ปวดหัว แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย เสี่ยง ‘ภาวะหัวใจโต’

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล

ปวดหัว แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย เสี่ยง ‘ภาวะหัวใจโต’

หากคุณมีอาการหายใจลำบาก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ เวียนศีรษะ อ่อนเพลียง่าย นอนราบไม่ได้เนื่องจากแน่นหน้าอก ให้สันนิษฐานไว้ก่อนได้เลยว่าคุณอาจเป็น “ภาวะหัวใจโต” ทั้งนี้ทั้งนั้นใครที่มีอาการเหล่านี้ก็อย่าเพิ่งตระหนกตกใจไป ลองมาพบแพทย์เพื่อรับคำวินิจฉัยเพิ่มเติมเสียก่อน หรือหากใครที่ยังไม่รู้ว่าโรคนี้มีสาเหตุเกิดจากอะไร จะป้องกันและรักษาได้อย่างไร ไปฟังคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจกันได้เลย


ภาวะหัวใจโต

ภาวะหัวใจโต แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

  1. กล้ามเนื้อหัวใจโตที่เกิดขึ้นเพราะกล้ามเนื้อที่หนาตัวกว่าปกติ คือ กล้ามเนื้อใหญ่ขึ้นเพราะทำงานหนัก บีบตัวมากๆ เช่น ในกรณีความดันโลหิตสูง หรือลิ้นหัวใจตีบก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นได้
  2. กล้ามเนื้อหัวใจโตที่เกิดขึ้นเพราะกล้ามเนื้อบีบตัวไม่ดี มีเลือดคั่งค้างในหัวใจมาก คล้ายลูกโป่งใส่น้ำ ทำให้มีขนาดโตขึ้น ซึ่งมีอีกหลายโรคที่ทำให้เกิดภาวะโรคหัวใจ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย เบาหวาน เป็นต้น

หัวใจโตมักมีอาการอย่างไร?

  • หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  • หายใจเร็ว
  • เวียนศีรษะ อ่อนเพลียง่าย
  • ใจสั่น
  • บวมบริเวณเท้าตอนสายๆ
  • ไอโดยเฉพาะเวลานอน
  • นอนราบไม่ได้เนื่องจากแน่นหน้าอก

ทั้งนี้ การตรวจร่างกายจะมุ่งเน้นถึงสาเหตุของหัวใจโตมากกว่าขนาดของหัวใจที่โตขึ้น ดังนั้นวิธีการตรวจหาความผิดปกติของหัวใจจึงใช้การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเอ็กซเรย์ทรวงอก (ปอดและหัวใจ) หากกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ หรือเคยมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อนจะแสดงให้เห็นจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ


สาเหตุของภาวะหัวใจโต

  • ความดันโลหิต สำหรับคนที่มีความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่อง หัวใจจะทำงานหนักจึงทำให้หัวใจโตได้
  • ผู้ป่วยที่มีโรคลิ้นหัวใจ ไม่ว่าจะลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่ว มีการอักเสบติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ โรคต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้เกิดโรคหัวใจโต
  • โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เช่น ผนังหัวใจรั่ว
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคความดันในปอดสูง
  • โรคโลหิตจาง หรือ ซีดเป็นเวลานาน
  • โรคต่อมไทรอยด์ไม่ว่าจะทำงานมากหรือน้อยก็ทำให้เกิดหัวใจโต
  • มีความผิดปกติเกี่ยวกับโปรตีนทำให้มีการสะสมโปรตีนในกล้ามเนื้อหัวใจที่เรียกว่า Amyloidosis
  • สำหรับท่านที่รับประทานธาตุเหล็กมากไปจะมีการสะสมของธาตุเหล็กเกิดที่ทำให้เกิดโรค Hemochromatosis

วิธีป้องกันภาวะหัวใจโต

  1. ควบคุมโรคความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วนและไม่ได้ออกกำลัง หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูงจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสในการเกิดความดันโลหิตสูง ส่วนคนที่มีความดันโลหิตสูงอยู่แล้วต้องรับประทานยาและปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  2. สำหรับโรคทางพันธุกรรม ควรตรวจสอบประวัติครอบครัว หากมีประวัติโรคหัวใจในครอบครัวท่านควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็คอาการของโรคหัวใจ
  3. รักษาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

การตรวจหาสาเหตุของภาวะหัวใจโต

  1. คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  2. ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งสามารถดูการบีบหัวใจ ลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ( Echocardiogram)
  3. การเจาะเลือด (laboratory)
  4. บางรายจำเป็นต้องฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ (CAG)

การรักษาภาวะหัวใจโต

การรักษาโรคหัวใจโตจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาต้นเหตุ ทั้งนี้อาจมีการใช้ยาเพื่อรักษาอาการบวม ลดความดันและรักษาอาการหัวใจวาย รักษาอาการหัวใจเต้นผิดปกติร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยเฉพาะผู้ที่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ


ข้อแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  1. หยุดสูบบุหรี่
  2. ลดน้ำหนัก
  3. รับประทานอาหารจืด
  4. ควบคุมเบาหวาน
  5. ควบคุมความดันให้เหมาะสม
  6. ออกกำลังกาย
  7. พักผ่อนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง

Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย