แนวทางการรักษามะเร็งในปัจจุบัน อาจเป็นวิธีใดวิธีเดียวหรือหลายวิธีร่วมกัน

ศูนย์ : ศูนย์มะเร็ง

บทความโดย :

การรักษามะเร็ง

โรคมะเร็ง คือ สาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของคนไทย พบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะพบในอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ส่วนในวัยเด็กพบน้อยกว่าในผู้ใหญ่ประมาณ 10 เท่า มะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกอวัยวะของร่างกาย หรือแม้แต่อวัยวะเดียวกันก็มีสิทธิ์เกิดเป็นโรคมะเร็งต่างชนิดกันได้ ดังนั้นนอกจากการดูแลป้องกันแล้วการรักษาก็สำคัญเช่นกัน โดยแนวทางการรักษามะเร็งในปัจจุบันมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิด และความรุนแรงของโรค



ระยะของมะเร็ง

โดยทั่วไปมะเร็ง แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 : มะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลามไปยังอวัยะวะใกล้เคียง
  • ระยะที่ 2 : มะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะใกล้เคียง
  • ระยะที่ 3 : มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ อวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะที่เป็นมะเร็ง
  • ระยะที่ 4 : มะเร็งมีขนาดโตมาก และ/หรือลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ อวัยวะข้างเคียง จนทะลุ และ/ หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง

เป้าหมาย ของการรักษา ระยะที่ 1-3 คือการหายขาดจากโรคมะเร็ง ส่วนระยะที่ 4 จะรักษาเพื่อประคับประคองหรือควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามมากขึ้น

> กลับสารบัญ


แนวทางการรักษามะเร็ง

ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาไปมาก ทำให้มีแนวทางการรักษาโรคมะเร็งมากมาย ดังนี้

1. การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือ คีโม (Chemotherapy) เป็นยารักษามะเร็งที่ออกฤทธิ์ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็ว และต่อเนื่อง ทั้งที่ต้นตอและที่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลือง กระแสเลือดหรืออวัยวะอื่นของร่างกาย ซึ่งยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งในหลายรูปแบบ ทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปได้และตายในที่สุด สามารถให้ยาเคมีบำบัด หรือ คีโม เข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยได้หลายวิธี ได้แก่ ชนิดรับประทาน โดยจะช่วยให้การบริหารยาสะดวกมากขึ้น และลดการเข้าพักในโรงพยาบาลเพื่อให้ยาเคมีบำบัด และชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด โดยการหยดร่วมกับสารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ

2. การรักษาด้วยการฉายรังสีรักษา หรือ การฉายแสง (Radiotherapy) เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงฉายไปทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้นๆ ซึ่งในแต่ละครั้งที่ฉายแสงนั้น เซลล์มะเร็งจะสะสมความผิดปกติของยีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ไม่สามารถซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากรังสีได้และเซลล์นั้นก็จะตายลง การฉายรังสีรักษาแบ่งได้ 2 แบบคือ การฉายรังสีรักษาระยะไกลจากภายนอก (External beam radiotherapy) เป็นการรักษาจากภายนอกไปยังอวัยวะของร่างกายที่เป็นมะเร็ง และ การฉายรังสีรักษาระยะใกล้ (Brachytherapy) เป็นการฝังแร่กัมมันตรังสีเข้าไปในก้อนมะเร็งโดยตรงหรือใกล้ๆ กับก้อนมะเร็ง แล้วแร่หรือยานี้จะปล่อยกัมมันตรังสีไปทำลายเซลล์มะเร็งที่อวัยวะเป้าหมาย

3. การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ซึ่งยับยั้งการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องต่อการเจริญเติบโต และการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง สามารถควบคุมมะเร็งได้ยาวนานกว่า และมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่าการใช้ยาเคมีบำบัด หรือ คีโม (Chemotherapy) โดยยามุ่งเป้าสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

  • Small- molecule drugs เป็นยาที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเป็นพิเศษ สามารถแทรกผ่านเยื้อหุ้มเซลล์มะเร็ง และทำลายเซลล์มะเร็งจะภายในได้
  • Monoclonal antibodies เป็นโปรตีนสังเคราะห์ที่จะพุ่งเข้าไปจับกับเซลล์มะเร็งและทำให้เซลล์มะเร็งถูกทำลายหรือเติบโตต่อไปไม่ได้

4. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) จะทำงานโดยการเข้าไปยับยั้งกระบวนการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของเซลล์มะเร็ง และกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือว่าเป็นการใช้ภูมิคุ้มกันร่างกายของเราเองเข้าไปต่อสู้กับเซลล์มะเร็งโดยตรง ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยที่รับรองการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดใน มะเร็งหลายๆ ชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งตับและทางท่อน้ำดี มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งโพรงมดลูก และมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา เป็นต้น

5. การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Hematopoietic stem cell transplantation) หรือ การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone marrow transplantation) เป็นการรักษามะเร็งโดยการนำเอาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากแหล่งกำเนิด คือ ไขกระดูก เลือด และเลือดจากสายสะดือและของรก ทั้งของผู้บริจาค หรือของตนเองมาใช้ในการรักษามะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน และเรื้อรัง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น เพื่อจะแทนที่เซลล์ที่ไม่แข็งแรงหรือเซลล์ที่ผิดปกติในไขกระดูก ด้วยเซลล์ต้นกำเนิดที่แข็งแรงและปกติ

6. การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgery) เป็นวิธีการรักษามะเร็งที่อยู่เฉพาะที่ ยังไม่มีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงอื่นหรือไม่อยู่ระยะแพร่กระจาย ซึ่งจะสามารถควบคุมโรคได้ นอกจากนี้เทคนิคการผ่าตัดยังมีความก้าวหน้ามาก สามารถผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออกโดยไม่ทำให้อวัยวะเสียรูปทรง และหลีกเลี่ยงการสูญเสียอวัยวะนั้นไปได้ เช่น การผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบสงวนเต้า และยังมีการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ส่งผลกระทบน้อย เช่น การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นต้น

7. การรักษามะเร็งเฉพาะจุด เป็น การรักษาโดยใช้อุปกรณ์จี้ทำลายก้อนมะเร็งด้วยความร้อนหรือคลื่นความถี่สูง (Radiofrequency Ablation: RFA) ไปทำลายเนื้อเยื่อที่เป็นเป้าหมายสำคัญผ่านทางเข็ม วิธีการรักษานี้ไม่ซับซ้อนและมีผลข้างเคียงน้อย รวมไปถึง การใช้ยาเคมีบำบัดผ่านทางการอุดหลอดเลือดที่เลี้ยงก้อนมะเร็ง (Transarterial Chemo Embolization: TACE) ผ่านทางหลอดเลือดแดง มีผลทำให้ก้อนมะเร็งขาดเลือดไปเลี้ยง จนทำให้เซลล์มะเร็งตายในที่สุด โดย 2 วิธีนี้มักจะใช้ในการรักษามะเร็งตับ

> กลับสารบัญ


อย่างไรก็ตามการรักษามะเร็งนั้นอาจเป็นวิธีใดวิธีเดียวหรือหลายวิธีร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง เป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใด สามารถผ่าตัดได้หรือไม่ และหลังผ่าตัดยังคงหลงเหลือก้อนมะเร็งหรือไม่ ผลพยาธิวิทยาชิ้นเนื้อหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร รวมไปถึงอายุและสุขภาพผู้ป่วยร่วมด้วย ซึ่งโรคมะเร็งสามารถรักษาได้ง่าย หากรู้ตัวเร็ว และรักษากันตั้งแต่ต้น



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย