ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดมีการหนาตัวหรือแข็งตัวขึ้น เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปมักเกิดร่วมกับเรื่องของอายุ เมื่ออายุมากขึ้นหลอดเลือดแดงจะเสื่อมตามวัย เสียความยืดหยุ่น มีหินปูนเกาะ รวมถึงมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้หลอดเลือดแดงเสื่อมมากขึ้น ได้แก่ การสูบบุหรี่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และ คอเลสเตอรอลในเลือดสูง โดยภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่โรคหัวใจชนิดร้ายแรง โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้
ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เป็นอย่างไร
ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เป็นภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดชั้นในหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการสะสมของตะกอนไขมัน คอเลสเตอรอล หรือแคลเซียม จนทำให้หลอดเลือดแดงแข็งหรือตีบตัน ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไม่เพียงพอสำหรับเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย ทั้งนี้คราบตะกอนสะสมอาจสลายแตกตัวออกเป็นชิ้นๆ เป็นสาเหตุของลิ่มเลือด หากทิ้งไว้โดยไม่รักษา โรคหลอดเลือดแดงแข็งก็สามารถนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย
เมื่อมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เสียความยืดหยุ่น ปัญหาที่ตามมาคือ ความดันโลหิตจะยิ่งสูงขึ้น หลอดเลือดเสื่อมมากขึ้น มีไขมันไปสะสมในผนังหลอดเลือด เกิดการตีบ หรือแตก ได้ง่ายขึ้น
สาเหตุภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง
ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง อาจเกิดจากการทำลายผนังชั้นในของเส้นเลือดแดงซึ่งเป็นบริเวณที่มักเริ่มมีการสะสมของสารต่างๆ เช่น ไขมัน แคลเซียม โดยคราบตะกอนเหล่านี้ทำให้เลือดที่ไหลเวียนในหลอดเลือดถูกจำกัด เกิดการแข็งตัวตามมาภายหลัง เมื่อหลอดเลือดเกิดการตีบตัน เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ หัวใจขาดเลือด นำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้
โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ได้แก่
- อายุ ผู้ที่มีอายุมากจะเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้มากกว่า โดยเฉพาะเพศชายอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป และเพศหญิงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
- พันธุกรรม มีพ่อ พี่ชาย หรือน้องชายเป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 55 ปี หรือมีแม่ พี่สาว หรือน้องสาวเป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 65 ปี
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมัน และคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน โรคอ้วน
- การสูบบุหรี่
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
อาการภาวะหลอดเลือดแดงแข็งที่หัวใจ
ในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่พบอาการใดๆ แต่เมื่อมีไขมัน หรือแคลเซียม ก่อตัวขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งที่หัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับ โดยอาการเจ็บหน้าอกจะรุนแรงขึ้นเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ และจะทุเลาลงเมื่อหยุดพัก นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บร้าวมาที่คอ กระดูกกราม ไหล่ และแขน โดยเฉพาะฝั่งซ้ายของร่างกาย มีเหงื่อออกมาก หายใจหอบเหนื่อย หัวใจเต้นผิดจังหวะ คล้ายจะเป็นลม หรือหมดสติได้
การตรวจวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง
เบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติอาการป่วยและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจร่างกายต่างๆ เช่น ตรวจวัดความดันเลือด ตรวจเลือดเพื่อเช็คระดับคอเรสเตอรอล ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจคลื่นหัวใจขณะออกกำลังกาย เป็นต้น รวมไปถึงการตรวจหาอาการหรือสัญญาณที่บ่งบอกว่าหลอดเลือดแข็งหรือตีบตัน โดยการประเมินหลอดเลือดแดงแข็ง หรือ ตีบตัน มีหลายวิธี เช่น
- การตรวจ ABI (Ankle – Brachial Index) เป็นการตรวจวัดความดันโลหิตของแขนและขาและขาทั้ง 4 และนำความดันโลหิตของขามาเปรียบเทียบกับความดันโลหิตของแขนจะได้ตัวเลขออกมาเป็น Index ซึ่งคนปกติจะมี Index ต่ำกว่า 0.9 – 1.3 ถ้าความดันโลหิตของขาน้อยกว่าความดันโลหิตของแขน หรือ Index ต่ำกว่า 0.9 แสดงว่ามีการตีบตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขาไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม และบุคคลเหล่านี้จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนทั่วไป
- 2. การตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score) เป็นการตรวจปริมาณแคลเซียมที่ผนังของหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Scan) และคำนวณหาปริมาณแคลเซียมที่เกาะภายในผนังหลอดเลือดแดง โดยค่าที่ได้จะบ่งบอกแนวโน้มถึงโอกาสในการที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจว่ามีมากน้อยเพียงใด
การรักษาภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง
การรักษาภาวะหลอดเลือดแดงแข็งที่หัวใจ จะเน้นเพื่อบรรเทาอาการของโรค ลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือด ลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดไขมันในหลอดเลือดแดง โดยแบ่งการรักษาได้ดังนี้
- การรักษาด้วยยา จะช่วยป้องกันไม่ให้ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมีอาการแย่ลง เช่น ยาลดไขมันในเลือด ยาต้านเกล็ดเลือดเพื่อลดการก่อตัวของเกล็ดเลือดในหลอดเลือดแดง ยาสลายลิ่มเลือดในกรณีที่ลิ่มเลือดเป็นสาเหตุทำให้เกิดการตีบตันของหลอดเลือดแดง ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น
- การขยายหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้ท่อบอลลูน หรือลวดตาข่าย เพื่อทำการขยายหลอดเลือดที่ตีบแคบ จะช่วยดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกน้อยลง หายใจได้เต็มที่ขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้
- การทำบายพาส เป็นการผ่าตัดเพื่อทำทางเบี่ยงหลอดเลือดที่แข็งหรือเกิดการอุดตัน เพื่อให้เลือดไหลเวียนเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก และป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือด
ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งที่หัวใจ และความเสื่อมของหลอดเลือดอาจไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่เราสามารถชะลอการเสื่อมหรือป้องกันไม่ให้ภาวะนี้แย่ลงได้ ด้วยการรักษาถึงสาเหตุ รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและโภชนาการ เช่น ไม่สูบบุหรี่ ควบคุมความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือดให้ปกติ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หรือมีเกลือโซเดียม เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็สามารถดูแลหลอดเลือดแดง ไม่ให้เสื่อมก่อนวัยอันควรได้แล้ว
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ