รู้จัก..ยาฝังคุมกำเนิด อีกหนึ่งวิธีคุมกำเนิดที่มีความปลอดภัย
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี
บทความโดย : พญ. จุฑาภรณ์ อุทัยแสน
หลักการคุมกำเนิดคือการป้องกันไม่ให้อสุจิของฝ่ายชาย ปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ของฝ่ายหญิง หรือหากปฏิสนธิก็เป็นการป้องกัน ไม่ให้ตัวอ่อนนั้นฝังตัวที่มดลูก ซึ่งการคุมกำเนิดในปัจจุบัน มีมากมายหลายวิธีให้เลือกตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยแต่ละวิธีก็จะให้ผลที่แตกต่างกันออกไป แต่ในที่นี้เราจะมากล่าวถึงการคุมกำเนิดชั่วคราวด้วย “ยาฝังคุมกำเนิด”
ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive Implant) เป็นการใช้ฮอร์โมนชนิดเดียว คือ โปรเจสติน (Progestin) ที่บรรจุเอาไว้ในหลอดหรือแท่งพลาสติกเล็กๆ ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ขนาดเท่าไม้จิ้มฟันชนิดกลม นำมาฝังเข้าไปที่ใต้ผิวหนังบริเวณใต้ท้องแขนด้านในที่ไม่ถนัด ใช้เวลาในการฝังยาประมาณ 10-15 นาที ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะค่อยๆ ซึมผ่านออกมาจากแท่งยาเข้าสู่ร่างกาย และไปยับยั้งการเจริญเติบโตของฟองไข่ ส่งผลทำให้ไม่มีการตกไข่ตามมา จึงช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้นานถึง 3-5 ปี
ข้อดีของยาฝังคุมกำเนิด
- ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมาก ประมาณ 1/200 คน ที่เกิดอัตราล้มเหลว
- เป็นวิธีที่มีความสะดวก ฝังครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี
- มีอาการข้างเคียงน้อย
- สามารถเลิกใช้เมื่อใดก็ได้ เมื่อต้องการจะมีบุตรหรือเปลี่ยนเป็นใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น
- หลังจากถอดออกจะสามารถมีลูกได้เร็วกว่าการฉีดยาคุมกำเนิด 90% ตกไข่ใน 1 เดือน
- ยาฝังคุมกำเนิดยังช่วยลดอาการปวดประจำเดือน ลดภาวะประจำเดือนมามาก
ผู้ที่เหมาะจะใช้ยาฝังคุมกำเนิด
- ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและคุมกำเนิดได้ในระยะยาว
- ผู้ที่ต้องการเว้นช่วงการมีบุตรอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน
ผู้ที่ไม่ควรใช้ยาฝังคุมกำเนิด
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือ สงสัยว่าตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือด หรือ กำลังได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- ผู้ที่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนโปรเจสโตเจน
- ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือตามอวัยวะเพศต่างๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
- ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของตับ หรือ กำลังเป็นโรคตับอักเสบ
ผลข้างเคียงของยาฝังคุมกำเนิด
เมื่อฝังยาฝังคุมกำเนิดอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรืออาจมีอาการระคายเคือง ปวด บวมแดงบริเวณผิวหนังที่ฝังยาเข้าไป แต่อาการจะเป็นแค่ระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น นอกจากนี้อาจมีน้ำหนักตัวขึ้น สิวขึ้น ปวดศีรษะ เจ็บเต้านม และอารมณ์แปรปรวนหลังฝังยาคุมกำเนิดในบางราย
ข้อปฏิบัติหลังฝังยาคุม
- ควรมาพบแพทย์ตามนัด 7 วัน เพื่อดูแผลที่ฝังยา และต่อไปปีละครั้งเพื่อติดตามผล
- เมื่อครบกำหนด 3 ปี หรือ 5 ปี ต้องกลับมาโรงพยาบาลเพื่อเอายาหลอดเก่าออก และใส่หลอดใหม่เข้าไป
การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ต้องทำโดยแพทย์หรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ห้ามพยายามกระทำ หรือนำออกด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาได้
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพสตรี