เช็กสัญญาณอันตรายโรคลิ้นหัวใจ รู้ก่อนรักษาทัน
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล
โรคลิ้นหัวใจ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจโดยตรง หากลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติเช่น ลิ้นหัวใจตีบ เปิดออกได้ไม่เต็มที่ หรือลิ้นหัวใจรั่วปิดไม่สนิท ก็จะทำให้หัวใจไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม หากเกิดความผิดปกติติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดภาวะลิ้นหัวใจตีบ หรือลิ้นหัวใจรั่วถาวร และอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นหัวใจวายได้ การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย หรือหัวใจ เช่น มีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด เป็นต้น จะช่วยให้สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัย และรักษาได้อย่างทันท่วงที
โรคลิ้นหัวใจ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
- โรคลิ้นหัวใจรั่ว คือ ภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่ทำให้ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท มีรูรั่วหรือขาดเป็นสาเหตุให้เลือดไหลย้อนกลับ หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้เพียงพอ ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจมาแต่กำเนิด โรคหัวใจรูมาติก การติดเชื้อในกระแสเลือด และตัวเชื้อโรคไปเกาะกินที่ลิ้นหัวใจ เป็นต้น
- โรคลิ้นหัวใจตีบ คือ ภาวะที่ลิ้นหัวใจเปิดได้ไม่สุด จึงทำให้เลือดออกจากห้องหัวใจยากขึ้น ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อนำเลือดไปเลี่ยงร่างกาย สาเหตุมาจากความเสื่อมของหัวใจที่ใช้งานมานาน ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุที่มักมีโรคร่วมต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาม ไขมัน โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจรูมาติกก็ได้
เช็กสัญญาณเตือนโรคลิ้นหัวใจตีบ หรือรั่ว
อาการโรคลิ้นหัวใจตีบ หรือรั่ว สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- มีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติเวลาออกแรง และมักมีอาการเหนื่อยตอนพักอยู่เฉยๆ
- หายใจติดขัดผิดปกติไปจากเดิม สมรรถภาพการทำงานหรือออกกำลังกายลดลง
- แน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยสะดวก
- นอนราบไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาในกลางดึก
- ขาบวม หน้าบวม ท้องอืด
- หน้ามืด เป็นลม
- ใจสั่น
- หัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอด
หากมีอาการเหล่านี้ให้มาพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างรวดเร็ว
โรคลิ้นหัวใจสามารถตรวจและรักษาได้ด้วยวิธีใด
การตรวจโรคลิ้นหัวใจ แพทย์จะทำการตรวจการทำงานของหัวใจผ่านด้วยการฟังเสียงหัวใจ และการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) ซึ่งเป็นการตรวจด้วยอุปกรณ์คลื่นเสียงความถี่สูง โดยอุปกรณ์จะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปและจำลองภาพของหัวใจ
โรคลิ้นหัวใจ สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ (Valve Repair) ในกรณีที่ลิ้นหัวใจถูกทำลาย ฉีกขาดหรือรั่ว และการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valve Replacement) ในผู้ป่วยลิ้นหัวใจเสื่อมหรือเสียมาก ไม่สามารถกลับมาทำงานตามเดิมได้อีก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและการวินิจฉัยของอายุรแพทย์โรคหัวใจ
โรคลิ้นหัวใจเป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการ ให้หมั่นสังเกตตัวเอง และตรวจเช็คร่างกายและสุขภาพหัวใจทุกปี หากมีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติเวลาออกแรง และมักมีอาการเหนื่อยตอนพักอยู่เฉยๆ ควรเข้ารับการตรวจเช็กกับแพทย์โดยทันที
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ