มะเร็งรังไข่ มะเร็งในสตรีที่สาว ๆ ไม่ควรชะล่าใจ

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี

บทความโดย : พญ. จุฑาภรณ์ อุทัยแสน

มะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่ หรือ Ovarian Cancer คือ โรคมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณรังไข่ ซึ่งเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงที่ทำหน้าที่ผลิตไข่และฮอร์โมนเพศหญิง มะเร็งรังไข่เป็นหนึ่งในมะเร็งที่อันตรายและพบได้บ่อยในผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มะเร็งรังไข่เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของผู้หญิงทั่วโลก แม้ว่าความก้าวหน้าทางการแพทย์จะพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง แต่การตรวจพบมะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มต้นยังคงเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากอาการมักไม่ชัดเจนและคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ ทำให้ผู้หญิงหลายคนละเลยและตรวจพบเมื่อโรคลุกลามแล้ว และยังไม่ทราบสาเหตุมะเร็งรังไข่เกิดจากอะไรอย่างแน่ชัด ดังนั้นคุณสุภาพสตรีทั้งหลายจึงควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อตรวจเช็กอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเป็นอาการบ่งชี้ของมะเร็งรังไข่


มะเร็งรังไข่เกิดจากสาเหตุใด


มะเร็งรังไข่ เกิดจาก มะเร็งรังไข่ เกิดจาก

สาเหตุส่วนใหญ่มะเร็งรังไข่ เกิดจากอะไรยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีพันธุกรรม (gene) ที่พบว่ามีความเกี่ยวข้อง และเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่แบบชัดเจน ได้แก่

  • กลุ่มยีน BRCA1/BRCA2 ทำให้เกิดกลุ่มโรคมะเร็งรังไข่ และมะเร็งเต้านม เช่น สตรีที่มียีน BRCA 1 ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40-60
  • กลุ่มยีน Lynch syndrome ทำให้เกิดมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ และ มะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ โดยในคนกลุ่มนี้มักจะมีคนในครอบครัว เป็นมะเร็งดังกล่าว แต่ในปัจจุบันในเคสมะเร็งรังไข่ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมักมีการตรวจความเสี่ยงทางพันธุกรรม เพื่อนำไปสู่การตรวจติดตามคนในครอบครัว และมีผลต่อการเลือกยารักษา
  • มีโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ร่วมด้วย
  • เคยได้รับการฉายแสงบริเวณอุ้งเชิงกราน

> กลับสารบัญ


มะเร็งรังไข่ อาการเป็นอย่างไร?

มะเร็งรังไข่อาการเป็นอย่างไร ในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการ หรือ อาการไม่ชัดเจน เช่น อาหารไม่ย่อยท้องอืดท้องเฟ้อ รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง อิ่มง่ายหรืออิ่มเร็วขึ้นหลังรับประทานอาหาร อาการของมะเร็งรังไข่ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ ได้แก่ อาการท้องอืดโตขึ้น เนื่องจากมีน้ำในท้องหรือก้อนมีขนาดใหญ่มากจนกดเบียดอวัยวะอื่น ๆ ในท้อง ซึ่งเป็นอาการของโรคที่แพร่กระจายแล้ว (ระยะ 3-4) ผู้ป่วยที่พบในระยะแรก ๆ (ระยะ 1-2) มักพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือการอัลตราซาวด์ตรวจเจอเนื้องอกรังไข่โดยบังเอิญ

หากมีอาการมะเร็งรังไข่เหล่านี้ แนะนำพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจเพื่อเติม

  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • น้ำหนักขึ้นหรือลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปัสสาวะบ่อย
  • อาหารไม่ย่อยท้องอืดท้องเฟ้อ
  • รู้สึกเหนื่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ท้องเสียหรือท้องผูกเรื้อรัง
  • รู้สึกปวดท้องหรือปวดในอุ้งเชิงกราน
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง
  • รู้สึกอิ่มเร็วขึ้นหลังรับประทานอาหาร

> กลับสารบัญ


การตรวจวินิจฉัยมะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่มีทั้งหมด 4 ระยะ โดยปกติการกำหนดระยะมักจะต้องมีการผ่าตัด เพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ช่วยระบุชนิดเซลล์มะเร็ง แต่ก่อนผ่าตัดจะมีการตรวจมะเร็งเพื่อวางแผนการรักษา ดังนี้

  • การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
  • การตรวจภายในหรือทางทวารหนัก ตรวจหารอยโรคก่อนมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม
  • การตรวจอัลตราซาวด์มีประโยชน์ในการวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ในระยะแรก และมีความไวในการตรวจพบก้อนเนื้อ
  • การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ได้แก่ CA-125 (cancer antigen 125) และ HE4 (human epididymal protein 4) ร่วมกับอัลตราซาวด์ เพื่อเพิ่มความแม่นยำ แต่ความไวในการตรวจยังไม่มากพอที่จะใช้เป็นวิธีการตรวจคัดกรองในปัจจุบัน
  • ตรวจด้วยรังสีวินิจฉัย เช่น การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography: CT scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging: MRI) ช่วยในการวินิจฉัยและดูการแพร่กระจายของโรค เพื่อวางแผนการรักษา
  • การส่องกล้องแลปพาโรสโคป (laparoscope) ใช้ในการตรวจหาเนื้อเยื่อข้างในอุ้งเชิงกรานและเก็บตัวอย่างของเนื้องอกเพื่อนำไปวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา

การรักษาหลักมักเริ่มต้นด้วยการผ่าตัด แต่หากพบว่าเป็นระยะแพร่กระจายแพทย์อาจเริ่มด้วยการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อลดขนาดก้อนแล้วตามด้วยการผ่าตัด

> กลับสารบัญ


วิธีการรักษามะเร็งรังไข่


รักษามะเร็งรังไข่ รักษามะเร็งรังไข่

การรักษามะเร็งรังไข่จะขึ้นอยู่กับ ชนิดของมะเร็ง ระยะของโรคมะเร็ง อายุของผู้ป่วย และความต้องการมีบุตร


รักษาด้วยการผ่าตัด

ส่วนใหญ่จะเป็นการตัดมดลูก และรังไข่ทั้ง 2 ข้าง และเลาะต่อมน้ำเหลืองและเยื่อบุช่องท้องตามตำแหน่งที่มะเร็งมักแพร่กระจายไป หรือเอาก้อนมะเร็งออกให้มากที่สุด แต่หากผู้ป่วยอายุน้อยและยังต้องการมีบุตร สามารถทำได้ในมะเร็งระยะแรกและในเซลล์บางชนิด โดยเหลือมดลูกและรังไข่ข้างที่ปกติไว้


รักษาด้วยการใช้เคมีบำบัด

เป็นการใช้ยาคีโมในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ใช้ในระยะเริ่มต้นที่มีเซลล์ชนิดร้ายแรง, ระยะท้าย และในกรณีมะเร็งกลับเป็นซ้ำ


รักษาด้วยการใช้รังสี

เป็นการใช้รังสีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งและทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง การใช้รังสีอาจเป็นการฉายรังสีจากภายนอกร่างกายและฉายตรงเข้าสู่ร่างกาย และใช้เป็นเฉพาะจุด


รักษาด้วยการให้ยามุ่งเป้า (Targeted therapy)

เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยรบกวนการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องต่อการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง และมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัด ในมะเร็งรังไข่มักใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ความสำเร็จจากการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง ชนิดของเซลล์ ลักษณะกรรมพันธุ์

ทั้งนี้การรักษาอาจมีวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นต้น

> กลับสารบัญ



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์เพื่อตรวจมะเร็งรังไข่

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์เพื่อตรวจมะเร็งรังไข่เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำและวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม โดยทั่วไปมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

  • เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพส่วนตัวและครอบครัว โดยเฉพาะประวัติเกี่ยวกับโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัว ยาที่กำลังรับประทาน และประวัติการผ่าตัด
  • จดบันทึกอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้องน้อย ปัสสาวะบ่อย หรือประจำเดือนมาผิดปกติ
  • ระบุระยะเวลาและความถี่ของอาการ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับรอบเดือนครั้งสุดท้าย และลักษณะของประจำเดือน
  • หากต้องตรวจภายใน ควรหลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด หรือใช้ยาเหน็บช่องคลอดก่อนการตรวจ
  • ควรปัสสาวะก่อนการตรวจ เพื่อให้แพทย์สามารถคลำตรวจอุ้งเชิงกรานได้สะดวก
  • หากเป็นการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด อาจต้องงดอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิดก่อนการตรวจ
  • หากเป็นการตรวจอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง อาจต้องดื่มน้ำและกลั้นปัสสาวะ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะเต็ม ทำให้มองเห็นรังไข่ได้ชัดเจนขึ้น

> กลับสารบัญ


วิธีป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของผู้หญิง การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าจะไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งรังไข่ได้ 100% แต่การปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้

  • ยาคุมกำเนิด ช่วยลดจำนวนรอบการตกไข่ ซึ่งลดโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงผิดปกติของเซลล์รังไข่ โดยการรับประทานยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมน (Oral Contraceptives) จะลดความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ได้ถึง 30-50% หากใช้ติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปี
  • หลีกเลี่ยงฮอร์โมนเสริมหลังวัยหมดประจำเดือน การใช้ ฮอร์โมนทดแทน โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนเดี่ยว อาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ หากจำเป็นต้องใช้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ในระยะเวลาสั้นที่สุด
  • ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้หญิงทั่วไป แต่ควรรับการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดดูความผิดปกติของรังไข่อย่างสม่ำเสมอ
  • การปรึกษาแพทย์ หากมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ หรือมีอาการผิดปกติ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือปวดท้องน้อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการตรวจวินิจฉัย และผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งเต้านม ควรตรวจหายีน BRCA1 และ BRCA2

> กลับสารบัญ


มะเร็งรังไข่ รู้เร็ว รักษาได้

หากคุณมีอาการผิดปกติดังกล่าว หรือสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งสตรีอื่น ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำแนะนำและการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อนจะสายเกินไป โดยศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลนครธน โดยแพทย์เฉพาะทางพร้อมให้บริการการตรวจรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพราะหากตรวจพบได้เร็ว รักษาได้ทันท่วงที จะยิ่งเพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพในการรักษา ถึงแม้ว่ามะเร็งรังไข่เป็นโรคที่ตรวจพบได้ยาก แต่การตรวจสุขภาพเป็นประจำ ก็จะช่วยคัดกรองความผิดปกติของร่างกายตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นให้เราได้โดยไม่ต้องรอให้โรคเกิดการลุกลามและแสดงอาการ

> กลับสารบัญ


ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:

  1. - Website : https://www.nakornthon.com
  2. - Facebook : Nakornthon Hospital
  3. - Line : @nakornthon
  4. - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


พญ. จุฑาภรณ์ อุทัยแสน พญ. จุฑาภรณ์ อุทัยแสน

พญ.จุฑาภรณ์ อุทัยแสน
สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/มะเร็งวิทยานรีเวช
ศูนย์สุขภาพสตรี

นัดหมายแพทย์

ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย