ตรวจปากมดลูกด้วยกล้องคอลโปสโคป หาความผิดปกติอย่างตรงจุด
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี
บทความโดย : พญ. จุฑาภรณ์ อุทัยแสน
การตรวจหาความผิดปกติของปากมดลูก ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง หรือเพื่อตรวจยืนยันความปกติของเนื้อเยื่อบุผิว นอกจากจะตรวจคัดกรองด้วยตาเปล่าหรือตรวจด้วยเซลล์วิทยาแล้ว ยังมีวิธีการตรวจหาความผิดปกติเหล่านี้ผ่านการส่องกล้องคอลโปสโคป (Colposcopy) ซึ่งสามารถมองเห็นรอยโรคชัดเจนกว่าการมองด้วยตาเปล่า และสามารถตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจเพิ่มเติมหาความผิดปกติระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งระยะลุกลามที่อาจแอบแฝงอยู่ในเนื้อเยื่อได้ ทำให้แพทย์สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้สอดคล้องกับโรคที่เป็นอยู่ได้อย่างตรงจุด
การตรวจด้วยกล้องคอลโปสโคป คืออะไร?
การตรวจด้วยคอลโปสโคป (Colposcopy) เป็นการส่องกล้องขยายเพื่อดูปากมดลูกอย่างชัดเจน ช่วยแยกพยาธิสภาพออกจากเนื้อเยื่อที่ปกติได้เป็นอย่างดี แพทย์จะใช้กล้องร่วมกับน้ำยาสำหรับการทดสอบ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สังเกตเห็นความผิดปกติบริเวณปากมดลูก ปากช่องคลอด ภายในช่องคลอด หรือทวารหนักได้ชัดเจน ระหว่างการส่องกล้องตรวจในกรณีที่พบความผิดปกติ แพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจเพิ่มเติม
กล้องคอลโปสโคป (Colposcopy) ใช้ตรวจตอนไหน?
การส่องกล้องเพื่อตรวจเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก หลักๆ จะทำเมื่อพบความผิดปกติจากผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap smear) หรือพบว่ามีการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16, 18 เพื่อตรวจว่ามีมะเร็งหรือรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งหรือไม่ และเป็นแนวทางในการดูแลรักษาที่เหมาะสม รวมไปถึงการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ ได้แก่
- การตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง โดยโรคมะเร็งที่อาจพบได้ในบริเวณนี้ ได้แก่ โรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด หรือมะเร็งช่องคลอด
- การตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง โดยโรคมะเร็งที่อาจพบได้ในบริเวณนี้ ได้แก่ โรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด หรือมะเร็งช่องคลอด
ขั้นตอนการตรวจคอลโปสโคป (Colposcopy)
เมื่อถึงกำหนดการตรวจ ผู้ที่เข้ารับการตรวจจะต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและทำความสะอาดภายนอก ขึ้นเตียงตรวจภายใน แพทย์จะทำการตรวจโดยใช้อุปกรณ์ส่องกล้องคอลโปสโคป (Colposcopy) ส่องดูปากมดลูก แล้วใช้น้ำยาเพื่อทำให้เห็นเซลล์ผิดปกติได้ชัดเจนขึ้น ใช้เวลาประมาณ 1 นาที รอดูความเปลี่ยนแปลงของน้ำยากับเนื้อเยื่อที่ปากมดลูก และจะใช้อุปกรณ์ทำการตัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกติเพื่อส่งตรวจต่อไป จากนั้นจะทำการหยุดเลือด และให้นอนพักหลังทำหัตถการประมาณ 10 นาที เพื่อป้องกันภาวะหน้ามืด เป็นลม
หลังจากเสร็จสิ้นการตรวจแล้ว แพทย์จะแจ้งผลการตรวจส่องกล้องนั้นมีความผิดปกติมากน้อยเพียงใด มีแนวโน้มไปในทิศทางไหน และจะนัดมาฟังผลตรวจโดยประมาณ 7 วัน
การเตรียมตัวก่อนตรวจด้วยคอลโปสโคป (Colposcopy)
เพื่อความแม่นยำสูงสุดในการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ก่อนเข้ารับการตรวจ ดังนี้
- งดการมีเพศสัมพันธ์ 24 ชั่วโมง
- งดการสวนล้างช่องคลอด
- งดการเหน็บยาทางช่องคลอด หรือเจลหล่อลื่นบริเวณอวัยวะเพศ 1-2 วันก่อนตรวจ
- ไม่ควรตรวจช่วงมีประจำเดือน
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
- ไม่มีการอักเสบติดเชื้อเฉียบพลันบริเวณปากมดลูก
- ไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร
- ไม่ควรอยู่ในระยะตั้งครรภ์ ยกเว้นบางรายที่มีความจำเป็น
- ควรเตรียมผ้าอนามัยสำรอง เพราะการตรวจอาจทำให้มีเลือดออกเล็กน้อยหรือทำให้มีตกขาวได้
ความเสี่ยงที่อาจพบได้หลังเข้ารับการตรวจส่องกล้องคอลโปสโคป
ผู้ที่เข้ารับการตรวจด้วยการส่องกล้องและการตัดชิ้นเนื้อบริเวณปากมดลูก ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องพักฟื้นและสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ แต่การตรวจอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ อาจจะมีเลือดออกเล็กน้อยบริเวณช่องคลอดแบบกะปริบกะปรอยแต่ไม่มาก ถ้ามีเลือดออกมากผิดปกติ ให้กลับมาที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการห้ามเลือด
การปฏิบัติตัวหลังการตรวจ
หลังจากได้รับการตรวจควรงดการมีเพศสัมพันธ์ งดการใช้ยาทา ยาสอด เจลหล่อลื่น และการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์หลังการตรวจ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและมีเลือดออกทางปากมดลูก
สำหรับผู้ป่วยที่ไปรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกแล้วพบว่ามีเซลล์ผิดปกติ หรือพบว่ามีการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16, 18 สามารถเข้ามารับการตรวจเพิ่มเติมโดยการส่องกล้องคอลโปสโคปเพื่อตัดชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม
Q&A การส่องกล้องคอลโปสโคป
Q: การส่องกล้องคอลโปสโคปเจ็บไหม
A: ในกรณีที่แพทย์พิจารณาตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ (Biopsy) อาจทำให้มีเลือดออกเล็กน้อยหรือทำให้มีตกขาวได้ และภายหลังการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจอาจมีอาการปวดบริเวณที่ตรวจ การใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAID) อย่างไอบรูโพเฟน หรือยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอลก่อนเข้ารับการตรวจก็อาจช่วยบรรเทาหรือป้องกันอาการปวดที่เกิดขึ้นได้
Q: สามารถส่องกล้องคอลโปสโคปขณะมีประจำเดือนได้มั้ย
A: ไม่ควรตรวจในช่วงมีประจำเดือน เพราะจะทำให้มองเห็นไม่ชัดและอาจมีเลือดออกมาบดบังการตรวจได้ ทั้งนี้หากมีประจำเดือน ควรโทรแจ้งโรงพยาบาลเพื่อเลื่อนการตรวจออกไป
Q: สามารถส่องกล้องคอลโปสโคปขณะท้องได้ไหม
A: ในสตรีตั้งครรภ์ สามารถตรวจได้ แต่ไม่ควรตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy)
Q: ควรทำอย่างไรหากมีเลือดออกหลังจากการส่องกล้องคอลโปสโคปตรวจปากมดลูก
A: ภายหลังการตัดเนื้อออกตรวจอาจจะมีเลือดออกมาเล็กน้อยได้ประมาณ 1 – 3 วัน ถ้ามีเลือดออกมากผิดปกติให้กลับมาที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการห้ามเลือด
Q: นานแค่ไหนกว่าผลจะออก
A: ผลการตรวจชิ้นเนื้ออาจใช้เวลาในการวิเคราะห์ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หากผลการตรวจออกมาว่าพบเซลล์ที่ผิดปกติหรือเป็นโรค แพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพสตรี