ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ด้วยวัคซีนป้องกันก่อนการสัมผัสโรค

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : พญ. ธิดารัตน์ แก้วเงิน

ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ด้วยวัคซีนป้องกันก่อนการสัมผัสโรค

ปัจจุบันนี้โรคพิษสุนัขบ้ายังไม่ได้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งเด็กเล็กมักมีความเสี่ยงสูง ด้วยวัยของความอยากรู้อยากเห็น ความซุกซน อาจถูกกัดหรือสัมผัสโรคโดยไม่รู้ตัว ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งยังไม่มียาชนิดใดรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีหรือปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ ฉะนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนการสัมผัสโรค จึงเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยป้องกันและปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าได้



โรคพิษสุนัขบ้าเป็นอย่างไร

โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า "เรบี่ส์" (Rabies Virus) ก่อให้เกิดโรคในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น คน สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก ค้างคาว หรือสัตว์ป่าอื่นๆ โดยสุนัขและแมวเป็นสัตว์แพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าที่สำคัญที่สุดมาสู่มนุษย์ คนที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้านั้น เชื้อไวรัสจะทำลายระบบประสาท ผู้ติดเชื้อจะปวดเมื่อย เพลีย เป็นไข้ปวดศีรษะ กลัวน้ำ กลัวลม กระสับกระส่าย มีการอาการทางระบบประสาท เป็นอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด

โรคพิษสุนัขบ้าสามารถเป็นได้ทุกวัย โดยเกิดจากการสัมผัสสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า โดยได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอกจากการกัด ข่วน หรือถูกน้ำลายจากสัตว์ที่เป็นโรค รวมถึงการถูกเลียบริเวณริมฝีปากหรือเยื่อบุตา

> กลับสารบัญ


ทำไมต้องฉีดวัคซีน และเซรุ่มหลังจากถูกกัด

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน กรณีที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคสุนัขบ้ามาก่อน ผู้ที่ถูกสัตว์ที่ต้องสงสัยหรือสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนที่ผลิตจากเชลล์เพาะเลี้ยงจำนวน 4-5 เข็ม ขึ้นกับวิธีฉีด ซึ่งมีความปลอดภัยสูง แต่ในกรณีที่ถูกสัตว์กัดอย่างรุนแรง มีบาดแผลบริเวณศีรษะใบหน้าหรือแผลมีเลือดออก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จำเป็นต้องฉีดเซรุ่มร่วมกับวัคซีน โดยฉีดรอบๆ แผลทุกแผล เพราะเซรุ่มเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปแบบเร่งด่วนที่ไปทำลายเชื้อได้ก่อนที่จะก่อโรค และก่อนที่วัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้เอง

> กลับสารบัญ


ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ด้วยการฉีดวัคซีนก่อนการสัมผัสโรค

วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ง่ายที่สุด ด้วย การฉีดวัคซีนแบบป้องกันล่วงหน้าก่อนสัมผัสโรค คือ ฉีดก่อนที่จะถูกสัตว์กัดหรือข่วน โดยทุกคนสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ โดย

  1. เด็กปกติ จะให้ฉีด 2 ครั้ง โดยฉีดในปริมาณ 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อ โดยเข็มที่ 1 ในวันที่ต้องการฉีด และเข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรกอย่างน้อย 7 วัน (0, 7 วัน)
  2. กรณีผู้ที่เคยฉีดวัคซีนก่อนการสัมผัสโรค
    • หากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัดภายใน 6 เดือน ถ้าถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัดนับจากวัคซีนเข็มสุดท้าย ให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ 1 เข็ม หรือ เข้าในชั้นผิวหนัง 1 จุด โดยเร็วที่สุด
    • หากถูกกัดนานกว่า 6 เดือนหลังวัคซีนเข็มสุดท้าย ให้ฉีดกระตุ้น โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 เข็ม หรือเข้าในชั้นผิวหนัง 1 จุด ใน วันที่ 0 และ 3 หรือฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง 4 จุด ครั้งเดียวโดยเร็วที่สุด

> กลับสารบัญ


ข้อควรปฏิบัติเมื่อถูกสัตว์กัด ข่วน หรือเลีย

  1. ล้างแผลด้วยน้ำและน้ำสบู่ หลายๆ ครั้ง โดยให้น้ำไหลผ่านมากๆ แล้วทายา ฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน หรือ แอลกอฮอล์
  2. จดจำสัตว์นั้นให้ได้ เพื่อสืบหาเจ้าของ และสอบถามประวัติความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า และเฝ้าสังเกตอาการป่วยของสัตว์
  3. ไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการดูแลที่ถูกต้อง ซึ่งแพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และเซรุ่มตามความเหมาะสม

> กลับสารบัญ


อย่างไรก็ตาม การป้องกันตนเองที่สามารถทำได้ง่ายที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการโดนกัดหรือสัมผัสโรค การหลีกห่างจากสัตว์จรจัดหรือสัตว์ที่เป็นโรคนี้ รวมทั้งให้นำสัตว์เลี้ยงในบ้านไปฉีดวัคซีนสัตว์ทุกๆ ปี รวมทั้งเข้าปรึกษาแพทย์เรื่องการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนการสัมผัสโรค (Pre-exposure prophylaxis)

พญ.ธิดารัตน์ แก้วเงิน พญ.ธิดารัตน์ แก้วเงิน

พญ.ธิดารัตน์ แก้วเงิน

กุมารเวชศาสตร์ / กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ
ศูนย์สุขภาพเด็ก






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย