ภูมิแพ้อาหารแฝงคืออะไร? แตกต่างอย่างไรกับการแพ้อาหารแบบทั่วไป
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพนครธน
บทความโดย : พญ. ธนพร เอี่ยมประไพ
หลายคนมองจากภายนอกแล้วดูแข็งแรงเป็นปกติ แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้วบางคนอาจจะเข้าข่ายเป็น “ภูมิแพ้อาหารแฝง”อยู่ก็เป็นได้ ด้วยอาการของภูมิแพ้อาหารแฝงจะไม่แสดงออกทันทีและเป็นอาการที่ไม่เหมือนการแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน จึงทำให้หลายๆ คนไม่ได้ใส่ใจ แม้ไม่อันตรายถึงชีวิตแต่หากปล่อยไว้สะสม อาจนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคลำไส้แปรปรวน ไมเกรน อ่อนเพลียเรื้อรัง หรือภูมิแพ้ตัวเองได้
สารบัญ
ภูมิแพ้อาหารแฝงกับแพ้อาหารแตกต่างกันอย่างไร
หลายคนอาจคิดว่าการแพ้อาหารทั้ง 2 แบบนี้มีอาการเหมือนกัน แต่แท้จริงแล้วทั้งสองมีอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้
การแพ้อาหารแบบทั่วไป เมื่อร่างกายรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไปเพียงเล็กน้อย จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานเกินกว่าปกติ โดยร่างกายจะเข้าใจผิดว่าสิ่งที่รับประทานเข้าไปเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงเกิดปฏิกิริยาแบบเฉียบพลัน ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นเพียงระบบเดียวหรือหลายระบบก็ได้และค่อนข้างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น เกิดผื่นคันตามร่างกาย ปากบวม ตาบวม อาเจียน ท้องเสีย หรือเกิดภาวะช็อก หายใจติดขัด แน่นหน้าอก หอบ ซึ่งอาการรุนแรงอย่างหลังจำเป็นต้องรีบพบแพทย์ทันที
ภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง เมื่อร่างกายได้รับอาหารที่แพ้เข้าไปจะมากหรือเล็กน้อย ก็จะไม่แสดงอาการในทันที แต่จะเกิดอาการเมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารชนิดนั้นซ้ำๆ ภูมิแพ้ในลักษณะนี้จะทำให้มีอาการเรื้อรังโดยที่ไม่รู้ตัว และภาวะนี้ไม่สามารถทานยาแก้แพ้เพื่อลดอาการได้ ทำให้ไม่มียารักษาโดยตรงนอกจากรักษาตามอาการ และเลี่ยงอาหารที่แพ้จะสามารถดีขึ้น และกลับมารับประทานได้ หากเราเลี่ยงอาหารนั้นเป็นเวลาช่วงหนึ่ง โดยเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน
ภูมิแพ้อาหารแฝงเป็นอย่างไร
ภูมิแพ้อาหารแฝง หรือเรียกอีกแบบว่า การแพ้อาหารแบบเรื้อรัง เป็นภาวะอาการแพ้ที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน (antibody) ชนิด IgG (Immunoglobulin G) ที่ร่างกายสร้างมาต่อต้านอาหาร โดยบางครั้งจะทำปฏิกิริยากับอาหารที่แพ้แล้วทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายเราเองหรือไปรบกวนระบบภูมิต้านทานทั้งร่างกายจนแปรปรวน เนื่องจากร่างกายเข้าใจคลาดเคลื่อนคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้ามา และจะยังไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติรวดเร็วทันทีทันใด ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้คนที่มีอาการต่างๆ เหล่านี้ไม่ทราบว่าอาการนั้นเกิดจากสาเหตุใด และไม่ทราบว่าได้เกิดการแพ้อาหารชนิดนั้นๆ ขึ้นมา ทำให้ยังคงรับประทานอาหารนั้นต่อ ร่างกายก็ยิ่งต่อต้าน ยิ่งกระตุ้นการสร้าง IgG มากจนกำจัดไม่หมด ร่างกายก็จะโดน IgG ทำลาย ส่งผลให้มีอาการต่างๆ ตามมาในที่สุด
ภูมิแพ้อาหารแฝงมีลักษณะอาการอย่างไร
ลักษณะอาการของการแพ้อาหารแบบแฝงนั้น มักจะมีอาการโดยที่เราไม่ทราบสาเหตุว่าแพ้สิ่งใด อาหารชนิดไหน เนื่องจากจะใช้เวลานานกว่าจะแสดงอาการ โดยอาจใช้เวลากว่า 48 ชั่วโมง มักแสดงอาการหลากหลาย แต่ไม่รุนแรง และมีอาการแพ้เป็นอยู่บ่อยครั้งแบบเรื้อรัง จนไม่คิดว่าเป็นอาการของการแพ้อาหาร แม้อาการแพ้ไม่รุนแรง แต่ก็อาจเป็นเบื้องหลังของอาการน่ากวนใจบางอย่าง โดยภูมิแพ้อาหารแฝงนั้นมีอาการที่แสดงได้หลายจุด ได้แก่
- อาการทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน จุดเสียดท้อง เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารทำให้เรอและผายลมบ่อย เป็นต้น
- อาการทางผิวหนัง เช่น กลุ่มสิวอักเสบ หรือการอักเสบใต้ชั้นผิวหนังตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เช่น ใบหน้า ตามตัว บริเวณหลัง แขนขา ลมพิษ ผื่นคัน ผิวบวม เป็นต้น
- อาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม น้ำมูกไหล จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ คัดจมูก หอบหืด เป็นต้น
- อาการอื่นๆ เช่น ปวดหัวแบบเรื้อรัง ไมเกรน อาการปวดตามข้อ เป็นต้น
รู้ได้อย่างไรว่า เป็นภูมิแพ้อาหารแฝง
หากสำรวจตัวเองแล้วเป็นไปตามอาการในข้างต้น และลองหลีกเลี่ยงอาหารที่ต้องสงสัยแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรมาปรึกษาแพทย์ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง เพื่อให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ปัจจุบันทราบได้โดยเข้ารับการตรวจเลือด การทดสอบเลือดสำหรับสารก่อภูมิแพ้อาหาร IgG ทั้งนี้การตรวจเลือดสามารถช่วยให้เรารู้ว่า การแพ้อาหารที่แอบแฝงอยู่นั้นเป็นอาหารชนิดใด โดยวิธีการคือ ส่งเลือดเข้าไปตรวจ วิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะรายงานผลการตรวจออกมาเป็นระดับการแพ้อาหารแต่ละรายการ เพื่อให้เราได้ป้องกันและหลีกเลี่ยงจากภัยแฝงต่างๆ ของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
ภูมิแพ้อาหารแฝงนั้นไม่สามารถทานยาแก้แพ้เพื่อให้อาการดีขึ้นได้ หากยังปล่อยไว้ให้อาการสะสมเรื่อย ๆ โดยไม่ได้รับการรักษา หรือรับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกวิธี อาจนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ มากมายตามมาได้ในท้ายที่สุด เช่นนั้น หากสงสัยว่าอาการที่เราเป็นอยู่นั้นเข้าข่ายต้องสงสัยแพ้อาหารแฝงหรือไม่ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย สอบถามปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์ไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ด้านล่าง
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพนครธน