โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง มหัตภัยเงียบเสี่ยงถึงชีวิต

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

หลอดเลือดโป่งพอง

หลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta) เป็นหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่หลักในการส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ สมอง ประสาทไขสันหลัง แขน ขา และอวัยวะในช่องท้อง เช่น ตับ ไต ลำไส้ ดังนั้น หากหลอดเลือดแดงใหญ่มีความผิดปกติเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนต่างๆ ได้ หรือหากโป่งพองปริแตกก็จะทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งความน่ากลัวของโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง จะเป็นเหมือนระเบิดเวลา สามารถแตกออกได้ทุกเมื่อ ที่สำคัญคือเป็นได้ไม่รู้ตัว และไม่แสดงอาการ การหมั่นพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงแต่เนิ่นๆ ถือเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ก็อาจทำให้หลอดเลือดแดงแตก และเสียชีวิตได้อย่างกะทันหัน


โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นอย่างไร

โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (Aortic Aneurysm) เป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงใหญ่บางส่วนมีการขยายตัวใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดบางลง ซึ่งอาจทำให้เส้นเลือดปริแตกและรั่วซึมเกิดเป็นเลือดคั่งในช่องอกหรือช่องท้องอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ โดยมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดที่เป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด มีการอักเสบติดเชื้อ หรือมีการเสื่อมของผนังหลอดเลือดจากภาวะหลอดเลือดแข็ง ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง และเกิดการโป่งพอง โดยโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  1. โรคหลอดเลือดแดงโป่งพองในช่องท้อง เป็นตำแหน่งที่พบได้บ่อย เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่เลือดวิ่งจากหัวใจลงมาเป็นเส้นตรง จนมาถึงทางแยกของหลอดเลือดบริเวณช่องท้อง ซึ่งเป็นจุดไหลเวียนของเลือดทำให้มีการกระทบกันในบริเวณนี้ ทำให้เป็นจุดที่มีโอกาสโป่งพองของหลอดเลือดได้บ่อย
  2. โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอก เป็นตำแหน่งที่พบได้น้อยกว่าช่องท้อง ในผู้ที่มีประวัติทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดแข็งตัว การติดเชื้อของหัวใจ และลิ้นหัวใจ ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะส่งผลให้ผนังหลอดเลือดเกิดการกดทับ และโป่งพองออกมาได้

> กลับสารบัญ


อาการหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง

การมีหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองนั้นไม่ได้ทำให้เกิดอาการแต่อย่างใด ส่วนใหญ่มักเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าหลอดเลือดมีการปริแตกแล้ว คือ อาการแน่น หรืออาการปวดแบบรุนแรงฉับพลัน ซึ่งอาการแสดงนั้นมีความแตกต่างกันขึ้นกับตำแหน่งที่มีหลอดเลือดโป่งพอง เช่น ปวดมาก ปวดหัวรุนแรง หรือปวดขึ้นฉับพลันที่ท้อง ทรวงอก และ/หรือหลัง มีอาการเหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน หรือหมดสติ ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องการการตรวจรักษาอย่างทันที

เนื่องจากโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองจะไม่แสดงอาการ แต่เราสามารถหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ หากมีสัญญาณเตือนเหล่านี้ ควรต้องพบแพทย์เฉพาะทางทันที

  • แน่นหน้าอก หน้ามืด ปวดหลัง ไอเป็นเลือด หมดสติ
  • ปวดท้อง ปวดหลัง คลำพบก้อนที่เคลื่อนไหวได้ในช่องท้อง
  • หายใจลำบาก
  • มีการกลืนลำบาก เสียงแหบ

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ใครบ้างเสี่ยงเป็นหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดเส้นเลือดแดงโป่งพอง ได้แก่

  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัด
  • ผู้ที่มีภาวะถุงลมโป่งพอง
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวที่มีเส้นเลือดโป่งพอง
  • ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หรือเป็นโรคหัวใจ
  • ผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น กลุ่มอาการ Marfan มีลักษณะรูปร่างสูงผอม แขนขายาว เพดานปากสูง สายตาผิดปกติ โดยจะทำให้เนื้อเยื่ออ่อนแอ

> กลับสารบัญ


การตรวจวินิจฉัยและรักษา

แพทย์จะวินิจฉัยจากการสอบถามประวัติอาการ ตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจค้นเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอก, การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ และการถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)

ในด้านของแนวทางการรักษา เมื่อพบว่ามีหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และพิจารณาแล้วอาการยังอยู่ในระยะที่ไม่เป็นอันตรายหรือมีความเสี่ยงที่จะปริแตกน้อย ก็ไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่ควรตรวจอาการเป็นระยะเพื่อความปลอดภัย โดยใช้วิธีการควบคุมพฤติกรรม ได้แก่ การงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายแรงๆ และควบคุมความดันโลหิต เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสริมให้หลอดเลือดแดงใหญ่มีโอกาสปริแตกเพิ่มมากขึ้น

ในกรณีหลอดเลือดแดงใหญ่มีอาการที่เสี่ยงต่อการปริแตกหรือหลอดเลือดโตเร็วผิดปกติอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด เพราะหากเกิดการแตกขึ้นอาจมีโอกาสเสียชีวิตได้ โดยวิธีการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และลักษณะของหลอดเลือดที่โป่งพอง รวมทั้งสภาพร่างกายผู้ป่วยได้แก่

  1. การผ่าตัดแบบเปิดผ่านทางช่องอกหรือช่องท้อง (Open Surgery) เป็นการรักษาแบบมาตรฐาน เพื่อใส่หลอดเลือดเทียมทดแทน
  2. การผ่าตัดด้วยวิธีการใส่หลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวด (Stent Graft) ผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาแบบแผลเล็ก เพื่อให้เลือดวิ่งผ่านหลอดเลือดนี้แทน และไม่ซึมออกไปบริเวณที่โป่งพองอีก

> กลับสารบัญ



การดูแลป้องกันตนเองจากหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ทำได้โดยตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และหากมีอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือมีปัจจัยเสี่ยงควรตรวจร่างกายโดยการเอกซเรย์ปอด อัลตราซาวด์ช่องท้อง ตรวจการทำงานของตับ ไต และหัวใจร่วมด้วย



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย