ปวดเข่าบ่อย ลุกนั่งเดินเจ็บ สัญญาณโรคข้อเข่าเสื่อม
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ
บทความโดย : นพ. นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์
อาการปวดเข่าเป็นอาการที่พบได้บ่อย และควรให้ความสำคัญ เพราะถ้าหากได้รับการวินิจฉัยล่าช้า ผลที่ตามมาคือ การเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม ผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมมากๆ จะมีอาการเจ็บหรือปวดเข่า ข้อเข่าผิดรูป ข้อฝืด หรือข้อติด เดินได้ไม่ปกติ ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม ส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ซึ่งเป็นวิธีสากลที่ได้รับการยอมรับว่าผลการรักษาดีที่สุด ทำให้หายปวดเข่า ข้อเข่ากลับมาเคลื่อนไหวได้ดีดังเดิม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สารบัญ
รู้ได้อย่างไร อาการปวดเข่าแบบไหน ที่แสดงว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
ข้อเข่าเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ มักพบบ่อยในผู้ที่อายุเกิน 40 ปี พบมากในผู้หญิงและผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มักเป็นทั้ง 2 ข้าง เมื่อข้อเข่าข้างหนึ่งเริ่มเสื่อมแล้ว จะมีข้อเข่าอีกข้างเสื่อมอีกใน 11 ปีต่อมา
อาการในระยะแรก เริ่มปวดเข่าเวลามีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน ขึ้นลงบันได หรือนั่งพับเข่า อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดพักการใช้ข้อ ร่วมกับมีอาการข้อฝืดขัด โดยเฉพาะเมื่อหยุดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เมื่อขยับข้อจะรู้สึกถึงการเสียดสีของกระดูกหรือมีเสียงดังในข้อ
เมื่อมีภาวะข้อเข่าเสื่อมรุนแรง อาการปวดเข่าจะรุนแรงมากขึ้น บางครั้งปวดเวลากลางคืน อาจคลำส่วนกระดูกงอกได้บริเวณด้านข้างข้อ เมื่อเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาเต็มที่จะมีอาการปวดหรือเสียวบริเวณกระดูกสะบ้า หากมีการอักเสบจะมีข้อบวม ร้อน และตรวจพบน้ำในช่องข้อ ถ้ามีข้อเสื่อมมานานจะพบว่า เหยียดหรืองอข้อเข่าได้ไม่ค่อยสุด กล้ามเนื้อต้นขาลีบ ข้อเข่าโก่ง หลวม หรือบิดเบี้ยวผิดรูป ทำให้เดินและใช้ชีวิตประจำวันลำบาก และมีอาการปวดเวลาเดินหรือขยับ
สาเหตุโรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิม และอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยแบ่งสาเหตุได้ 2 แบบ ดังนี้
- ความเสื่อมแบบปฐมภูมิ หรือไม่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัย ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเสื่อมของข้อเข่า ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงพบมากกว่าเพศชาย มีน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน การใช้งาน ท่าทาง กิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามาก เช่น การนั่งคุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ เป็นต้น ความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง และกรรมพันธุ์
- ความเสื่อมแบบทุติยภูมิ เป็นความเสื่อมที่ทราบสาเหตุ เช่น เคยประสบอุบัติเหตุมีการบาดเจ็บที่ข้อ เส้นเอ็น การบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่าจากการทำงานหรือการเล่นกีฬา โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เก๊าท์ ข้ออักเสบติดเชื้อ โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น อ้วน เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อมตรวจพบได้จากการเอกซเรย์ข้อเข่า โดยฟิล์มที่ปรากฏจะมองเห็นช่องว่างแคบๆ ระหว่างข้อเข่าด้านบนและข้อเข่าด้านล่าง แสดงให้เห็นว่ามีการสึกหรอของกระดูกอ่อน นอกจากนี้แพทย์จะซักประวัติอาการปวดเข่า ประวัติคนในครอบครัว ประวัติการบาดเจ็บข้อเข่า และวัดความสามารถในการงอและเหยียดข้อเข่า
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
- รักษาโดยไม่ใช้ยา ช่วยบรรเทาอาการปวดและช่วยให้เข่าเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ได้แก่ การประคับประคองด้วยการลดแรงกดที่ข้อเข่า ร่วมกับการทำให้กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงขึ้น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ข้อเข้า การควบคุมน้ำหนักตัว และการบริหารกล้ามเนื้อและออกกำลังเพื่อสุขภาพ ซึ่งต้องได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- รักษาโดยการใช้ยา อยู่ภายใต้แผนการรักษาของแพทย์ เช่น ยาทาเฉพาะที่ ประเภทยาแก้ปวดและต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และ เจลพริก (Capsaicin) ใช้ทานวดซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความร้อนเฉพาะที่ ยาแก้ปวด พาราเซตามอล ยาต้านการอักเสบไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ในรูปของยารับประทานและยาฉีด ซึ่งช่วยลดอาการปวดและอักเสบได้ดี และยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
- รักษาโดยวิธีการผ่าตัด
- การส่องกล้องข้อเข่า เพื่อตรวจสภาพและล้างภายในข้อ เป็นการรักษาที่น่าจะได้ผลดี ในกลุ่มที่มีเศษขรุขระเล็กน้อยที่เป็นสาเหตุของอาการปวดขัดในข้อ ใช้รักษาภาวะเข่าเสื่อมในระยะแรกเท่านั้น ในกรณีที่ข้อเสื่อมมากหรือรุนแรง แนะนำให้เปลี่ยนผิวข้อแทน
- การผ่าตัดปรับแนวข้อ ในกรณีที่มีการผิดรูปของข้อ โดยแก้ไขแนวแรงให้กระจายไปยังจุดที่ผิวข้อยังดีอยู่
- การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม (Total Knee Arthroplasty: TKA) เป็นวิธีการรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมในระยะปานกลางถึงระยะรุนแรง เป็นที่ยอมรับว่าเป็นวิธีสากลที่ให้ผลการรักษาดีที่สุด นั่นคือ ทำให้หายปวดเข่า ข้อเข่ากลับมาเคลื่อนไหวได้ดีดังเดิม
เทคโนโลยีการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
ปัจจุบัน การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมเป็นที่นิยมมาก เพราะเห็นผลการรักษาไว และทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ โดยไม่เจ็บเข่าทรมานอีก ซึ่งผิวข้อเข่าเทียมที่เปลี่ยนนั้นทำมาจากสเตนเลสผสมจำพวกนิเกิล โคบอล ไททาเนียม ส่วนหมอนรองกระดูกเทียมทำจากวัสดุจำพวกพลาสติกชนิดพิเศษ (Polyethylene) ไม่มีปฏิกิริยาต่อร่างกาย น้ำหนักเบา และใช้งานได้คงทน เป็นที่รู้จักของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทั่วโลก
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด มีดังนี้
- มีภาวะข้อเข่าเสื่อมที่มีการสึกหรอและเสื่อมสภาพซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายรังสี
- มีอาการปวด บวม ตึงข้อเข่า ซึ่งส่งผลต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
- ได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล
ขั้นตอนในการผ่าตัด
เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะผิวของกระดูกทั้ง 3 ส่วนที่ประกอบกันเป็นข้อเข่า (กระดูกส่วนของต้นขา หน้าแข้ง และสะบ้า) โดยแพทย์จะตัดส่วนของผิวข้อที่สึกหรอหรืออักเสบออกไป ซึ่งมีความหนาประมาณ 8-10 มิลลิเมตร แต่งกระดูกให้ได้มุมรับกับผิวข้อเทียม แล้วจึงใส่ข้อเทียมด้านกระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้งซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ทำด้วยโลหะอย่างดี โดยมีพลาสติกชนิดพิเศษซึ่งทำหน้าที่คล้ายกระดูกอ่อน คั่นอยู่ระหว่างข้อเทียมที่เป็นโลหะ ส่วนข้อเทียมที่ใส่ด้านหลังของกระดูกสะบ้าทำด้วยพลาสติกเช่นกัน และใช้ซีเมนต์พิเศษยึดระหว่างข้อเทียมกับกระดูกไว้ ดังนั้นข้อเทียมจึงมีความแข็งแรงและทนทานยาวนาน
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด
หลังการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 4-5 วัน ประมาณวันที่ 1-2 หลังทำผ่าตัดจะเริ่มหัดเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยเดิน (Walker) ภายใต้การดูแลของแพทย์และนักกายภาพบำบัด รวมถึงการจัดบ้านให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย และพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อหลังการผ่าตัด ข้อเข่าหลวมหลังจากการใช้งานไประยะหนึ่ง เป็นต้น
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม จัดเป็นการผ่าตัดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บปวดทรมาน สามารถกลับมาเดินได้ตามปกติ หรือใกล้เคียงปกติ สามารถออกไปใช้ชีวิตประจำวันได้ ออกกำลังกายหรือท่องเที่ยวได้ รวมถึงรูปร่างของข้อเข่าดูสวยงามขึ้น
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกและข้อ