นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ไม่รักษาเสี่ยงกรวยไตอักเสบและไตวายได้
ศูนย์ : ศูนย์ศัลยกรรม
คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่ ปัสสาวะลำบาก แสบหรือขัด ปัสสาวะมีเลือดปน ปวดท้องน้อย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากการคั่งค้างของของเสียในร่างกาย หากขับถ่ายปัสสาวะออกไม่หมด ก็จะมีน้ำปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ จนเกิดการตกตะกอนแล้วค่อยๆ โตขึ้นเป็นก้อนนิ่ว ส่งผลให้มีอาการดังกล่าว หากไม่ทำการรักษา และปล่อยเอาไว้นานอาจเสี่ยงกรวยไตอักเสบและไตวายได้
สารบัญ
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คืออะไร?
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นหนึ่งในโรคนิ่วที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยจะพบเป็นก้อนของสารหรือแร่ธาตุที่ตกตะกอนหรือตกผลึก เกิดจากการที่มีปัสสาวะตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งจะมีขนาดเล็กมากๆ ไปจนถึงใหญ่กว่า 5 ซม. อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อน และอาจมีลักษณะแข็งมาก ค่อนข้างแข็ง หรืออาจจะค่อนข้างนุ่มได้ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากเกิดภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะได้บ่อยกว่า (Bladder outlet obstruction) ตะกอนนิ่วจึงมีโอกาสตกค้างได้มากกว่า
อาการบ่งบอก..นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ จะทำให้ผนังของกระเพาะปัสสาวะเกิดการระคายเคืองหรือไปปิดกั้นการไหลของปัสสาวะ จนทำให้ปวดท้องน้อย มีอาการปวดหรือรู้สึกไม่สบายที่อวัยวะเพศหรืออัณฑะในผู้ชาย มีอาการแสบขณะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบากหรือปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่นหรือปัสสาวะสีเข้มผิดปกติ บางรายถ่ายออกมามีก้อนนิ่วเล็กๆ หรือกรวดทรายปนกับน้ำปัสสาวะ อาจมีอาการไข้ หรือปวดข้อร่วมด้วย
สาเหตุเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ สามารถเกิดได้ 2 แบบ คือ นิ่วจากไตหรือท่อไตที่หลุดลงมาสะสมเพิ่มขนาดในกระเพาะปัสสาวะ และ นิ่วที่เกิดในกระเพาะปัสสาวะเอง ซึ่งเกิดจากการขับถ่ายปัสสาวะออกไม่หมด เช่น มีภาวะต่อมลูกหมากโตกีดขวางทางเดินปัสสาวะ ท่อปัสสาวะตีบตัน กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ ทำให้มีน้ำปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ นานวันเข้าก็จะเกิดการตกตะกอนแล้วค่อยๆ โตขึ้นเป็นก้อนนิ่วขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีสาเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้
- กระเพาะปัสสาวะระคายเคืองเรื้อรัง
- มีการอักเสบติดเชื้อซ้ำๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป จนทำให้ปัสสาวะเข้มข้น เกิดอาการตกตะกอนจนเป็นก้อนนิ่วได้ง่ายขึ้น
- มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารบางชนิดมากเกินไปทำให้ปัสสาวะมีสารตกตะกอนหรือเกลือแร่เข้มข้นมาก เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ยอดผัก เครื่องในสัตว์
ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อ หากปล่อยทิ้งไว้เรื้อรังหรือก้อนนิ่วอยู่ในตำแหน่งอุดกั้นปากท่อไตที่เปิดเข้ากระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้กรวยไตอักเสบและไตวาย
- เกิดการอักเสบติดเชื้อของไต และอาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
หากมีความผิดปกติตรวจได้อย่างไร?
แพทย์สามารถตรวจและวินิจฉัยโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้โดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ร่วมกับการตรวจปัสสาวะ พร้อมทั้งมีตรวจทางรังสีวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์ภาพช่องท้องในส่วนของไตและกระเพาะปัสสาวะ เพื่อระบุตำแหน่งและขนาดก้อนของนิ่ว รวมถึงอาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจอัลตราซาวด์ หรือส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะรักษาได้
การรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั้นขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของนิ่ว โดยมีแนวทางในการรักษา ดังนี้
- การทำให้นิ่วหลุดมาเองตามธรรมชาติ ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดเล็กมาก หรือ เล็กกว่า 4 มม. แพทย์อาจเริ่มจากการแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายขับนิ่วออกมาเองตามธรรมชาติ
- การสลายก้อนนิ่วด้วยคลื่นกระแทก หรือที่เรียกว่า ESWL (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy) เป็นการใช้คลื่นเสียงทำให้เกิดแรงกระแทกที่ก้อนนิ่วจนก้อนนิ่วแตกเป็นชิ้นเล็กๆ และหลุดไหลออกมากับน้ำปัสสาวะเป็นวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วและมีความเสี่ยงน้อยกว่าวิธีการอื่น ๆ
- การใช้กล้องส่องท่อปัสสาวะ (Cystoscopy) เพื่อขบ กรอนิ่ว หรือคีบเอานิ่วออก ให้นิ่วให้แตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วให้หลุดไหลออกมากับน้ำปัสสาวะ เหมาะสำหรับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะที่มีขนาดเล็ก สามารถสอดกล้องเข้าไปตามท่อปัสสาวะได้เลย และไม่ทำให้มีแผลผ่าตัด
- การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะ เพื่อเอานิ่วออกมา เหมาะสำหรับก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่
หากใครมีอาการปวดท้องน้อยบ่อย ๆ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะผิดปกติไปจากเดิม อย่าลืมปรึกษาแพทย์โดยด่วน ก่อนที่จะมีอาการหนักไปมากกว่าเดิม เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที รวมทั้งการดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นมากเกินไป จนตกตะกอนเป็นนิ่วได้ ทั้งนี้สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ได้เลย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ศัลยกรรม