หัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ ปล่อยไว้นาน เสี่ยงหัวใจล้มเหลว
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล
ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ (Supraventricular Tachycardia – SVT) เป็นภาวะฉุกเฉินที่พบบ่อยของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจากการลัดวงจรหรือวิ่งวนซ้ำของการส่งสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจ มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อมีเหตุกระตุ้นและหายไป ในระยะเวลาอันสั้น บางรายมีอาการรุนแรงอาจทำให้การบีบตัวของหัวใจไม่มีประสิทธิภาพ การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ในรายที่รุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้
รู้จักหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ
ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ (Supraventricular Tachycardia – SVT) หมายถึง ความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หัวใจห้องบน ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ภาวะที่หัวใจเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที มักอยู่ในช่วง 150-250 ครั้งต่อนาที มีจังหวะการเต้นของหัวใจที่เร็วและสม่ำเสมอ เกิดขึ้นและหายเองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งความผิดปกติของอัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วมากขึ้น ทำให้การบีบตัวของหัวใจไม่มีประสิทธิภาพ ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจต่อนาทีลดลง ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ)โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญ และเกิดภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน หากมีอาการรุนแรงไม่ได้รับการรักษา อย่างทันท่วงที จะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนสำคัญคือ ภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
สามารถสรุปออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- ปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ได้แก่ ปัจจัยด้านเพศและอายุ ซึ่งพบมากในเพศหญิงที่อายุน้อย วัยผู้ใหญ่และวัยผู้สูงอายุที่มี ความผิดปกติของหัวใจร่วมด้วย และยังพบว่าผู้ป่วยที่อายุ มากกว่า 65 ปี มีโอกาสเกิดสูงกว่าผู้ที่อายุน้อยถึง 5 เท่
- ปัจจัยที่เกิดจากหัวใจ มักเกิดจากความผิดปกติของลักษณะทางโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ ได้แก่ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจโตภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจ และความผิดปกติของลิ้นหัวใจ
- ปัจจัยอื่นที่ไม่ได้เกิดจากหัวใจ แบ่งออกเป็น
- ปัจจัยภายใน ซึ่งเกิดจากความผิดปกติอื่นในร่างกาย ได้แก่ โรคของต่อมไทรอยด์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการหลั่งฮอร์โมนมากผิดปกติโรคปอดเรื้อรัง (Chronic lung disease) เช่น โรคหอบหืด ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ ภาวะไข้สูง ภาวะขาดน้ำ การตั้งครรภ์ความผิดปกติของจิตใจ ความเครียดและความวิตกกังวล และอาการนอนไม่หลับ (insomnia)
- ปัจจัยภายนอก มักเกิดขึ้นจากมีการกระตุ้น ได้แก่ การสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การดื่มกาแฟ การได้รับยาบางชนิดในขนาดสูง และการออกกำลังกายอย่างหักโหม เป็นต้น
อาการและอาการแสดง
อาการที่พบในขณะที่หัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ มีได้แตกต่างกัน โดยบางคนอาจไม่มีอาการแม้จะมีหัวใจเต้นเร็ว ผิดปกติอยู่ตลอดเวลาก็ตาม ได้แก่
- อาการใจสั่นคล้ายจะเป็นลม
- อาการหัวใจบีบตัวแรงในบางจังหวะ
- เหนื่อยทั้งๆ ที่นั่งอยู่เฉยๆ รู้สึกอ่อนล้า อ่อนเพลียหมดแรง ไม่อยากทำอะไรและอยากนอนตลอดเวลา
- มีอาการหน้ามืดจนถึงหมดสติถ้าหัวใจเต้นเร็ว หรือมีจังหวะที่หยุดเต้นเกิน 3 วินาที
ตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ
เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่มักไม่ค่อยรู้ตัว จึงทำให้ยากต่อการวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ป่วยอาจมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะไม่คงที่ไม่แน่นอน แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจเบื้องต้น หรืออาจทดสอบเพื่อหาปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยแพทย์อาจมีแนวทางในการวินิจฉัยการตรวจคัดกรองเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) การทดสอบจังหวะการเต้นและกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจ ระหว่างการตรวจจะมีการติดเซนเซอร์บนผิวหนังเพื่อตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่มาจากการเต้นของหัวใจในแต่ละครั้ง ซึ่งสัญญาณเหล่านี้จะถูกบันทึกโดยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และสามารถพิมพ์ออกมาในรูปแบบกระดาษได้ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยเฉพาะเมื่อตรวจในขณะมีอาการน
- การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมงโดยใช้ Holter Monitor เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชม. ไว้กับตัว โดยที่สามารถกลับไปพักที่บ้านหรือทำงานได้ตามปกติโดยไม่ต้องเสียเวลานอนพักค้างที่โรงพยาบาล และเมื่อครบกำหนด 24 ชม. แล้วจึงกลับมาถอดเครื่องคืนในวันถัดไป และรอรับทราบผลการตรวจวิเคราะห์จากแพทย์ มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการบ่อย แต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา
การรักษาหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ
แพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุ อาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค ดังนี้
- การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ สามารถลดความถี่และความรุนแรงของการได้
- การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) เป็นการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด
- การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ โดยใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งภายนอกร่างกายซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแปะที่หน้าอกของผู้ป่วยเพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจใหม่
การจี้ไฟฟ้า รักษาหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ
การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) แบบ 2 มิติ เป็นการตรวจประเมินสัญญาณไฟฟ้าหัวใจรวมถึงตำแหน่งที่ผิดปกติแล้วทำการรักษาด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง โดยจะแสดงผลเป็นกราฟ 2 มิติ และสามารถทำการรักษาได้ทันทีหลังจากการตรวจวินิจฉัยแล้วพบความผิดปกติ โดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยการใช้สายสวนหัวใจผ่านทางหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบ ไปยังตำแหน่งต่างๆ ของหัวใจ เพื่อหาตำแหน่งของวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ แพทย์จะปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเป็นจุดเล็กๆ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น
การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยวิธีดังกล่าวได้ผล 95% โดยมีผลแทรกซ้อนน้อยกว่า 1% เช่น หัวใจทะลุ ลิ่มเลือดไปอุดเส้นเลือดที่ปอด เกิดลิ่มเลือดบริเวณที่เจาะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่น้อยและยังไม่เคยเกิดขึ้น และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1 คืนหลังจากทำเสร็จ หลังจากนั้นก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ผู้ป่วยที่มีอาการห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ หลายรายไปตรวจกับแพทย์แล้วอาจถูกสรุปว่าเป็นโรคเครียด เพราะการเต้นผิดปกติของหัวใจเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง ตรวจไม่พบเมื่อตอนมาพบแพทย์ และตอนมีอาการก็ไม่ได้ไปให้แพทย์ตรวจ บางครั้งการเต้นผิดปกติของหัวใจเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ จะไปโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจรักษาก็ไม่ทัน การเต้นผิดปกติของหัวใจหายไปก่อน เพราะฉะนั้นแล้วจึงควรตรวจรักษาทุกครั้งที่มีอาการ ถึงแม้อาการหัวใจเต้นผิดปกติจะหายแล้วก่อนจะไปพบแพทย์กี่ตาม เพราะการรักษาที่สาเหตุโดยตรง จะสามารถรักษากาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติให้หายขาดได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ