ทอนซิลอักเสบ อันตรายที่มีมากกว่าแค่อาการเจ็บคอ
ศูนย์ : ศูนย์โสต ศอ นาสิก
บทความโดย : พญ. จุฑามาส สุวัฒนภักดี
ทอนซิลอักเสบ เป็นภาวะอักเสบของต่อมทอนซิลส่วนคออักเสบ ทำให้มีอาการไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ กลืนลำบาก แต่ด้วยอาการของทอนซิลอักเสบจะคล้ายไข้หวัด ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าแค่ซื้อยามากินเองก็คงหาย แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าโรคทอนซิลอักเสบ สามารถพัฒนาเป็นโรคที่ร้ายแรงถึงชีวิตได้ ถ้ารักษาไม่ถูกวิธี บางรายหากทอนซิลอักเสบบ่อยๆ เป็นซ้ำหลายๆ ครั้งภายในปีเดียว อาจเรื้อรังจนรุนแรงมีขนาดของทอนซิลโต ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดตันได้ ดังนั้นไม่ควรชะล่าใจและรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิกเพื่อทำการการรักษา ซึ่งจะมีตั้งแต่การรักษาด้วยยาไปจนถึงการผ่าตัดต่อมทอนซิล เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้เต็มที่เช่นเดิม
สารบัญ
ทอนซิลอักเสบ เกิดจากสาเหตุใด
ต่อมทอนซิล (Tonsillitis) คือ ต่อมน้ำเหลือง 2 ต่อมอยู่เป็นคู่ ข้างซ้ายและขวาในลำคอที่อยู่ด้านข้างใกล้กับโคนลิ้น มีหน้าที่หลักในการดักจับและทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นภาวะอักเสบของต่อมทอนซิล ส่วน "คออักเสบ" (pharyngitis) มักใช้เรียกภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อในลำคอที่อยู่บริเวณหลังช่องปากเข้าไป บางครั้งภาวะทั้งสองอาจเกิดพร้อมกันได้ เกิดจากการอักเสบติดเชื้อ อาจเกิดทั้งจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แต่ถ้าทอนซิลอักเสบเป็นหนองมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
สัญญาณบ่งบอกต่อมทอนซิลอักเสบ
ผู้ที่ได้รับเชื้อในระยะเริ่มแรกจะมีอาการเป็นไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว ปวดร้าวไปที่หู และสามารถสังเกตได้เด่นชัดผ่านความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับคอ ได้แก่
- มีอาการเจ็บคออย่างรุนแรง
- อาจจะพบร่วมกับต่อมน้ำเหลืองที่คอโต กดเจ็บ
- กลืนลำบาก หากกลืนจะมีอาการเจ็บในลำคอ
- เสียงเปลี่ยนไป
- ปากมีกลิ่นเหม็น
- ต่อมทอนซิลมีอาการบวมแดง และมีจุดหรือชั้นบางๆ เกิดขึ้นบนต่อมทอนซิล
อันตรายจากต่อมทอนซิลอักเสบ
เชื้อที่เป็นสาเหตุของทอนซิลอักเสบบางชนิดเป็นเชื้อที่รุนแรง อาจทำให้เกิดหนองรอบๆ ต่อมทอนซิล ถ้าโรคลุกลาม ทอนซิลอักเสบบ่อยๆ ขนาดของทอนซิลจะโตซึ่งอาจทำให้ทางเดินหายใจแคบลง หายใจลำบาก เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดตันได้ โดยสังเกตได้จากขณะนอนหลับ ผู้ป่วยมักจะกรนดัง หรือสะดุ้งตื่นบ่อยๆ โดยเฉพาะในเด็ก
การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ
ถ้าอาการอักเสบไม่มาก เจ็บคอเล็กน้อย ไม่มีไข้ ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา โดยให้พักผ่อนมากขึ้น ดื่มน้ำ รับประทานอาหารให้เพียงพอ โดยร่างกายสามารถจัดการกับเชื้อโรคได้ ภายใน 2-3 วัน อาการจะดีขึ้น แต่ถ้ามีอาการมาก ควรมาพบแพทย์ โดยการรักษาได้แก่
1. การให้ยาขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดต่อมทอนซิลอักเสบว่าเกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรีย หากเกิดจากไวรัสจะรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาพ่น หรือยาอมแก้เจ็บคอ กรณีเกิดจากแบคทีเรียต้องให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ควรรับประทานยาดังกล่าวให้นานพอ 7-10 วัน ซึ่งในปัจจุบันยาในกลุ่มเพนนิซิลินยังใช้ได้ผลดี ยกเว้นเชื้อบางกลุ่มที่พบว่าดื้อยาแล้ว แพทย์จึงจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่แรงขึ้น ในรายที่มีอาการมากๆ เช่น เจ็บคอมากจนรับประทานอาหารไม่ได้และมีไข้สูง แพทย์อาจแนะนำให้นอนพักรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือ และยาทางหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้อาการทุเลาดีขึ้นเร็วกว่าการให้ยากลับไปรับประทานที่บ้าน
2. การผ่าตัดต่อมทอนซิล โดยทั่วไปแพทย์จะพิจารณาตัดต่อมทอนซิล ในกรณีที่- ต่อมทอนซิลอักเสบโตมาก อุดกั้นทางเดินหายใจ มีอาการหายใจลำบาก ส่งผลต่อการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- มีต่อมทอนซิลโต สงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งในต่อมทอนซิล
- มีการอักเสบเกิน 8 ครั้งใน 1 ปี หรือว่าเกิน 5 ครั้งต่อปีติดกัน 2 ปี หรือ 3 ครั้งต่อปีติดกัน 3 ปี
การผ่าตัดต่อมทอนซิล เป็นการผ่าตัดผ่านทางช่องปาก แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะใส่เครื่องมือเข้าไปทางช่องปาก เพื่อผ่าตัดต่อมทอนซิล การผ่าตัดลักษณะนี้ผู้ป่วยจึงไม่มีบาดแผลใดๆ ที่มองเห็นได้จากภายนอก ซึ่งการผ่าตัดจะมีการดมยาสลบ ก่อนเข้าห้องผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องงดน้ำ และอาหารอย่างน้อย 6 หรือ 8 ชั่วโมง เพราะจะช่วยป้องกันอาการสำลักน้ำ และอาหารเข้าไปในปอดในระหว่างที่ทำการผ่าตัด
ภายหลังการผ่าตัดอาจจะมีความรู้สึกเจ็บคอและแผลที่เยื่อบุลำคอทั้ง 2 ข้าง โดยหลัง 1 สัปดาห์อาการเจ็บแผลจะดีขึ้น และ 2-4 สัปดาห์ แผลจะหายเป็นปกติ ทั้งนี้โดยทั่วไปผู้ป่วยผ่าตัดต่อมทอนซิลจะอยู่ดูอาการที่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน ถ้าผู้ป่วยฟื้นคืนสภาพดี เช่น เดินได้เป็นปกติ กินได้ ไม่มีเลือดออก แพทย์ก็แนะนำให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ ทั้งนี้แพทย์จะนัดมาดูแผล ประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด และหลังจากนั้น 2-4 สัปดาห์ เพื่อติดตามผลการรักษา
ผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออกจะทำให้ร่างกายผิดปกติไหม
การผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออกไม่มีข้อเสีย แต่เป็นการป้องกันไม่ให้เป็นทอนซิลอักเสบอีก เนื่องจากเราผ่าตัดต่อมทอนซิลไปแล้ว การผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออก ไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงแต่อย่างใด ร่างกายยังมีต่อมไทมัส ไขกระดูก ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
หากมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก ติดต่อกันหลายวันหรือรักษาเบื้องต้นแล้วไม่หายสักที อย่าปล่อยไว้ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการวินิจฉัย และการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาในภายหลังได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์โสต ศอ นาสิก