การรักษาผู้ป่วยมะเร็งนั้นมีอีกสิ่งที่สำคัญ คือ อาหาร ผู้ป่วยควรได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและหลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่ปรุงสุก การได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยแข็งแรง เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและสามารถตอบสนองต่อการรักษาได้ดีขึ้น รวมทั้งจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้นหลังจากได้รับการรักษา ลดภาวะแทรกซ้อน
สารบัญ
อาหารประเภทใดบ้างที่ผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับอย่างเหมาะสม
-
อาหารประเภทโปรตีน
ผู้ป่วยมะเร็งต้องการอาหารประเภทโปรตีน ได้แก่ เนื้อปลา อาหารทะเล เนื้อไก่ เนื้อหมู ไข่ นม เต้าหู้ อาหารประเภทถั่วต่างๆ และเห็ด เป็นต้น อาหารโปรตีนเหล่านี้ จะช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อและซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ และยังช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อได้ดี
-
อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
ได้แก่ อาหารประเภทแป้งต่างๆ ข้าว ขนมปังต่างๆ ของหวาน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลัง ไม่อ่อนเพลียมาก และช่วยรักษาระดับน้ำหนักไม่ให้ลดลงมากได้
-
อาหารประเภทวิตามิน
วิตามินจะมีอยู่ในผักและผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็ง ได้แก่
- วิตามินซี พบมากในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวต่างๆ เช่น ส้ม, มะนาว ฝรั่ง แอปเปิ้ล มะขามป้อม สมอไทย เป็นต้น
- สารเบต้าแคโรทีน พบได้มากในผักพื้นบ้านต่างๆ ผลไม้ที่มีสีเหลือง สีส้ม เช่น ฟักทอง มะเขือเทศ แครอท ตำลึง มะละกอสุก มะม่วงสุก กล้วยไข่ เป็นต้น
- วิตามินอี พบมากในอาหารประเภทถั่วต่างๆ และธัญพืช เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน งาดำ ข้าวกล้อง เป็นต้น
- เส้นใยอาหารและสารอาหารที่มีอยู่ในผักผลไม้ จะช่วยยับยั้งการทำลายเนื้อเยื่อ จากอนุมูลอิสระในกระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกาย ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปกติไปเป็นมะเร็ง และช่วยให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายทำงานดีขึ้นอีกด้วย
กินอย่างไรเมื่อเกิดอาการข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง
ผู้ป่วยมะเร็งในช่วงระยะการรักษา ควรเลือกรับประทานอาหารตามอาการ ดังคำแนะนำต่อไปนี้
- หากมีน้ำหนักลดลงมาก
ให้เพิ่มการรับประทานอาหารระหว่างมื้อ จากอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ อาจจะเป็นอาหารช่วงบ่ายและช่วงก่อนนอน เช่น โจ๊ก ขนมปังทาเนย หรือ แยมคุกกี้ ขนมปังกรอบต่างๆ ไอศกรีม น้ำเต้าหู้ เป็นต้น รวมทั้งอาหารเพิ่มพลังงานอื่นๆ ที่ชอบและควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- หากมีอาหารรู้สึกเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
ให้รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ โดยรับประทานอาหารในช่วงเวลาที่รู้สึกเบื่ออาหารน้อยที่สุด เช่น มื้อเช้า หรือมื้อก่อนการให้ยาเคมีบำบัด เลือกรับประทานอาหารที่ชอบ และรับประทานช้าๆ หลีกเลี่ยงจากอาหารที่มีกลิ่นฉุนต่างๆ เช่น กลิ่นกระเทียม หัวหอม กลิ่นเครื่องเทศต่างๆ เป็นต้น ให้ดื่มน้ำขิง น้ำมะนา, น้ำผลไม้เย็นๆ กินไอศกรีม หรือเครื่องดื่มที่เย็นๆ ซึ่งจะช่วยไม่ให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนมาก หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ร้อนเพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนมากขึ้น
- มีแผลบริเวรปากหรือมีอาการเจ็บคอ
ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่แห้งและแข็ง อาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ด เปรี้ยว เค็ม หรืออาหารที่ร้อนหรือเย็นมากเกินไป รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม หรือ นม น้ำเต้าหู้ เติมแกงจืดในข้าวเพื่อให้รับประทานได้ง่ายขึ้น เป็นต้น หลังจากรับประทานอาหารเสร็จให้บ้ +วนปากทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อภายในปาก
- มีอาการท้องเสีย
ให้หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่อาจจะทำให้ท้องเสีย ได้แก่ นม ผลไม้ อาหารมัน อาหารรสเผ็ด อาหารหมักดอง เป็นต้น นอกจากนี้ หากดื่มนมแล้วท้องเสีย สามารถเปลี่ยนมาดื่มน้ำเต้าหู้ หรือนมถั่วเหลืองแทนได้ หากท้องเสียมากโดยถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้ง/วัน ให้ดื่มน้ำหรือเกลือแร่ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสีย รวมทั้งให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก เป็นต้น หากอาการท้องเสียยังไม่หายหรือมีอาการมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรรับประทานยาแก้ท้องเสียเอง
การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ รวมทั้งการปรับการรับประทานอาหารตามอาการที่เกิดขึ้นในช่วงของการรับการรักษา จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นได้ สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้โดยส่งข้อมูลข่างล่างได้เลย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์มะเร็ง