วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ อาวุธใหม่ที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมมากขึ้น

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี

บทความโดย : พญ. จุฑาภรณ์ อุทัยแสน

วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์  อาวุธใหม่ที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมมากขึ้น

หากกล่าวถึงการฉีดวัคซีน HPV หรือ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หลายคนคงนึกถึงวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ แต่ปัจจุบันยังมีวัคซีน HPV อีกหนึ่งชนิด คือ วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ครอบคลุมมากขึ้น


รู้จัก...เชื้อไวรัส HPV

เชื้อไวรัส HPV (Human papilloma virus) เป็นเชื้อไวรัสที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ มีราว 40 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรค โดยที่รู้จักกัน คือสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกและทวารหนัก และ สายพันธุ์ 6 และ 11 ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน HPV โดยวัคซีน HPV สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ราว 70% โดยมีอยู่ 2 ประเภท ดังนี้

    วัคซีน HPV แบบ 2 สายพันธุ์ (Bivalent vaccine: Cervarix) สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก
  • วัคซีน HPV แบบ 4 สายพันธุ์ (Quadrivalent vaccine: Gardasil) สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ และสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก

แต่ปัจจุบัน ได้มีวัคซีน HPV ตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อ HPV คือ วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์


วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์

วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ (Gardasil 9 ) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่พัฒนามาจากวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ที่ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก และหูดหงอนไก่ ในผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 9-45 ปี โดยมีประสิทธิภาพการป้องกันครอบคลุมถึง 90% และวัคซีนตัวนี้สามารถลดความเสี่ยงและป้องกันโรคได้ ดังนี้


วัคซีน สายพันธุ์ ป้องกัน
Cervarix 16, 18 มะเร็งปากมดลูก 70%
Gardasil 6, 11, 16, 18 มะเร็งปากมดลูก หูดหงอนไก่ และมะเร็งทวารหนัก 70%M
Gardasil 9 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58 มะเร็งปากมดลูก หูดหงอนไก่ 90% และ มะเร็งทวารหนัก 80

วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ควรฉีดตอนไหนได้บ้าง?

วัคซีน HPV จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก โดยจะเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน สามารถฉีดในเพศหญิงอายุตั้งแต่ 9-45 ปี และในเพศชายอายุ 9-26 ปี แต่สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบขึ้นไป (9-14 ปี) ซึ่งในช่วงวัยนี้ วัคซีนฉีดเพียง 2 เข็ม ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพเทียบเท่าการฉีด 3 ครั้ง


อายุ 9-14 ปี อายุ 15-45 ปี
ฉีด 2 เข็ม ฉีด 3 เข็ม
  • เข็มที่ 1 ให้ฉีดตามที่กำหนด
  • เข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรก 6-12 เดือน
  • เข็มที่ 1 ให้ฉีดตามที่กำหนด
  • เข็มที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน
  • เข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรกประมาณ 6 เดือน

ทั้งนี้การฉีดวัคซีนเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อ HPV สูงสุดต้องฉีดภายในระยะเวลา 6 เดือน หากลืมฉีดเข็มที่ 2 หรือ 3 ตามเวลาที่กำหนด สามารถฉีดต่อได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มเข็มที่ 1 ใหม่


ข้อห้ามของการฉีดวัคซีนนี้

วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ห้ามฉีดในคนที่แพ้ยีสต์ แพ้ขนมปัง คนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น กำลังให้เคมีบำบัด เพราะจะทำให้การกระตุ้นให้มีภูมิไม่ได้ผล รวมถึงผู้ที่มีอาการป่วย ติดเชื้อ ก็ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าจะหายดี เช่นเดียวกับคนที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ก็ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนในช่วงนี้ไปก่อนเช่นกัน


ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นมักไม่รุนแรง ได้แก่ อาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน อาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ผื่นคันตามตัว เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นชั่วคราวและหายได้เอง ส่วนผลข้างเคียงระดับรุนแรง เช่น กลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร (Guillan Barre syndrome) พบได้น้อยมากๆ และไม่มีการศึกษายืนยันว่าวัคซีนเป็นสาเหตุของโรคดังกล่าว


หากเคยได้รับการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ มาแล้ว สามารถฉีดวัคซีนนี้ได้อีกหรือไม่?

จากการศึกษาพบว่าหากได้รับการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ครบแล้ว 3 เข็ม ยังสามารถฉีดชนิด 9 สายพันธุ์ได้ แต่ต้องเว้นระยะอย่างน้อย 12 เดือน ก่อนเริ่มฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมและความจำเป็นในการฉีดวัคซีนอีกครั้ง


Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย