วางแผนครอบครัว เตรียมความพร้อมเริ่มต้นครอบครัวที่สมบูรณ์

ศูนย์ : ศูนย์นครธน กิฟท์ เฟอร์ทิลิตี้

บทความโดย :

วางแผนครอบครัว เตรียมความพร้อมเริ่มต้นครอบครัวที่สมบูรณ์

คู่ชีวิตจะวางแผนสร้างครอบครัวต้องสอดคล้องกับสภาพความพร้อมทางด้านร่างกาย โดยการออกกำลังกายเป็นประจำและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดี คุณพ่อคุณแม่ที่มีร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี ย่อมมีโอกาสคลอดลูกที่แข็งแรงและมีสุขภาพดี อย่างไรก็ตามแม้ทั้งสองฝ่ายจะมีสุขภาพแข็งแรงเพียงไร ก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์เพื่อวางแผนการมีบุตรในอนาคต เนื่องจากโรคทางพันธุกรรม โรคทางเพศสัมพันธ์บางอย่างอาจซ่อนอยู่โดยไม่แสดงอาการให้เห็น อย่างโรคประจำตัวบางโรคของฝ่ายหญิงนั้นก็มีผลต่อลูกน้อยในครรภ์อย่างมาก และบางโรคอาจเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการตั้งครรภ์เลยก็ว่าได้ ฉะนั้นการปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง พร้อมทั้งเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย หากพบปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ แพทย์จะช่วยแก้ไขได้ทันท่วงที หรือให้คำแนะนำที่เหมาะสม เพื่อเตรียมความพร้อม เริ่มต้นครอบครัวที่สมบูรณ์


สุขภาพแข็งแรงดี ทำไมต้องตรวจสุขภาพ

ไม่ว่าสุขภาพจะแข็งแรงเพียงไร ก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์เพื่อวางแผนการมีบุตร โดยโรคทางพันธุกรรมและโรคทางเพศสัมพันธ์บางอย่างไม่แสดงอาการให้เห็น แต่จะทราบได้จากการซักประวัติและตรวจเลือด ซึ่งการตรวจเช็คจะทำให้สามารถรู้ และวางแผนการรักษาอาการหรือความผิดปกติที่ไม่แสดงออกได้ดีกว่ารอจนมีอาการหรือความผิดปกติ การเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยป้องกันการติดเชื้อระหว่างคู่รัก และยังช่วยป้องกันการส่งผลเสียไปยังลูกด้วย ทั้งนี้สำหรับผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรม โดยเฉพาะโรคธาลัสซิเมีย ซึ่งในคนไทยเป็นพาหะทางพันธุกรรมที่พบค่อนข้างบ่อย หากตรวจพบว่าเป็นพาหะทั้งคู่ ถือเป็นคู่เสี่ยงที่จะมีบุตรเป็นโรคธาลัสซิเมียชนิดรุนแรง แพทย์จะได้ใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการมีบุตรได้อย่างถูกต้อง

> กลับสารบัญ


ปัจจัยที่ส่งผลต่อโอกาสในการตั้งครรภ์ในอนาคต

ในแต่ละเดือนนั้น ฝ่ายหญิงจะมีโอกาสตั้งครรภ์อยู่ที่ 15-25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งการตั้งครรภ์จะมีโอกาสมากขึ้นหรือน้อยลง ยังมีปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบ ต่อการตั้งครรภ์ ดังนี้

  1. มีลูกเมื่ออายุเหมาะสม ช่วงอายุ 20-30 ปี จะมีลูกง่ายและปลอดภัยกว่าวัยอื่น หากอายุมากกว่า 35 ปี ความเป็นไปได้ที่จะตั้งครรภ์ในแต่ละเดือนจะยิ่งลดลงไปเรื่อยๆ ตามอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุ 40 ปีขึ้นไป โอกาสในการตั้งครรภ์จะยิ่งลดต่ำลงมาก
  2. การมีรอบเดือนไม่ปกติ ทำให้ยากต่อการคำนวณช่วงเวลาตกไข่ มีผลต่อโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ลดลง
  3. ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์แนะนำควรมีวันเว้นวัน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องมีทุกวัน ความเหนื่อยอาจเพิ่มความเครียดและทำให้ปริมาณของอสุจิลดน้อยลง ไม่แข็งแรงได้
  4. การเจ็บป่วยจากโรคบางชนิด หรือ การมีภาวะมีบุตรยาก อาจเป็นสาเหตุให้การตั้งครรภ์กลายเป็นเรื่องยากได้

> กลับสารบัญ


คำแนะนำสำหรับผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์

การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากมีการเตรียมตัวดี หรือมีการวางแผนการมีบุตรในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับสภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย การตั้งครรภ์นั้นจะทำให้คุณแม่แข็งแรง คุณลูกปลอดภัย ซึ่งการวางแผนก่อนตั้งครรภ์ ฝ่ายหญิงและชายสามารถทำได้ทั้งก่อนแต่งงานหรือหลังแต่งงานแล้ว ดังนี้

1. ปรึกษากับแพทย์เข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์

การเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อดูว่าทั้งคู่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลการตั้งครรภ์หรือไม่ ตรวจความเสี่ยงต่างๆ เกี่ยวกับพันธุกรรม โรคต่างๆ เพื่อจะได้ดูแลรักษาให้อาการดีขึ้นก่อนการตั้งครรภ์ รวมถึงแนะนำวิธีนับวันตกไข่เพื่อการวางแผนมีลูกที่ง่ายขึ้น โดยรายการตรวจที่สำคัญ ได้แก่

  • การตรวจร่างกายโดยสูตินรีแพทย์อย่างละเอียด (Physical Examination by OB-GYN) จะเป็นการตรวจดูความสมบูรณ์ของร่างกายทั้งฝ่ายชายและหญิง โดยจะตรวจดูว่า มีโรคบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ฯลฯ หากตรวจว่าพบความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
  • ตรวจหาความสมบูรณ์เม็ดเลือด (CBC) เป็นการหาความเข้มของเลือดซึ่งในผู้หญิงไทยพบว่าการรับประทานอาหารแบบเร่งรีบส่งผลให้มีภาวะซีดสูงขึ้น ซึ่งควรเพิ่มความเข้มของเลือดโดยการรับประทานธาตุเหล็กบำรุงก่อนตั้งครรภ์ เพื่อพัฒนาการที่ดีของทารกในครรภ์ และทราบถึงปริมาณเกล็ดเลือด ซึ่งส่งผลต่อการห้ามเลือดตอนคลอดบุตร
  • การตรวจหมู่เลือดและความเข้ากันได้ของเลือด (ABO and Rh Grouping) เพื่อให้ทราบถึงหมู่เลือด ABO และ หมู่เลือด Rh+ ที่พบได้บ่อยในคนไทย แต่บางรายอาจมีหมู่เลือด Rh- ซึ่งหาได้ยาก ต้องมีการสำรองเลือดเพื่อความปลอดภัย และหมู่เลือด Rh – จะส่งผลต่อการตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 ทำให้เสี่ยงต่อการแท้งบุตรสูง และทารกเจริญเติมโตช้ากว่าปกติ
  • ตรวจหาโรคทางพันธุกรรม-ธาลัสซิเมีย (Hb Typing) เป็นการตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมที่อาจแอบแฝงอยู่ เพื่อให้ทราบว่าคู่สมรสนั้น มีความเสี่ยงที่จะมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ และจะมีทางเลือกอย่างไรบ้างในการมีบุตร และหาแนวทางในการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบชนิดบี และซี รวมทั้งการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Anti-HBs, Anti-HCV snd HBs Ag) ซึ่งเป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกัน และเชื้อไวรัสตับอักเสบที่สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือกระแสเลือด จึงอาจส่งผลต่อการมีบุตรได้
  • ตรวจหาการติดเชื้อ เอช ไอ วี หรือ เชื้อเอดส์ (Anti HIV) เป็นการตรวจหาเชื้อเพื่อจะได้มีการป้องกันการติดต่อทางเพศสัมพันธ์สู่คู่สมรส และวางแผนลดการติดเชื้อไปสู่บุตรได้
  • ตรวจการหาเชื้อซิฟิลิส (VDRL) เป็นการตรวจหาโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ หรือมีผลต่อทารกในครรภ์ โรคอื่นๆ เช่น หนองในเทียมที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก นำไปสู่การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานและเกิดภาวะมีบุตรยากในที่สุด
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน (Rubella IgG) เป็นการตรวจเพื่อค้นหาภูมิคุ้มกันที่เกิดจากเชื้อไวรัสหัดเยอรมันในสตรี ซึ่งผลการตรวจหากพบว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรฉีดวัคซีนและคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนตั้งครรภ์ เพราะหากมีการติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงที่จะทำให้บุตรพิการแต่กำเนิดหรือแท้งสูงได้

2. รับการฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ หรือหลังจากตั้งครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางชนิด โดยวัคซีนที่ควรฉีดก่อนการตั้งครรภ์ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคหัด โรคหัดเยอรมัน และโรคอีสุกอีใส ซึ่งการฉีดวัคซีนบางชนิดอาจต้องรอระยะหนึ่งจึงจะเริ่มพยายามมีบุตรได้

3. เตรียมความพร้อมเรื่องอาหารการกิน

รับประทานอาหารให้ครบหมู่ ผักและผลไม้วันละ 5 ส่วน บริโภคปลาทะเลน้ำลึก สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งเพื่อให้ได้กรดไขมันโอไมก้า 3 บำรุงสมองทารก และโฟเลต ซึ่งพบได้ในผักใบเขียว ส้ม มะนาว ธัญพืช ตับ ไข่แดง ฯลฯ หากได้รับไม่เพียงพอควรเสริมกรดโฟลิก หรือวิตามินบี 9 ขนาด 5 มิลลิกรัม วันละ 1 เม็ด หลีกเลี่ยงสมุนไพรหรืออาหารเสริม เพราะอาจส่งผลให้มีลุกยาก

4. การดูแลสุขภาพช่องปาก

เนื่องจากโรคเหงือกและฟันสัมพันธ์กับการที่แม่ขาดสารอาหารลูกน้ำหนักน้อย และติดเชื้อสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวอ่อนได้ โดยก่อนวางแผนตั้งครรภ์ควรรับการตรวจสุขภาพช่องปากและฟันก่อนหน้าประมาณ 5 เดือนเพื่อเผื่อเวลาในการรักษาฟันที่มีปัญหาด้วย

5. เลิกพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ

พฤติกรรมเสี่ยงของฝ่ายหญิงตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ สามารถส่งผลให้ทารกได้รับอันตรายหรือโอกาสในการตั้งครรภ์ลดน้อยลง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด การใช้สารสเตียรอยด์ เป็นต้น โดยพฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้มีลูกยาก เสี่ยงแท้ง คลอดก่อนกำหนด ลูกขาดสารอาหาร พิการ ลูกมีโอกาสพิการ หรือเสียชีวิตในครรภ์ได้

6. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

เริ่มออกกกำลังกายตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อสุขภาพที่ดี ควรสำรวจดูว่าควรลดน้ำหนัก เพิ่มน้ำหนัก สร้างกล้ามเนื้อเพิ่ม หรือควรฝึกสมรรถภาพการหายใจของปอดหรือไม่ วิธีออกกำลังกายที่แนะนำ ได้แก่ เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน แอโรบิค หรือเล่นโยคะ เป็นต้น

7. พักผ่อนให้เพียงพอ

ผู้หญิงที่กำลังวางแผนมีบุตรควรนอนพักผ่อนวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งการพักผ่อนที่เพียงพอยังสามารถช่วยผ่อนคลายจากความตึงเครียดได้ด้วย

> กลับสารบัญ


การคุมกำเนิด

สำหรับคู่สมรสที่ยังไม่มีความพร้อมในการมีบุตรนั้น การวางแผนเพื่อคุมกำเนิดถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้สามารถเลือกมีบุตรได้ตามเวลาและจำนวนที่ต้องการ หรือช่วยเว้นระยะเวลาการตั้งครรภ์ให้ห่างมากพอ รวมไปถึงเพื่องดเว้นการตั้งครรภ์ในบางกรณี โดยมีหลายวิธี เช่น ใช้ถุงยางอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบรายเดือน ฉีดยาคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด เป็นต้น โดยการเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดที่ดีและเหมาะสมจะทำให้ลดปัญหาจากการคุมกำเนิดได้

> กลับสารบัญ

การวางแผนครอบครัวที่ดี ต้องเริ่มต้นด้วยการตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันและรักษาโรคทั่วไป โรคทางเพศสัมพันธ์ และโรคทางพันธุกรรม ที่อาจถ่ายทอดสู่คนรักและสู่ลูกในอนาคต รวมทั้งควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับคำแนะนำ และเพื่อการวางแผนการมีบุตรอย่างถูกต้องเหมาะสม เมื่อพ่อแม่มีสุขภาพดีพร้อม ก็จะส่งผลต่อความแข็งแรงและสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ในอนาคต


ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย