ภาวะ “ลองโควิด” กับอาการทางหัวใจที่ยังหลงเหลืออยู่
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล
โควิด-19 มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับสุขภาพร่างกายหลายระบบไม่เพียงแต่กับระบบทางเดินหายใจ ปอด และสมองเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบกับระบบหัวใจและหลอดเลือดได้เช่นกัน ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายแล้วบางรายยังประสบปัญหากับภาวะลองโควิด (Long COVID) ที่มีอาการทางหัวใจหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ จะมีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ เพราะอาจจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้
สารบัญ
ภาวะ “ลองโควิด” เป็นอย่างไร
“ลองโควิด” (LONG COVID) เป็นภาวะที่พบในผู้ป่วยที่เป็นโควิด-19 หลังจากรักษาตัวแล้วหายดีไม่มีเชื้อหลงเหลืออยู่ แต่มีอาการที่เกิดต่อเนื่องหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 ภาวะลองโควิดยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง เพราะการติดเชื้อโควิด-19 นั้นจะนำไปสู่กลไกการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและเกิดการอักเสบในร่างกาย เมื่อร่างกายของผู้ป่วยสามารถกำจัดเชื้อโรคแล้ว ไม่ว่าจะกำจัดได้เอง หรือต้องอาศัยยาต้านไวรัสช่วยก็ตาม แต่ภูมิคุ้มกันและการอักเสบก็อาจจะยังไม่ฟื้นฟู หรือเกิดจากผลข้างเคียงในด้านของการรักษาที่ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานานโดยเฉพาะห้อง ICU ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เป็นต้น โดยอัตราการเกิดลองโควิด จะอยู่ที่ประมาณ 40-80% (จากรายงานทั่วโลก) ซึ่งอาการที่พบมีหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
ลองโควิดกับผลกระทบทางหัวใจ
โควิด-19 นั้นมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับหัวใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจที่ติดเชื้อจะทำให้อาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนที่สูงกว่าคนทั่วไป เกิดจากการที่ร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อ อาจมีภาวะที่เรียกว่า เกิดภูมิต้านทานของตัวเองต่อกล้ามเนื้อหัวใจและต่อเยื่อหุ้มหัวใจ ที่จะส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรงและการทำงานและการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง หรือผลจากการกระตุ้นจากเชื้อไวรัส ถ้าเข้าในกล้ามเนื้อหัวใจทำให้เกิดการทำลายกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง และเมื่อหายจากโรคโควิด-19 แล้ว ในบางรายอาจยังมีภาวะอาการทางหัวใจที่ยังหลงเหลืออยู่ หรือภาวะลองโควิด (Long COVID) ได้
อาการทางหัวใจหลังหายจากโควิด-19
อาการของคนที่มีภาวะลองโควิด (Long COVID) ที่แสดงออกทางด้านของหัวใจอาจจะมีอาการหลงเหลืออยู่ ได้แก่
- ภาวะใจสั่น
- เหนื่อย เพลีย
- การเสียประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาท โดยเฉพาะการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อแขน ขา และกล้ามเนื้อลาย
- เห็นภาพซ้อน
- อาการเจ็บหน้าอก โดยลักษณะการเจ็บหน้าอกไม่เฉพาะเจาะจง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลองโควิดทางด้านหัวใจ
ภาวะลองโควิด (LONG COVID) สามารถเกิดได้กับผู้ที่ติดเชื้อทุกคน ทั้งที่มีอาการน้อย หรือแทบไม่มีอาการเลยก็ได้ แต่ความเสี่ยงของกลุ่มที่จะเกิดภาวะลองโควิดที่จะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจได้มากขึ้น ได้แก่
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ
- ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขณะติดเชื้อ
- ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ
- ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน ระดับดัชนีมวลกาย (Body mass index) หรือ BMI ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป
หายโควิดแต่ยังมีอาการ “ลองโควิด” ทำอย่างไร
อาการลองโควิดไม่ได้เกิดจากการคิดไปเอง แต่เป็นผลจากความผิดปกติภายในร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 เมื่อหายแล้วกลับยังมีอาการเกี่ยวกับหัวใจ เช่น ภาวะใจสั่น อาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย เพลีย หลงเหลืออยู่ แนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคหัวใจ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอาการตั้งแต่เริ่มติดเชื้อจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับตรวจร่างกาย ตรวจเอกซเรย์ปอด เช็คการหายใจ ตรวจเลือด รวมถึงการตรวจพิเศษอื่นๆ ทางด้านหัวใจ อาทิ การตรวจสารบ่งชี้การอุดตันของเส้นเลือดดำ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
แม้จะตรวจไม่พบเชื้อ แต่ร่างกายยังอาจฟื้นฟูได้ไม่เต็มร้อย ผู้ป่วยจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองหลังออกจากโรงพยาบาล และต้องหมั่นสังเกตอาการและดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติหรือมีข้อสงสัยที่คิดว่าอาจจะมีความเสี่ยงควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คทันที
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ