ผิวหนังเป็นอวัยวะผืนบางๆ ที่ห่อหุ้มปกป้องร่างกายไว้ เมื่อไรที่มีการตัด การฉีกขาดเข้าไปในชั้นผิวหนัง หรือไหม้จากความร้อน สารเคมี ก็ทำให้เกิดแผลเป็นได้ ลักษณะของแผลเป็นอาจจะหนา ชมพู แดง จาง หรือคล้ำกว่าผิวปกติ มันเงา ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีแผล ความลึก ความกว้าง การดูแลแผล อายุ พันธุกรรม และลักษณะผิวพรรณของแต่ละบุคคล
แผลเป็นมีลักษณะแตกต่างกัน ตามประเภท
- คีลอยด์ Keloid มีลักษณะเฉพาะคือ แผลเป็นจะโตนูน และล้ำออกนอกขอบแผลที่เคยเป็น เกิดจากการสร้างและเรียงตัวของคอลลาเจนมากเกินปกติ
- แผลเป็นนูน Hypertrophic scars มีลักษณะนูน แดง คล้ายคีลอยด์ แต่ไม่ออกนอกรอยแผลเดิม
- แผลเป็นหดรั้ง Contracture Scar เกิดตามหลังไฟไหม้ ลวก มีลักษณะบีบรัด รั้ง อาจทำให้ข้อต่อบริเวณที่เป็น ขยับไม่ได้ และลงลึกได้ถึงกล้ามเนื้อ ปลายประสาท
- Acne Scar มีได้หลายลักษณะ ตั้งแต่เป็นหลุมแคบลึก เว้าโค้งยุบตัว ปัจจุบันมีเลเซอร์ช่วยทำให้ดีขึ้นได้
ทางที่ดีที่สุดคือ รักษาป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็น แต่ถ้าเป็นแล้วมีวิธีไหนรักษาแผลเป็นได้บ้าง แผลเป็นของบางคน อาจจางลงได้เอง เห็นชัดน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป
แต่ก็มีอีกหลายวิธีที่ช่วยบรรเทารักษาได้ คือ
- ทายา ยาบางชนิดจะมีส่วนประกอบเป็นสารที่ช่วยลดการอักเสบ และลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน ผลก็คือ แผลเป็นที่เป็นรอยแดง รอยคล้ำดำ ค่อยๆ จางลง บางชนิดจะเป็นซิลิโคน มีทั้งรูปแบบแผ่นเจลแปะ หรือเป็นเนื้อเจลเหลว ทาเพื่อกดทับบริเวณแผล ที่นูนอยู่จะแบนลง และไม่นูนมากขึ้น แต่ต้องมีวินัยใช้สม่ำเสมอ
- การผ่าตัด ในกรณีแผลเป็นจากการไหม้ หรือลวกเป็นบริเวณกว้าง และส่งผลให้ขยับข้อ แขน ขา บริเวณนั้นไม่ได้ ศัลยแพทย์ตกแต่งจะช่วยรักษาได้ อาจจะต้องปลูกถ่ายผิวหนังมาจากบริเวณอื่น
- การทำเลเซอร์ วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาแบบใหม่ ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการทายามาก เหมาะกับแผลเป็นที่เกิดในบริเวณเด่นชัด ซึ่งการทำเลเซอร์ มีได้สองแบบ คือ
- Pulsed Dye Laser ยิงไปบนแผลเป็นที่มีรอยแดงอยู่ เช่นแผลสิว แดงๆ หรือแผลที่นูนแบบ keloid ก็ได้ หลังยิงจะไม่มีแผล เลเซอร์จะลงไปที่หลอดเลือดฝอยบริเวณแผลและทำให้แผลแดงน้อยลง แบนลง รอยจางลง ก็ต้องยิงหลายครั้ง ยิ่งมากครั้ง ก็ยิ่งดีขึ้น
- Fractional Laser ปัจจุบันมีเครื่องหลายยี่ห้อให้เลือก วิธีนี้จะเจ็บตอนทำ ต้องทาครีมยาชาก่อนทำหลักการคือเลเซอร์จะส่งพลังงานลึกลงไปในผิว เป็นหย่อมเล็กมากๆ เป็นการกระตุ้นเนื้อเยื่อรอบๆ ให้จัดเรียงตัวใหม่ (collagen remodeling) ผลก็คือแผลเป็นที่เป็นหลุมบ่อ หลุมสิว เรียบเนียนขึ้น ผิวหน้าส่วนอื่นก็จะมีคอลลาเจนเพิ่มขึ้นด้วย กรณีที่ทำบนแผลเป็นนูน เช่น คีลอยด์ หรือแผลผ่าตัดที่นูนใหญ่ ก็จะแบนลง เนื้อแผลจะอ่อนนุ่มใกล้เคียงเนื้อปกติมากขึ้น ก็ต้องทำหลายครั้งเช่นกัน อย่างไรก็ตามทำครั้งเดียวก็เริ่มเห็นผลแล้ว แต่ถ้าทำต่อเนื่องกัน 4-5 ครั้ง ก็จะทำให้เห็นผลดียิ่งขึ้นไปอีก
- การฉีด เป็นวิธีที่ไม่แพง แต่เจ็บหน่อย วิธีนี้เป็นการฉีดยากลุ่มเสตียรอยด์เข้าไปในเนื้อแผลเป็นนูน จะทำให้นิ่มและบางลงได้ แต่อย่าฉีดเสตียรอยด์ในแผลหลุม แผลสิว เพราะอาการจะยิ่งแย่ ส่วนการฉีดอย่างอื่น เช่น การฉีดฟิลเลอร์เข้าไปในแผลเป็นที่เป็นหลุม สารที่ใช้ได้คือ ไฮยารูลอนิก แอซิด เป็นสารโมเลกุลคล้ายน้ำตาล ซึ่งพบได้ธรรมชาติตามผิวหนังของมนุษย์เรา ทางการแพทย์เราก็สกัด สังเคราะห์มาได้ นำมาใช้ฉีดใต้ผิวหนังได้ ซึ่งจะมีฤทธิ์อยู่ชั่วคราว เพราะจะสลายไปได้เมื่อเวลาผ่านไป แต่ก็คุ้มค่าในกรณีฉีดที่ใบหน้า
เพราะฉะนั้นอย่ายอมให้ฉีดสารที่เราไม่รู้ว่าเป็นอะไรเข้าไปเด็ดขาด เพราะบางครั้ง ในที่ๆ มิใช่สถานพยาบาลมาตรฐาน มีการนำเจลซิลิโคนเหลวมาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ซึ่งห้ามฉีด จะเกิดผลเสีย เป็นก้อนโต ติดเชื้อ หรือไหลไม่เข้าที่ได้
คำถามที่ควรถามก่อนตัดสินใจรักษารอยแผลเป็น
- มีแพทย์ประจำหรือไม่
- แพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง หรือได้รับการฝึกอบรมจนชำนาญมีประสบการณ์หรือไม่
- มีการบันทึกประวัติการแพ้ยา การผ่าตัด โรคประจำตัวแล้วหรือไม่
- ได้ทราบถึงวิธีการรักษาต่างๆ และเลือกวิธีที่เหมาะกับเรา หรือไม่
บทความทางการแพทย์ศูนย์ผิวหนังและความงาม