ตรวจภาวะผู้มีบุตรยาก...หาสาเหตุสู่การรักษาที่เหมาะสม
ศูนย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้
บทความโดย : นพ. องอาจ บวรสกุลวงศ์
คู่แต่งงานหลายคู่เฝ้ารอคอยลูกน้อย คนรอบข้างทั้งครอบครัวและเพื่อนก็ช่วยเชียร์และลุ้นไปด้วยกัน แต่พยายามอย่างไรก็ไม่สมหวังสักทีจนกลายเป็นปัญหาหนักอกหนักใจ ว่าเป็นเพราะอะไร หรือจริงๆ แล้วอาจเป็นเพราะความผิดปกติของร่างกายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายจนอาจทำให้เกิดภาวะ “มีบุตรยาก” หากอยากให้ชัวร์ควรเข้ามาตรวจกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุนำไปสู่การรักษาที่ตรงจุดกันดีกว่า
สารบัญ
ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) คืออะไร?
ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) คือ ภาวะที่ฝ่ายหญิงไม่ตั้งครรภ์หลังจากมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ (เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 วัน) โดยไม่ได้คุมกำเนิดอย่างน้อย 1 ปี ในฝ่ายหญิงที่อายุ < 35 ปี แต่หากอายุ > 35 ปี หลังจากพยายามมีบุตรนาน 6 เดือนแล้วไม่สำเร็จควรมาพบแพทย์ได้เลย เนื่องจากอาจประสบกับปัญหาภาวะรังไข่เสื่อมตามอายุที่มากขึ้น ภาวะดังกล่าวถือเป็นปัญหาของคู่รักที่อาจเกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรืออาจเกิดจากทั้งสองฝ่าย ร่วมกับปัจจัยอื่นอันส่งผลทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก อาทิ อายุของคู่สมรส การดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด น้ำหนักตัวที่ผิดปกติ การออกกำลังกายที่มากเกินความเหมาะสม สาเหตุจากฝ่ายหญิง เช่น อาจเกิดเนื้องอกที่มดลูก ถุงน้ำช็อกโกแลต ท่อนำไข่ตันหรือมีการตกไข่ผิดปกติ และ สาเหตุของฝ่ายชาย อาจเกิดจากมีความผิดปกติของการสร้างอสุจิหรือมีความผิดปกติในการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัยภาวะมีบุตรยาก
ทำได้ด้วยวิธีที่แตกต่างกันไประหว่างผู้หญิงและผู้ชาย โดยเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติคู่สมรส ตรวจร่างกาย ตลอดจนการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม เช่น ตรวจเลือด ตรวจหาพันธุกรรมธาลัสซีเมีย ตรวจปัสสาวะ ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น นอกจากนั้นจะมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม คือ การตรวจอัลตราซาวด์อุ้งเชิงกรานสตรีเพื่อหาความผิดปกติของมดลูก รังไข่ และฝ่ายชายก็ส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเชื้อ
การตรวจพิเศษเพิ่มของผู้หญิง
ตรวจอัลตราซาวด์อุ้งเชิงกรานสตรี (Pelvic Ultrasound) เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของมดลูก รังไข่ โดยสามารถตรวจได้ 2 วิธี คือ
- การตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางหน้าท้อง ซึ่งผู้รับตรวจจะต้องดื่มน้ำเปล่าแล้วกลั้นปัสสาวะเอาไว้จนในกระเพาะปัสสาวะมีปริมาณน้ำปัสสาวะมากพอ เพื่อให้น้ำในกระเพาะปัสสาวะช่วยดันลำไส้ออกจากช่องเชิงกราน ก็จะทำให้สามารถมองเห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจนขึ้น
- การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด ทำโดยใช้หัวตรวจขนาดเล็กสอดเข้าไปในช่องคลอด วิธีนี้จะให้ภาพของมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจนกว่าการอัลตราซาวด์ผ่านหน้าท้อง สามารถวัดขนาดหรือรูปร่างของมดลูก รังไข่ และดูความผิดปกติได้ เช่น เนื้องอก หรือถุงน้ำในรังไข่ ในกรณีที่พบความผิดปกติอาจต้องมีการขอตรวจเพิ่มเติม
การตรวจพิเศษเพิ่มของผู้ชาย
ตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเชื้อหรือตรวจสเปิร์ม (Semen Analysis) เป็นการตรวจเพื่อดูปริมาณตัวอสุจิใน น้ำเชื้อ ความเร็วในการเคลื่อนไหวอสุจิ ขนาด รูปร่าง และความสมบูรณ์ของอสุจิ ด้วย 2 วิธีการตรวจ คือ การตรวจด้วยตาเปล่า พิจารณาจากปริมาตร ความเป็นกรด-ด่าง ความหนืด การละลายตัว และการตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ พิจารณาจากการทดสอบอสุจิที่ยังมีชีวิต ความเข้มข้น การเคลื่อนที่ของอสุจิ รูปร่างอสุจิ เป็นต้น
โดยผู้รับการตรวจอาจต้องเตรียมตัวล่วงหน้า เช่น งดเว้นการหลั่งอสุจิอย่างน้อย 2 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน ทำการเก็บอสุจิในขณะร่างกายปกติพร้อมรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศให้ปราศจากการติดเชื้อใดๆ ขณะเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิต้องล้างมือให้สะอาดและเก็บโดยสำเร็จความ ใคร่ด้วยตนเอง เป็นต้น หากผลการวิเคราะห์น้ำอสุจิพบความผิดปกติ แพทย์มักมีการขอตัวอย่างน้ำอสุจิเพิ่มเพื่อตรวจซ้ำ ควรทิ้งระยะเวลา 4 สัปดาห์ก่อนการเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิครั้งต่อไป
การรักษาภาวะมีบุตรยาก
ภาวะมีบุตรยากทั้งในผู้ชายและผู้หญิง มีวิธีการรักษาหลายวิธี เช่น การรักษาด้วยยา การผ่าตัด หรือการช่วย ตั้งครรภ์ด้วยวิธีทางการแพทย์ โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยตามปัจจัยต่างๆ เช่น ให้ยา กระตุ้นการตกไข่ ฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก (IUI) นอกจากนี้ วิธีรักษาภาวะมีบุตรยากสามารถแก้ไขได้ด้วยการช่วยตั้งครรภ์โดยเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น เด็กหลอดแก้ว (IVF) การทำอิ๊กซี่ (ICSI) การช่วยฟักตัวอ่อน การใช้ไข่หรืออสุจิบริจาค และการอุ้มบุญ
หากคู่รักคู่ไหนเข้าข่ายภาวะมีบุตรยาก หรือพยายามหลายวิธีแล้วแต่ก็ยังไม่มีบุตรสักทีก็ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้