ทำความรู้จัก โรคไวรัสตับอักเสบบี
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพนครธน
ตับอักเสบบี คือ การอักเสบของเซลล์ตับอันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (HBV) เมื่อเกิดการอักเสบจะทำให้เซลล์ตับตาย หากปล่อยให้เป็นเรื้อรัง ไม่ทำการรักษา จะทำให้เกิดพังผืด ตับแข็ง และเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด ซึ่งในประเทศไทยคาดว่าประชากรประมาณร้อยละ 5 มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี นั่นหมายถึง ประชากรประมาณ 3 ล้านคนมีไวรัสที่พร้อมที่จะแพร่ให้ผู้อื่นและก่อให้เกิดความเจ็บป่วยกับผู้ติดเชื้อ
สารบัญ
ไวรัสตับอักเสบ ติดต่อกันได้อย่างไรบ้าง?
ไวรัสตับอักเสบ บี สามารถติดเชื้อได้จากการติดต่อทางเลือด สารคัดหลั่ง ซึ่งสามารถติดต่อกันโดย
- การถ่ายทอดจากมารดาที่ติดเชื้อสู่ทารกขณะคลอด แต่ในปัจจุบันอัตราการแพร่เชื้อในกลุ่มนี้ลดลงมากเพราะการฉีดวัคซีนให้ทารกแรกเกิด ซี่งสามารถช่วยป้องกันได้เกือบ 100 เปอร์เซ็น
- การติดต่อกันผ่านทางเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ได้ป้องกั
- การสัก เจาะหู หรือการฝังเข็ม โดยใช้อุปกรณ์ร่วมกัน
- การใช้แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บร่วมกัน
- การสัมผัสเลือด น้ำเลือด น้ำคัดหลั่ง ผ่านทางบาดแผล
เมื่อได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จะมีอาการอย่างไร?
เมื่อเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 เดือน แล้วจึงเริ่มแสดงอาการ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการ
- อ่อนเพลีย คล้ายเป็นหวัด
- คลื่นไส้ อาเจียน
- จุกแน่นใต้ชายโครงขวาจากตับโต
- ปัสสาวะเข้ม
- ตาเหลือง
อาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้นในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ เพราะร่างกายจะค่อย ๆ กำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ออกไปพร้อม ๆ กับการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งจะมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้นที่อาจ ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้เอง ทำให้เกิดการติดเชื้อเรื้อรัง โดยเฉพาะหากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ตั้งแต่เด็ก ๆ ผู้ป่วยบางรายจะมีการอักเสบของตับร่วมอยู่ด้วย ซึ่งหากมีการตลอดเวลาจะทำให้มีการตายของเซลล์ตับ เกิดมีพังผืดเพิ่มมากขึ้นจนเป็นตับแข็งในที่สุด และผู้ป่วยบางรายอาจกลายเป็นโรคมะเร็งตับได้
การตรวจวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ บี
การตรวจวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ บี ในปัจจุบันสามารถทำได้โดยการเจาะเลือด เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (HBsAg) ตรวจการทำงานของตับ และยังสามารถตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบ บี ได้อีกด้วย ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคตัวอักเสบเรื้อรัง ต้องการติดตามการดำเนินของโรค เช่น ภาวะพังผืดในตับและการอักเสบของเซลล์ตับ สามารถทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อจากตับไปตรวจ ซึ่งแพทย์จะใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังเพื่อทำการเก็บชิ้นเนื้อจากตับ
หากตรวจพบว่าท่านเป็นตับอักเสบ บีเรื้อรัง สามารถรักษาได้อย่างไร?
ในปัจจุบันมีการรักษาที่ได้ผลในการลดการอักเสบของตับอยู่หลายวิธีทั้งโดยยาฉีดอินเตอร์เฟียรอน หรือยารับประทาน ลามิวูดีน ซึ่งยาทั้งสองอย่างสามารถลดปริมาณของไวรัส ลดการอักเสบของตับทำให้ระดับเอนไซม์ของตับกลับสู่ภาวะปกติ นอกจากนั้นยังอาจลดเนื้อเยื่อพังผืดในตับ ป้องกันการเกิดตับแข็งหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ การตัดสินใจเลือกชนิดยาสำหรับการรักษา แพทย์ผู้ดูแลจะอธิบายกับท่านถึงผลดี ผลเสียของการใช้ยาทั้งสองอย่าง และช่วยพิจารณาว่าท่านเหมาะสมกับยาชนิดใดมากกว่ากัน นอกจากนั้นท่านควรปฏิบัติตัวโดยการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรงดดื่มสุราและหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น พร้อมกับไปพบแพทย์เป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจการทำงานของตับและแพทย์อาจตรวจกรองหามะเร็งตับร่วมด้วย ท่านสามารถแต่งงานมีบุตรได้โดยควรตรวจคู่สมรสของท่านก่อนแต่งงาน หากยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรได้รับการฉีดวัคซีน ในกรณีมีบุตรทารกทุกรายจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อจากมารดาอยู่แล้วและมารดาสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ
หากท่านสงสัยว่าจะเป็นไวรัสตับอักเสบ บี ควรทำอย่างไร
หากท่านมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นไวรัสตับอักเสบ บี ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยอย่างละเอียด ซึ่งจะสามารถผลได้ในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์และเสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก โปรดอย่าลืมว่าไวรัสตับอักเสบ บี สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนและแม้ท่านได้รับเชื้อไปแล้วมีภาวะตับอักเสบก็ยังรักษาได้โดยการใช้ยา ถึงแม้ว่าไวรัสตับอักเสบ บี อาจไม่ได้หมดจากร่างกายแต่ก็สามารถหยุดยั้งไม่ให้เกิดการอักเสบ ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพนครธน