง ซึ่งมีงานวิจัยรับรองในการปรับปรุงคุณภาพของสเปิร์ม รวมทั้งดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายแต่พอดี พักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มสุรา งดสูบบุหรี่ จะได้มีตัวอสุจิที่แข็งแรง เพิ่มโอกาสมีบุตรได้สูงขึ้น


    แม้ว่าฝ่ายชายน้ำเชื้อไม่มีตัวอสุจิ อสุจิไม่แข็งแรง น้ำเชื้ออ่อน ก็สามารถจะมีบุตรได้ แต่ต้องเข้ารับการตรวจหาสาเหตุให้ทราบแน่ชัดก่อนว่าเกิดจากสาเหตุใดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเริ่มการรักษาที่เหมาะสม ที่จะช่วยให้ผู้มีบุตรยากมีโอกาสที่จะมีบุตรมากขึ้น สามารถส่งขอมูลปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้ข้างล่างนี้เลย


พญ.สิตานัน เลิศศิริพาณิชย์ พญ.สิตานัน เลิศศิริพาณิชย์

พญ.สิตานัน เลิศศิริพาณิชย์
สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย