ภาวะไขมันในเลือดสูง อาจเป็นระดับคอเลสเตอรอลสูง หรือระดับไตรกลีเซอไรด์สูงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองชนิดก็ได้ ไขมันที่มีปริมาณสูงนี้จะเกาะที่ผนังด้านในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็ง ตีบ อุดตัน เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน และการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม ควบคุมปริมาณและชนิดของไขมันในอาหาร จะสามารถช่วยควบคุมระดับไขมันในเลือดได้
ไขมันในเลือดสูงเท่าไร ถึงอันตราย
ภาวะไขมันในเลือดสูง เกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ การดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเกินความจำเป็นของร่างกาย ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์ การขาดการออกกำลังกาย และจากโรคหรือการใช้ยาบางชนิด ซึ่งการมีไขมันในเลือดสูงจะทราบได้ก็ต่อเมื่อทำการตรวจโดยวิธีการเจาะเลือด โดยค่ามาตรฐานของระดับไขมันในเลือด มีดังนี้
ประเภทไขมันในเลือด | ค่ามาตรฐาน |
---|---|
คอเลสเตอรอล (Cholesterol) | ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร |
คอเลสเตอรอลชนิดดี หรือ เอชดีแอล (High density lipoprotein; HDL) | ผู้ชายมากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ผู้หญิงมากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร |
คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือ แอลดีแอล (Low density lipoprotein; LDL) | ไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร |
ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) | ไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ค่าปกติ 50 – 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) |
หากคอเลสเตอรอลสูง หรือระดับไตรกลีเซอไรด์สูงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง ถือว่า เข้าสู่ภาวะไขมันในเลือดสูง การรักษานั้นจะมีทั้งการรับประทานยาลดไขมัน และการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม ควบคุมปริมาณและชนิดของไขมันในอาหาร จะสามารถคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้
อาหารในผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
การควบคุมการรับประทานอาหาร ในผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงเป็นหลักสำคัญ โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง และควรรับประมานมีดังนี้
1. อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
- น้ำมันชนิดกรดไขมันอิ่มตัวสูง (saturated fatty acid) เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ น้ำมัน หมู ไก่
- อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ได้แก่ หนังสัตว์และส่วนติดไขมันสัตว์ เช่น หมูติดมัน เบคอน หมูกรอบ เป็นต้น เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก ไส้อั่ว แหนม แฮม โบโลน่า หมูยอ กุนเชียง เป็นต้น นมและผลิตภัณฑ์จากนมแบบชนิดไขมันเต็มส่วน
- อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่ปลา ไข่แดง ตับ ไต สมอง ปลาหมึก หอยนางรม จำกัดไข่แดงไม่เกิน 3-4 ฟองต่อสัปดาห์ ส่วนไข่ขาวรับประทานได้ไม่จำกัด เครื่องในสัตว์ไม่ควรรับประทานบ่อย
- ไขมันทรานส์ ได้แก่ เนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม หรืออาหารที่ใช้ไขมันดังกล่าว เช่น เค้ก คุกกี้ พาย ขนมปัง มันฝรั่งทอด น้ำมันทอดซ้ำ
- การรับประทานไขมันจากมะพร้าว เช่น กะทิข้น ควรเลี่ยงการรับประทานเมนูแกงกะทิ เช่น แกงเผ็ด แกงแพนง แกงเขียวหวาน ต้มข่าไก่ เป็นต้น
- อาหารหวานหรือมีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวานต่างๆ น้ำหวาน น้ำผลไม้ต่างๆ น้ำอัดลม
- การดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะมีผลทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
2. อาหารที่ควรรับประทาน ได้แก่
- อาหารประเภทเนื้อปลา โดยเฉพาะปลาทะเล เช่น ปลาทู ปลาโอ ปลาทูน่า ปลาซาบะ ปลาแซลมอน เนื่องจากมีโอเมก้า 3 ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และจะช่วยในการเพิ่มไขมันดีในเลือด (HDL) โดยรับประทานอย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
- เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน นมพร่องมันเนย
- เลือกรับประทานถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเหลือง
- อาหารประเภทผักใบต่างๆ และผลไม้บางชนิดที่ให้กากและใยสูง เช่น คะน้า ฝรั่ง ส้ม เม็ดแมงลัก เพื่อให้ร่างกายได้รับกากใยมากขึ้น และช่วยในการดูดซึมไขมันสู่ร่างกายน้อยลง
- ใช้น้ำมันถั่วเหลือง ดอกทานตะวัน มะกอก ข้าวโพด รำข้าว เมล็ดดอกคำฝอย แทนน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าว
- วิธีปรุงอาหารเลือกใช้การนึ่ง ย่าง อบ ยำ แทนการทอด
ตัวอย่างปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารที่รับประทานได้
ชนิดอาหาร | ปริมาณ 1 หน่วยบริโภค | ปริมาณคอเลสเตอรอล (มิลลิกรัม) |
---|---|---|
หอยนางรม | 2 ช้อนโต๊ะ | 136 |
ตับหมู | 2 ช้อนโต๊ะ | 126 |
เนื้อกุ้ง | 2 ช้อนโต๊ะ | 55 |
เนื้อปู | 2 ช้อนโต๊ะ | 44 |
เนื้อหมู | 2 ช้อนโต๊ะ | 24 |
เนื้อไก่ | 2 ช้อนโต๊ะ | 23 |
เนื้อเป็ด | 2 ช้อนโต๊ะ | 23 |
เนื้อวัว | 2 ช้อนโต๊ะ | 20 |
ไส้หมู | 2 ช้อนโต๊ะ | 45 |
กระเพาะหมู | 2 ช้อนโต๊ะ | 45 |
ซี่โครงหมู | 2 ช้อนโต๊ะ | 32 |
แฮม | 2 ช้อนโต๊ะ | 31 |
ไข่ไก่ | 1 ฟอง | 214 |
ไข่นกกระทา | 1 ฟอง | 50 |
นมรสจืด | 200 ซีซี | 48 |
ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงนอกจากควบคุมอาหารแล้ว การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ ลดความเครียด รับประทานยาลดไขมันตามแพทย์สั่ง ตรวจเช็คระดับไขมันในเลือดสูงเป็นระยะตามนัด ก็จะช่วยให้ไขมันในเลือกเข้าสู่เกณฑ์ปกติได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ