เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ อันตรายต่อแม่และลูกน้อย

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี, ศูนย์อายุรกรรม

บทความโดย :

เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ อันตรายต่อแม่และลูกน้อย

สำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวาน เมื่อตั้งครรภ์ อาจกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อลูกในท้องหรือไม่ ต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง ทำให้เกิดความไม่สบายใจหลายอย่างตามมา หรือแม้แต่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ แต่จู่ ๆ ก็ตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานซะอย่างนั้น คงเกิดอาการวิตกกังวลไม่น้อย ดังนั้นเราจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์มาฝาก หากคุณแม่ที่กำลังเจอปัญหาเหล่านี้อยู่ อาจช่วยคลายข้อกังวลและข้อสงสัยหลายๆ อย่างได้ "โรคเบาหวาน" ที่พบร่วมกับการตั้งครรภ์แบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ คือ

  1. โรคเบาหวานที่พบก่อนการตั้งครรภ์ (Pregnancy Diabetes)
  2. โรคเบาหวานที่พบครั้งแรกขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes)

ซึ่งในประเทศไทยเรามักพบโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้มากกว่า


การตั้งครรภ์ส่งผลต่อโรคเบาหวานอย่างไรบ้าง?

  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดยากขึ้น
  • การตั้งครรภ์อาจจะทำให้ภาวะแทรกซ้อนทางตา (Diabetic retinopathy)
  • โปรตีนออกมาในปัสสาวะเพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์
  • ความดันเลือดสูง ซึ่งจะพบร่วมได้บ่อยถึงร้อยละ 70 ของการตั้งครรภ์

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายอย่างไร?

หากพูดถึงผลเสียหรืออันตรายของโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์แล้ว ไม่เพียงแค่อันตรายต่อตัวคุณแม่เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อทารกในครรภ์อีกด้วย

อันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ มีอัตราเสี่ยงของภาวะดังต่อไปนี้เพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ (toxemia of pregnancy)
  • ภาวะติดเชื้อของกรวยไต (pyelonephritis)
  • ภาวะครรภ์แฝดน้ำ
  • มารดาเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง
  • การติดเชื้อ และการผ่าตัดคลอด มีอุบัติการณ์สูงขึ้น

อันตรายต่อทารกในครรภ์ มีอัตราเสี่ยงของภาวะต่อไปนี้เพิ่มขึ้น ได้แก่

  • อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ได้รับการดูแลรักษาไม่เหมาะสม
  • การควบคุมเบาหวานไม่ดีในระยะแรกของการตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร
  • ความพิการตั้งแต่กำเนิด พบได้มากกว่าการตั้งครรภ์ปกติประมาณ 2-3 เท่า
  • เด็กมีขนาดตัวโตกว่าปกติ สามารถพบได้บ่อยที่สุดในจำนวนความผิดปกติทั้งหมด เนื่องจาก การที่น้ำตาลกลูโคส และกรดอะมิโนจากมารดาผ่านมาสู่ทารกมากเกินไป
  • หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานมานาน และมีโรคแทรกซ้อนทางหลอดเลือด (microangiopathy) จะทำให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้าและตัวเล็กได้
  • ทารกเสียชีวิตในครรภ์
  • กลุ่มอาการหายใจลำบาก
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ภาวะแคลเซียมและแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
  • เลือดมีความหนืดเพิ่มขึ้น
  • ภาวะตัวเหลืองหลังคลอด
  • หัวใจโต ในบางรายอาจเป็นผลทำให้หัวใจล้มเหลว

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์?

  • อายุมากกว่า 30 ปี
  • มีน้ำหนักเกินก่อนตั้งครรภ์ดัชนีมวลกายมากกว่า 25 กก. / ม2 ( BMI > 25 Kg. / m2 )
  • มีประวัติญาติสายตรงของสตรีตั้งครรภ์เป็นโรคเบาหวาน
  • เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน
  • ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ
  • เคยคลอดเด็กที่มีน้ำหนักมากกว่าหรือเท่ากับ 4000 กรัม
  • เคยคลอดเด็กที่เสียชีวิตในครรภ์

วิธีการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

การตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์วิธีการตรวจ GCT

ทำได้โดยให้สตรีตั้งครรภ์ดื่มสารละลายที่มีกลูโคส 50 กรัม แล้ว หลังจากนั้น 1 ชั่วโมงให้เจาะเลือดตรวจระดับกลูโคส โดยที่สตรีตั้งครรภ์ไม่จำเป็นต้องงดอาหารก่อนตรวจ

  • ในกรณีที่ระดับกลูโคสในเลือดมีค่าน้อยกว่า 140 มก./ดล. แปลผลว่า ผลการตรวจอยู่ในเกณฑ์ปกติ แนวทางปฏิบัติคือ ให้ฝากครรภ์ต่อไปตามปกติ และควรได้รับการตรวจคัดกรองเบาหวานซ้ำเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์
  • ในกรณีที่ระดับกลูโคสในเลือดมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 140 มก./ดล. แปลผลว่า ผลการตรวจผิดปกติ แนวทางปฏิบัติ คือ ให้ทำการนัดตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยภาวะเบาหวานต่อไป โดยการใช้น้ำตาลกลูโคส 100 กรัม

การตรวจ OGTT ในการตรวจ 100-g OGTT สามารถทำเป็นขั้นตอนดังนี้

  • งดอาหารก่อนวันตรวจเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 14 ชั่วโมง
  • เจาะเลือดตรวจระดับกลูโคสหลังงดอาหารข้ามคืน เทียบเป็นเวลาชั่วโมงที่ 0 หลังจากนั้นดื่มสารละลายกลูโคสปริมาณ 100 กรัม เจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับกลูโคสภายหลังดื่มที่ 1, 2, 3 ชั่วโมงตามลำดับ

การดูแลรักษาเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Management of Gestational Diabetes Mellitus)

ควบคุมอาหาร

การควบคุมอาหารที่ปฏิบัติได้ง่ายๆ คือ ต้องไม่รับประทานขนมที่ทำมาจากแป้งและน้ำตาล เช่น คุกกี้ ขนมหวานต่างๆ ควรรับประทานผลไม้สดมากกว่าขนม ผลไม้ที่รับประทานได้ควรเป็นผลไม้ที่ไม่มีรสหวานมาก ส่วนผักสามารถรับประทานผักได้โดยไม่จำกัด สำหรับข้าวสามารถรับประทานได้ทั้ง 3 มื้อ ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป ใน 1 วันไม่ควรเกิน 8 ทัพพี สำหรับเนื้อสัตว์ สามารถรับประทานได้ โดยเลือกเนื้อที่มีไขมันน้อย เช่น ปลา หมู ไก่ ดื่มนมสดได้วันละ 2 แก้วแต่ควรเป็นนมที่มีไขมันน้อย


ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอวันละ 15-20 นาที

เช่น การเดินแกว่งแขน ภายหลังมื้ออาหาร เป็นต้น การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถควบคุมน้ำตาลได้ดี การควบคุมน้ำตาลได้ จะลดภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายต่างๆ ที่จะเกิดกับหญิงตั้งครรภ์และลูกในครรภ์ได้อย่างมาก ถ้าหญิงตั้งครรภ์ท่านใดมีน้ำตาลในเลือดสูงมากเกินกว่าที่จะควบคุมโดยการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย จะต้องได้รับการฉีดอินซูลิน หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานทุกคนจะต้องมารับการตรวจครรภ์อย่างต่อเนื่องตามแผนการดูแล




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย